ที่ปรึกษาองค์กร เตือน อีลอน มัสก์ อย่าโหมงานหนัก จนล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวบรรดาพนักงานมากเกินไป เพราะมีแต่จะส่งผลเสียต่อบริษัทในระยะยาว หลังมีรายงานจาก Wall Street Journal ว่า ซีอีโอ Tesla ส่งอีเมลประกาศข่าวถึงพนักงานขององค์กร ในช่วงกลางดึกของคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา
มัสก์ ซึ่งมักลงทุนนอนที่บริษัท เพื่อควบคุมการผลิตรถยนต์ Model 3 ด้วยตัวเอง ส่งอีเมลประกาศการลดจำนวนพนักงานฟูลไทม์ลง 7% ในเวลาประมาณ 01.20 น. ของกลางดึกคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น ที่แคลิฟอร์เนีย)
ในอีเมลดังกล่าว นอกจากจะเป็นการชี้แจงเหตุผลเรื่องการลดจำนวนพนักงาน เพื่อให้บริษัทสามารถแข่งขันกับบริษัทที่ใหญ่กว่าได้แล้ว ยังมีประเด็นสำคัญ คือการทำงานหนักของพนักงาน โดยซีอีโอชาวแอฟริกาใต้ ระบุว่า พนักงานของ Tesla ไม่เพียงต้องทำงานหนักกว่าผู้ผลิตรายอื่น เพื่อให้บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด ยังต้องทำเพื่อความอยู่รอดด้วย
“การพยายามสร้างผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาด ที่มีราคาไม่แพง ต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก เราต้องให้ความสำคัญกับภารกิจนี้ เพื่ออนาคตของบริษัท และาการจะไปถึงจุดนั้น ทุกคนต้องพยายามอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้”
จากกรณนี้ จัสติน บาริโซ่ ที่ปรึกษาของหลายองค์กร และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ ‘EQ Applied’ ให้ความเห็นว่าความมุ่งมั่นจนเกินขอบเขตของ มัสก์ อาจเป็นการบีบคั้นพนักงานจนเกินไป และส่งผลเสียต่อบริษัทแทนก็ได้
“โดยทั่วไป ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เป็นคุณสมบัติเชิงบวกที่ช่วยให้คุณจัดการความขัดแย้ง หรือสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งได้” บาริโซ่ กล่าว “แต่ใน EQ Applied ผมเขียนถึงคนที่ใช้คุณสมบัตินี้ปลุกเร้าคนอื่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์”
“เมื่อถึงเป้าหมายนั้น หรือเมื่อคนเหล่านั้นไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ก็จะถูกทอดทิ้ง โดยแทบไม่คำนึงถึง หรือใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอีกเลย”
บาริโซ่ เสริมว่า การทำงานหนักของ มัสก์ เป็นเรื่องปกติ แต่การบังคับให้ทุกคนต้องเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อบริษัทแบบเดียวกันนั้น “ไม่ยั่งยืน และกำลังทำร้ายพนักงาน เพราะองค์กรที่ดีที่สุด จะหนุนให้พนักงานพักผ่อนให้เพียงพอ โดยไม่ส่งอีเมลถึงตอนกลางดึกแบบนี้”
AHEAD TAKEAWAY
มัสก์ นั้นขึ้นชื่อเรื่องการทำงานหนักมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว (อ่านเพิ่มเติม ใน เกาะติดชีวิตในหนึ่งวันของ อีลอน มัสก์)
เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าในแต่ละสัปดาห์ ต้องทำงานหนักไม่ต่ำกว่า 85-100 ชั่วโมง จากทั้งหมด 168 ชั่วโมง ในฐานะซีอีโอของบริษัท อย่าง Tesla, SpaceX, Neuralink และ The Boring Company รวมถึงองค์กรไม่แสวงผลกำไรอย่าง Open AI (ปัจจุบัน มัสก์ ถอนตัวไปแล้ว เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ Tesla)
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Quartz ระบุว่า ในหนึ่งวัน เขาใช้เวลาเฉลี่ย 12.1 ชั่วโมงในการทำงาน ที่เหลือแบ่งเป็นการนอนหลับ 6 ชั่วโมง และอื่นๆ 5.9 ชั่วโมง
เทียบกับชาวอเมริกันทั่วไป ที่ทำงานเฉลี่ย 6.3 ชั่วโมง นอน 7.8 ชั่วโมง และอื่นๆ 9.9 ชั่วโมง
