Huawei Technologies

สื่อจีนเผย สหรัฐฯ ใช้เวลากว่าสิบปีเก็บข้อมูล Huawei คดีละเมิดคว่ำบาตรอิหร่าน

เซาธ์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ เผย กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ใช้เวลานานนับสิบปี หรือย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เพื่อรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อเตรียมเอาผิด Huawei Technologies ค่ายโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ก่อนมีการสั่งฟ้องอย่างเป็นทางการ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ในหนังสือคำสั่งฟ้องที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อหากับบริษัทแม่ของ Huawei และ เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และลูกสาวผู้ก่อตั้งบริษัท ในความผิดรวมกัน 23 ข้อหา ทั้งขโมยข้อมูล, ฟอกเงิน, ฉ้อโกง ฯลฯ พบว่าทางการสหรัฐฯ เริ่มต้นการสอบสวนเรื่องนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2007

เริ่มจากการพบข้อมูลบางอย่างว่าทางบริษัทฯละเมิดการคว่ำบาตรทางการค้าต่ออิหร่าน และมีหลักฐานว่าตัวแทน FBI ในนิวยอร์ก เคยสอบปากคำผู้ก่อตั้งบริษัทถึงเรื่องนี้แต่ไม่ได้ระบุชื่อว่าเป็น เหริน เจิ้งเฟย หรือไม่ โดยใช้คำว่า “บุคคลที่ 1” เท่านั้น และได้คำตอบว่า Huawei ปฏิบัติตามกฎหมายการส่งออกของสหรัฐฯอย่างเคร่งครัด และไม่ได้ติดต่อกับตัวแทนของอิหร่านแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือฟ้องเมื่อวันจันทร์ ชี้ชัดว่าคำให้การดังกล่าวเป็นเท็จ

การสัมภาษณ์ครั้งนั้น เกิดขึ้นอย่างน้อย 5 ปี ก่อนจะมีรายงานจาก คณะกรรมการข่าวกรองของสหรัฐฯ ในปี 2012 ระบุว่า Huawei และ ZTE Corp เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ และอุปกรณ์ของทั้งสองบริษัทอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีน ในการสอดแนมและขโมยข้อมูล แต่ Huawei ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด

นอกเหนือจาก Huawei แล้ว จำเลยอื่นๆที่ปรากฎในหนังสือฟ้องจำนวน 25 หน้า ยังมีชื่อของบริษัทอื่นๆในเครือ อย่าง Huawei Device USA และ Skycom Tech Co และนางเมิ่ง ในฐานะซีเอฟโอของบริษัท ซึ่งถูกตั้งข้อหารวมกัน 13 กระทง และยังมีอีก 10 กระทง จากข้อหาขโมยความลับทางการค้าของ T-Mobile USA

ในหนังสือฟ้อง ยังระบุว่า มีความพยายามบิดเบือนความสัมพันธ์กับ Skycom ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง ว่าเป็นเพียงหุ้นส่วนธุรกิจในอิหร่าน ไม่ใช่บริษัทในเครือของ Huawei เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ระบุชัดเจน ว่าจะไม่มีการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีหรือบริการใดๆ ไปยังอิหร่าน จากสหรัฐฯ หรือจากบุคคลในสหรัฐฯ โดยไม่มีใบอนุญาต

ในกรณีนี้ ทางการสหรัฐฯ เชื่อว่า Skycom ได้ว่าจ้างพลเมืองชาวอเมริกันอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งระบุว่าเป็น “ลูกจ้าง 1” เพื่อให้บริการโทรคมนาคมแก่อิหร่านระหว่างปี 2008-2014 โดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ ในคำฟ้องยังระบุต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา Huawei ยังบิดเบือนข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์ของบริษัทกับ Skycom ต่อสถาบันการเงินและธนาคารต่างๆ ในสหรัฐฯ เป็นผลให้ธนาคารหนึ่งที่ระบุชื่อว่า “บริษัทย่อยของสหรัฐฯ 1” ตกลงทำธุรกรรมกับ Skycom เป็นเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,300 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2012 ก็มีรายงานจาก สำนักข่าวรอยเตอร์ส ว่า Skycom นั้นมีสถานะเป็นบริษัทในเครือ Huawei ซึ่งพยายามขายสินค้าจากสหรัฐฯ ไปยังอิหร่าน เท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรทางการค้าโดยตรง จนนำมาสู่การสอบสวนเพิ่มเติม และสั่งฟ้องบริษัทแม่ และนางเมิ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

