จอร์จ โซรอส นักธุรกิจดังชาวอเมริกัน เจ้าของฉายา “พ่อมดการเงิน” จวกยับ นโยบาย social credit system ของรัฐบาลจีน กลางงาน World Economic Forum ว่าเป็นภัยคุกคามสังคมโลก พร้อมเตือนทุกฝ่ายต้องเฝ้าระวังการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาลจีนอย่างใกล้ชิด
โซรอส วัย 88 ปี เลือกกล่าวถึงการบริหารประเทศของ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ภายใต้นโยบาย “social credit system”ระหว่างขึ้นกล่าวปาฐกถาในงาน World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อหน้าผู้ฟังราว 200 คน โดยชี้ว่าในอนาคต แนวคิดดังกล่าว อาจเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติได้ เมื่อระบอบเผด็จการของจีน แซงหน้าสหรัฐอเมริกา และผู้นำระดับโลกประเทศอื่นๆ ในเรื่องการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์
“ระบบ social credit system ยังไม่ถูกใช้งานเต็มรูปแบบในตอนนี้ แต่ก็ชัดเจนว่ามันกำลังดำเนินไปในทิศทางใด” โซรอสกล่าว “มันจะทำให้คุณค่าของแต่ละบุคคลถูกลดทอนลงไป เพื่อผลประโยชน์ของรัฐฝ่ายเดียว ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์”
“น่าเศร้าที่ชาวจีนบางคนกลับมองว่ามันน่าสนใจ เพราะการที่มันสามารถให้ข้อมูลและบริการที่ไม่อาจหาได้ในปัจจุบัน และยังสามารถปกป้องพลเมืองที่ปฏิบัติตามกฎหมายต่อต้านศัตรูของรัฐได้”
พร้อมกันนี้ “พ่อมดการเงิน” ซึ่งแสดงท่าทีคัดค้านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มาตลอด ยังยอมรับว่าเห็นด้วยกับรัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบัน ในการใช้กฎระเบียบเข้มงวดต่อบริษัทจีน เช่น Huawei และ ZTE เพื่อไม่ปล่อยให้บริษัทเหล่านี้กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลก
“มุมมองของผมคือ แทนที่จะขับเคี่ยวสงครามการค้ากับโลกทั้งใบ สหรัฐฯ ควรมุ่งเน้นไปที่จีนรายเดียว และแทนที่จะปล่อยให้ ZTE และ Huawei หลุดมือไป มันจำเป็นที่จะต้องปราบปรามพวกเขา”
AHEAD TAKEAWAY
ราวสองทศวรรษที่แล้ว ชื่อของ จอร์จ โซรอส นักธุรกิจชาวอเมริกัน เชื้อสายฮังการี น่าจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีของหลายคน
ในฐานะผู้โจมตีค่าเงินบาท และอีกหลายสกุลในเอเชีย จนนำไปสู่วิกฤตการเงินของเอเชีย 2540 หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”
และเหตุการณ์ “Black Wednesday” ในปี 2535 จนเกือบทำให้ธนาคารอังกฤษต้องล้มละลาย
ตัดกลับมา ณ ปัจจุบัน โซรอส เจ้าของกองทุนเก็งกำไร Quantum ยังติดอันดับ 22 ของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 6.2 แสนล้านบาท
แม้ที่ผ่านมา โซรอส ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีโดย Financial Times จะแสดงท่าทีตรงกันข้ามกับฝั่งขวาจัด และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มาตลอด
แต่เมื่อต้องเลือกข้าง เจ้าตัวกลับเลือกที่จะโจมตีระบบคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลจีนก่อนเป็นอันดับแรก นัยว่า ศัตรูของศัตรูคือมิตร นั่นเอง
อาจเป็นได้ว่า โซรอส นั้นมองเห็นว่าไม่ช้าก็เร็ว ทรัมป์ จะต้องอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตามกติกาของระบอบประชาธิปไตย ผิดกับ สี จิ้นผิง ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากในประเทศอย่างท่วมท้น
ถึงขนาดที่เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว สภาประชาชนแห่งชาติจีน ลงมติผ่านความเห็นชอบให้แก้ไขธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากที่จำกัดไว้สูงสุดเพียง 2 สมัย ให้เป็นการดำรงตำแหน่งอย่างไม่มีกำหนดได้ ซึ่งมติครั้งนี้จะเปิดทางให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สามารถครองเก้าอี้ผู้นำได้ตลอดชีพ แทนที่จะหมดวาระตามกำหนดเดิม ในปี 2566
นั่นจะยิ่งทำให้การเมืองในประเทศของจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น และสามารถมุ่งเน้นไปที่การจัดระเบียบประเทศ รวมถึงเร่งการเติบโตในด้านต่างๆให้เท่าทันโลกตะวันตกได้เร็วยิ่งขึ้น
ว่ากันแบบไม่อ้อมค้อม รูปแบบของ social credit system ก็มีความเผด็จการอยู่ในตัว ทั้งการลงโทษแก่ผู้ต่อต้านรัฐ เช่น ห้ามซื้อตั๋วเครื่องบินและรถไฟ การแบนห้ามลูกหลานเข้าเรียนในสถาบันชั้นนำ หรือหมดโอกาสทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ฯลฯ ส่วนคนที่ปฏิบัติตัวดี ก็จะได้รับรางวัลต่างๆเป็นการตอบแทน
ในอดีต เรื่องแบบนี้อาจทำได้ยาก แต่ด้วยพลังของเทคโนโลยีปัจจุบัน อาทิ ระบบตรวจจับใบหน้า การเจาะข้อมูลในแอพพลิเคชั่นรับส่งข้อความ ฯลฯ การควบคุมพฤติกรรมคนแบบเบ็ดเสร็จ ก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด
และเมื่อไหร่ที่จีนสามารถยกระดับมาทัดเทียมกับสหรัฐฯ ในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ ก็แทบจะเท่ากับว่าข้อได้เปรียบเก่าๆที่เคยมี ก็จะหมดไปด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งขั้วอำนาจในโลกอย่างชัดเจนอีกครั้ง เหมือนที่เจ้าตัวเล็งเห็นว่าโลกกำลังเริ่มเข้าสู่สงครามเย็นอย่างช้าๆนั่นเอง
Reader’s Thought
เป็นอีกประเด็นที่ผู้อ่านของเรา มีมุมมองที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการพัฒนาของจีนนั้น หลายคนมองว่าสุดท้ายเมื่อรัฐบาลครอบงำให้คนทั้งชาติคิดเห็นไปในทางเดียวกันหมด ก็เป็นเรื่องยากที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมาได้
เรียบเรียงจาก
George Soros Said The Biggest Threat To The World Is China’s Development Of AI
*ภาพต้นฉบับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นผลงานของ Jon Berkeley ในนิตยสาร The Economist เดือนพฤษภาคม 2013
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า