มัสก์ เคยกล่าวกับเว็บไซต์หางาน Glassdoor ว่าเขาพยายามทำตัวให้เป็นตัวอย่างแก่พนักงานคนอื่นๆ ด้วยการทำงานหนัก
ทำให้คนอื่นในองค์กรก็ต้องทุ่มเทในระดับใกล้เคียงกันไปด้วย จากความเชื่อที่ว่าธุรกิจของบริษัทนั้น “จะพลิกโฉมโลกใบนี้”
แต่ นสพ. The Guardian ของอังกฤษรายงานว่านับจากปี 2014 เป็นต้นมา โรงพยาบาลต้องส่งรถไปรับพนักงานที่ล้มป่วยระหว่างการทำงานที่โรงงานของ Tesla เกินกว่า 100 ครั้ง ด้วยสาเหตุต่างๆ อาทิ หมดสติ วิงเวียนศีรษะ หายใจติดขัด หรือเจ็บหน้าอก รวมถึงบาดเจ็บระหว่างการทำงาน
เช่นเดียวกับการแฉถึงคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของพนักงานที่โรงงาน (พนักงานของ Tesla ทำงาน 12 ชั่วโมงต่อหนึ่งกะ เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์) โดยพนักงานของบริษัทหลายๆราย ทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบัน ซึ่งมีความเห็นคล้ายๆกันว่า มัสก์ และผู้บริหารของบริษัทตั้งเป้าในการผลิตในแต่ละไตรมาสไว้สูงเกินจริง
เหตุผลหลักๆ นอกจากความพยายามที่จะผลักดันให้ EV เป็นมาตรฐานใหม่ของยานพาหนะในโลกแล้ว ก็ยังน่าจะมาจากฐานะการเงินของบริษัทที่ติดลบต่อเนื่องมาตลอดหลายปีด้วย
แต่ บาริโซ่ ผู้เขียนหนังสือ EQ Applied ก็ยังมองว่า มัสก์ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำงาน หรือหาทางออกให้กับเรื่องนี้ให้ได้ ก่อนที่มันจะย้อนกลับมาส่งผลเสียกับบริษัทในภายหลัง
“องค์กรที่ดีที่สุด สนับสนุนให้พนักงานของพวกเขาหยุดงานโดยจัดให้มีนโยบายวันหยุดพักผ่อนที่เพียงพอ และสนับสนุนให้ผู้นำบริษัทกำหนดตัวอย่างที่ถูกต้อง โดยไม่ทำงานในวันหยุดพักผ่อนของตนเอง”
“องค์กรที่ดีที่สุด จะตระหนักดีว่าความสำเร็จระยะยาวนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีคนที่เร็วที่สุด หรือทำงานในวันที่ยาวนานที่สุด แต่เป็นคนที่มั่นคงและเชื่อถือได้”
“ไม่ช้าก็เร็ว มัสค์ จะต้องเผชิญกับความจริงข้อนี้”
Reader’s Thought
ทรรศนะของผู้อ่านสำหรับประเด็นนี้ ก็มีที่ต่างกันไป เพราะจริงอยู่ มัสก์ อาจรับเงินเดือนจาก Tesla แค่ปีละ 1 ดอลลาร์ แต่หากบริษัทประสบความสำเร็จ ก็จะมีเงินโบนัสก้อนใหญ่ เช่นเดียวกับเรื่องชื่อเสียงและการเป็นที่ยอมรับชองสังคม ขณะที่พนักงานในโรงงานนั้น มีเพียงเงินเดือนเท่านั้น
แต่หลายๆท่านก็มีมุมมองต่างออกไปเช่นกัน เพราะพนักงานที่ทำงานหนัก ก็ย่อมได้รับ OT ตอบแทนเช่นกัน และหลายๆคนก็ร่ำรวยได้จาก “ส่วนต่าง” ตรงนี้นี่เอง
ทีมงาน AHEAD ASIA มีโอกาสได้อ่านทรรศนะของศาสตราจารย์ชาวจีนท่านหนึ่ง ซึ่งเปรียบเทียบทัศนคติการทำงานของชาวจีนกับชาวอเมริกันในปัจจุบัน ว่าชาวจีนนั้นพร้อมจะทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ (12 ชั่วโมงต่อวัน 6 วันต่อสัปดาห์แบบ Tesla เป็นเรื่องปกติ) และพยายามที่จะผลักดันตัวเองให้สูงขึ้นตลอดเวลา ขณะที่ชนชั้นกลางชาวอเมริกัน จะใส่ใจในเรื่องเสรีภาพหรือสิทธิส่วนบุคคลมากกว่า ซึ่งคงไม่มีฝ่ายใดผิดหรือถูก ขึ้นกับสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ถูกหล่อหลอมมา และการตัดสินใจเลือกของคนๆนั้นเท่านั้น
เรียบเรียงจาก
Elon Musk Sent an Email to Employees at 1:20 in the Morning, and It Just May Signal the End of Tesla
Tesla factory workers reveal pain, injury and stress: ‘Everything feels like the future but us’
Elon Musk: Whatever pain Tesla factory workers felt, ‘I wanted mine to be worse’
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า