AHEAD TAKEAWAY

นับแต่มีข่าว นางเมิ่ง หว่านโจว ถูกจับกุมตัวที่เมืองแวนคูเวอร์ ตามคำร้องของสหรัฐอเมริกา ฐานต้องสงสัยละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

ทางการสหรัฐฯก็ถูกวิจารณ์ไม่น้อย เพราะถูกมองว่ามีแรงจูงใจจากสงครามการค้าระหว่างสองประเทศเป็นหลัก เพราะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ Huawei พยายามผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของตน โดยเฉพาะ สมาร์ทโฟน เข้าไปตีตลาดสหรัฐฯ พอดี

ข้อมูลจากหนังสือคำฟ้องนี้ จึงน่าจะถือเป็นคำอธิบายจากฝั่งทางการสหรัฐฯ ว่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากอคติ หรือตั้งใจใช้ Huawei เป็นเครื่องมือ ในการทำสงครามทางการค้ากับจีน

แต่เป็นการทำผิดกฎหมายคว่ำบาตรโดยยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของจีน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน

ส่วนการจับกุมตัวนางเมิ่งนั้น ไม่ใช่เพราะเป็นลูกสาวของ เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง แต่เป็นเพราะนางเมิ่งเป็นกุญแจสำคัญสำหรับกรณีนี้

โดยหากอ้างอิงรายงานจาก รอยเตอร์ส แล้ว จะพบว่าสำนักข่าวจากอังกฤษ เคยตีพิมพ์เรื่องความเชื่อมโยงระหว่าง นางเมิ่ง กับ Skycom หลายครั้ง

รวมถึงการเข้าพบผู้บริหารจาก “สถาบันการเงิน 1” ซึ่งถูกบิดเบือนข้อมูลจาก Huawei จนตกลงทำธุรกรรมทางการเงินกับ Skycom เป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์

ก่อนที่ความร่วมมือกัน ระหว่าง Huawei กับ “สถาบันการเงิน 1” จะถึงคราวยุติลงเมื่อปี 2017 โดยต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นผู้ขอยุติความสัมพันธ์เอง

ในหนังสือฟ้องนั้น ยังระบุว่าขณะที่เบื้องหน้า ทาง Huawei จะพยายามปฏิเสธทุกคำกล่าวหา

แต่ในอีกทาง ก็ทยอยย้ายพยานที่รู้เห็นเรื่องการทำธุรกิจของ Skycom ในอิหร่านกลับไปยังจีน เพื่อให้ไกลจากอำนาจการควบคุมของสหรัฐฯ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตีความว่าเป็นเจตนาทำลายและปกปิดหลักฐาน

แน่นอนว่าทั้งหมดก็ยังเป็นข้อมูลจากฝ่ายสหรัฐฯด้านเดียว ซึ่งคงต้องรอดูว่ายักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากจีน จะชี้แจงในเรื่องนี้อย่างไร เพราะเรื่องนี้ยังไม่น่าจะได้ข้อสรุปง่ายๆเช่นกันว่าผิดหรือไม่ผิด จริงหรือเท็จ

แต่ที่แน่ๆ ข่าวที่เกิดขึ้นก็น่าจะกระทบต่อโอกาสเติบโตในตลาดโลกของบริษัทฯค่อนข้างแน่ โดยเฉพาะในสายตาของชาติตะวันตกด้วยกัน ที่น่าจะเลือกเอนข้างสหรัฐฯไว้ก่อน

Reader’s Thought

นางเมิ่ง หว่านโจว และ Huawei Technologies จะมีความผิดหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลอีกครั้ง แต่เมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ มองว่าฝ่ายจำเลยละเมิดกฎหมายของประเทศ จึงจำเป็นต้องมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตามจับกุมมาดำเนินคดี การจะใช้คำว่าเจ้าหน้าที่กระทำการเกินกว่าเหตุจึงอาจไม่ถูกต้องนัก

เรียบเรียงจาก
How the US took more than a decade to build its case against Huawei

 

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
4
Shares
Previous Article
วันลา

โหมงานหนักไม่เท่อีกต่อไป บริษัทแห่สปอยล์เจนใหม่ ให้วันลาไปหาคู่

Next Article
แย่งงาน

ไม่ได้เกิดมาแค่แย่งงานคน AI โคลน“ซัลวาดอร์ ดาลี” พาทัวร์มิวเซียม

Related Posts