ผู้เชี่ยวชาญหลายราย เตือน สหรัฐอเมริกา มีสิทธิ์โดนจีนแซงหน้า ในเรื่องนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์, ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเครือข่ายความเร็วสูง 5G ภายหลังเห็นมหาอำนาจแห่งเอเชียพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลัง ขณะที่ สหรัฐฯ เริ่มจะหยุดนิ่งมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร ถือครองความเป็นใหญ่ในด้านเทคโนโลยีมาโดยตลอด ตั้งแต่การถอดรหัสที่ช่วยให้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2, การแข่งขันพัฒนาพลังงานปรมาณูและอวกาศ หรือพลังการประมวลผลในยุคดิจิทัล
แม้ในช่วงสงครามเย็น สหภาพโซเวียต จะพัฒนาในเรื่องอาวุธสงครามจนสามารถคานอำนาจกันได้ แต่ในแง่ของเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค ชาติจากหลังม่านเหล็กยังถือว่าเป็นรองอยู่มาก
แต่ล่าสุด นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายราย มองว่าในอนาคต ขั้วอำนาจด้านเทคโนโลยีอาจเปลี่ยนไป เมื่อเห็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของจีนเกิดขึ้นในระยะหลัง เมื่อเทียบกับสหรัฐที่เริ่มชะลอตัวจนเกือบหยุดนิ่ง
เฟลิกซ์ ซัลมอน หัวหน้าผู้สื่อข่าวฝ่ายการเงินของ Axios กล่าวว่า “สหรัฐฯ สูญเสียอำนาจการปกครองเรื่องเทคโนโลยีการผลิตไปแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นมานับสิบปีแล้ว เริ่มแรกจากเยอรมนี เป็นญี่ปุ่น แล้วตอนนี้ก็เป็นจีน”
ซัลมอน ชี้ว่า เรื่องสหรัฐฯ ยังครองความยิ่งใหญ่ได้ ในเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรและอาวุธ แต่การผลักดันโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (One Belt, One Road) ทำให้ จีน แซงหน้า สหรัฐฯ ในแง่เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ไปเรียบร้อยแล้ว
ด้าน ดร. เกรแฮม อัลลิสัน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติจาก Harvard กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า “ประเด็นหลักจากเรื่องเหล่านี้ คือ จีนกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อแข่งขันกับขั้วอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ”
ดร. อัลลิสัน ระบุว่า หลังจากการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีมาได้ร่วมศตวรรษ ชาวอเมริกันก็เริ่มเนือย จนขาดการพัฒนาที่สำคัญ
“การที่บริษัทของจีน จะขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะอันดับ 1 ของบางเทคโนโลยี (เช่น 5G ของ Huawei) และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยียุคใหม่ คือการตีแสกหน้าคนอเมริกันส่วนใหญ่เข้าอย่างจัง”
ด้าน New York Times ก็เสนอความเห็นในบทความที่ชื่อ “การแข่งขัน 5G กับจีน สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับ Huawei” นั้น มุ่งเป้าไปที่เครือข่าย 5G และชี้ว่านี่คือจุดสำคัญที่ทำให้ จีน สามารถก้าวข้าม สหรัฐฯ ไปได้
อย่างไรก็ตาม ไอน่า ฟรีด หัวหน้าผู้สื่อข่าวเทคโนโลยีของ Axios ก็ยังเชื่อว่าในการแข่งขันนี้ ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงต้องพึ่งพาอาศัยกันในทางใดทางหนึ่งอยู่ดี
“สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาจีนสำหรับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมด รวมถึงโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ ต่อให้ถูกออกแบบในสหรัฐฯก็ตาม” ฟรีดกล่าว “กลับกัน จีน ก็ยังต้องพึ่งพาชิปจากสหรัฐฯ ต่อให้มีแผนที่จะลดจำนวนการสั่งซื้อ หรือลดการพึ่งพาจุดนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ตาม”
AHEAD TAKEAWAY
รายงานต่างๆที่ทาง AHEAD ASIA เคยนำเสนอ
ไม่ว่าจะเป็นคดีความที่ นางเมิ่ง หว่านโจว ซีเอฟโอของ Huawei ถูกจับกุมตัว ในหลายๆข้อหา (หนึ่งในนั้นคือข้อหาขโมยข้อมูลทางการค้าของ T-Mobile USA) หรือการที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองจีน นับสิบรายในข้อหาพยายามลักลอบเจาะข้อมูล ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลลับของบริษัทอากาศยานในสหรัฐฯ และฝรั่งเศส
น่าจะถือเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ระหว่างสองประเทศเท่านั้น
ไมค์ เวอร์นอล พาร์ทเนอร์ของกองทุน Sequoia Capital ซึ่งอยู่เบื้องหลังสตาร์ทอัพชั้นนำมากมายใน ซิลิคอน วัลลีย์ เคยกล่าวไว้หลังเดินทางกลับจากการเยือนจีน เมื่อเร็วๆนี้ ว่ามีโอกาสสูงมากที่จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งด้านเทคโนโลยีจริงๆ
อาจเป็นภายใน 3 หรือ 5 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำ
เหตุผลหลักๆ คือการที่ภาครัฐและประชาชนนั้นมีแนวคิดไปในทางเดียวกัน (ไม่ว่าภาคประชาชนจะให้ความร่วมมือโดยไม่เต็มใจหรือไม่ก็ตาม) โดยมีเป้าหมายหลักคือการเป็น “ศูนย์กลางนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์” ภายในปี 2030 ถึงขนาดที่ใช้เรื่องนี้เป็นหลักในแผนยุทธศาสตร์ของชาติเลยทีเดียว
แม้ปัจจุบัน จำนวนบุคลากรด้าน computer science ของจีน จะยังตามหลังสหรัฐฯอยู่ แต่การเร่งบรรจุเรื่องนี้ลงในหลักสูตรการศึกษา ก็มีโอกาสที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีพื้นความรู้ทางนี้มารองรับได้ในอนาคต
และที่สำคัญกว่านั้น จีน ยังมีคลังข้อมูลมหาศาลในมือสำหรับการพัฒนา AI ชนิดที่ได้ชื่อว่าเป็น “ซาอุดีอาระเบียแห่งข้อมูล”
เพราะในขณะที่ฝั่งตะวันตกนั้นให้ความสำคัญกับ “การเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัว” จนกลายเป็นข้อจำกัดในการนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนา
ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในจีน พร้อมแลกสิ่งเหล่านี้กับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน
ทุกครั้งที่มีคนเสิร์ชหาข้อมูลใน Baidu จ่ายเงินผ่าน e-wallet ใน WeChat ซื้อของออนไลน์กับ Taobao หรือเรียกรถด้วย Didi ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งกลับไปยังบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เพื่อใช้ในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
ผ่านการทำงานร่วมกับภาครัฐแบบบูรณาการ อาทิ Baidu ดูแลด้านรถไร้คนขับ หรือ Tencent รับผิดชอบการวินิจฉัยโรคด้วย AI ฯลฯ
หลายคนอาจมองว่าบุคลากรและองค์กรเหล่านี้ ทำเพราะ “จำยอม” จากการถูกภาครัฐบังคับ แต่ก็ไม่ถือว่า 100% เสมอไป
ในมุมมองของ ดร.จาง เว่ยหนิง (Dr. Zhang Weining) ศาสตราจารย์จาก Cheung Kong Graduate School of Business ที่เติบโตในจีน แต่จบปริญญาโทและเอกในสหรัฐนั้น “ทัศนคติ” ของคนทั้งสองชาติมีความสำคัญมาก
เพราะในขณะที่ชาวอเมริกันปัจจุบัน ใส่ใจกับเรื่องการเมืองและเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นหลัก และมักถกเถียงด้วยประเด็นอย่างกฎหมายควบคุมอาวุธปืน การทำแท้ง ฯลฯ
ชาวจีนรุ่นใหม่นั้น “หมกมุ่น” กับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในบทสนทนาระหว่างชาวบ้านที่เป็นเกษตรกร หรือคนในเมืองเล็กๆ ประเด็นอย่างเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจ ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ ก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง
รวมถึงการยินยอมที่จะเพิ่มชั่วโมงทำงานเป็น 12-14 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน เพื่อแลกกับรายได้ที่มากขึ้น
“ชาวจีนทุกวันนี้ สนใจแค่ว่าทำยังไงถึงจะรวยขึ้นๆ ด้วยวิธีที่ไม่ผิดกฎหมาย ประเด็นอย่างโมเดลธุรกิจหรือเทคโนโลยีใหม่ๆกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดคุยกัน”
“การที่คนอเมริกันมัวแต่พูดคุยกันเรื่องการเมือง มันไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคุณดีขึ้นนักหรอก เพราะไม่มีใครพร้อมจ่ายค่าจ้างให้คุณสำหรับเรื่องพวกนั้น”
ผู้สื่อข่าวของ Business Insider เผยว่าคนขับรถส่งของในจีน อาจมีรายได้ถึงเดือนละ 2,000 ดอลลาร์ หรือกว่า 6 หมื่นบาทเลยทีเดียว ซึ่งเพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัวขนาดใหญ่ และมีเงินเหลือเก็บสำหรับอนาคตด้วย
หรือแม้แต่สตาฟฟ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent ก็เช่นกัน “คนรุ่นใหม่ที่นี่ก็พร้อมจะทำงานล่วงเวลา พวกเขาจะคิดว่าถ้าคนอื่นทำงานได้แปดชั่วโมง เขาต้องทำมากกว่าเป็น 10 ชั่วโมง ถ้าคนอื่นพร้อมจะทำ 10 ชั่วโมง เขาก็ต้องทำ 12 ชั่วโมง”
อีกประเด็นสำคัญ ก็คือเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ที่จีนมุ่งเน้นนั้น แต่ละชาติยังไม่ถือว่ามีความได้เปรียบเสียเปรียบมากนัก เพราะยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ตามความเห็นของ เฉิน หยุนจี ศาสตราจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ แห่งวิทยาศาสตร์บัณฑิตยสถานแห่งจีน
“ถ้าเป็นวิทยาการสายอื่นๆ จีนคงยากที่จะไล่ตามสหรัฐหรือยุโรปได้ทัน แต่สำหรับวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ต่อให้มีประสบการณ์น้อยกว่า จีน ก็มีโอกาสแข่งขันกับชาติเหล่านั้นได้”
หากจีนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2030 ได้จริง บางทีขั้วอำนาจของโลกที่เคยผูกติดไว้กับฝั่งตะวันตกมาตลอด ก็อาจถึงคราวเปลี่ยนแปลงจริงๆก็ได้
เรียบเรียงจาก
A worldwide, winner-take-all race to rule tech
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า