Apple News

Apple เตรียมเปิดตัวบริการอ่านข่าวแบบเหมาจ่าย -แบ่งรายได้สำนักข่าว 50:50

Apple เตรียมหันไปเน้นบริการคอนเทนท์เพื่อสร้างผลกำไรเข้าบริษัทให้มากขึ้น ด้วยการบริการข่าวสารและสื่อการอ่านแบบเหมาจ่าย โดยแบ่งรายได้แบบครึ่งต่อครึ่งกับสำนักข่าวที่ส่งคอนเทนท์เข้าสู่แพลตฟอร์มของบริษัท

Wall Street Journal เผยว่า Apple มีแผนทำสัญญาพาร์ทเนอร์กับบรรดาองค์กรสื่อต่างๆ เพื่อสร้างบริการข่าวสารแบบเรียกรับสมาชิก ที่จะเปิดช่องทางให้ผู้อ่านสามารถอ่านข่าวได้แบบ all-you-can-read ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแอพ Apple News ซึ่งมีอัตราค่าบริการประมาณ 10 ดอลลาร์ (ราว 330 บาท) ต่อเดือน และมีสิทธิ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ภายใน 1-2 เดือนนี้ด้วย

สำหรับส่วนแบ่งรายได้นั้น รายงานระบุว่า Apple จะแบ่งกับองค์กรสื่อที่เป็นพาร์ทเนอร์ 50% ซึ่งถือเป็นวิธีที่รวดเร็วในการสร้างรายได้จากแอพพลิเคชัน News และเป็นช่องทางที่จะทำรายรับเข้าบริษัทในเวลาที่ยอดขายฮาร์ดแวร์กลุ่มเรือธง อย่าง iPhone ชะลอตัว

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงนี้เท่ากับว่าสำนักข่าวต่างๆ จะได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยกว่าการเปิดบริการสมัครสมาชิกของตัวเอง เช่นในกรณีของ Wall Street Journal ที่มีค่าสมาชิก 20 ดอลลาร์ (ราว 660 บาท) ต่อเดือน แต่ก็อาจทำให้ฐานผู้ใช้งานของสำนักข่าวเหล่านี้ กว้างขึ้นด้วย เพราะการให้บริการแบบ all-you-can-read เท่ากับว่าผู้อ่านสามารถเลือกรับข่าวสารได้อย่างไม่จำกัดนั่นเอง

นอกจากคอนเทนต์ประเภทข่าวแล้ว ยังมีรายงานเสริมจาก CNBC ว่า Apple กำลังพัฒนาบริการวิดีโอรูปแบบใหม่ด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ตรงกับบทวิเคราะห์ ที่ทาง Goldman Sachs เคยกล่าวไว้ ว่าการรวมกลุ่มสื่อแขนงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเป็น Media bundle จะสามารถผลักดันการเติบโตของบริษัทไปได้อีก

 

AHEAD TAKEAWAY

ในยุคที่สื่อแบบดั้งเดิม (Traditional Media) กำลังถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ของคนในยุคดิจิทัล แม้แต่สื่อใหม่ (New Media) เอง ก็ยังมีปัญหาเช่นกัน เพราะจำนวนข่าวสารข้อมูลจำนวนมหาศาล จนแต่ละฝ่ายต้องแข่งขันกันอย่างหนัก เพื่อการ “เข้าถึง” ผู้อ่าน

ไม่กี่วันก่อน แคมป์เบลล์ บราวน์ ผู้บริหารฝ่ายสื่อของ Facebook กล่าวกับตัวแทนพับลิชเชอร์น้อยใหญ่ในงานสัมมนาที่นิวยอร์ค ว่าบริษัทฯ ไม่ได้มีหน้าที่ช่วยให้สื่ออยู่รอด โดยธรรมชาติแล้ว ตัวโซเชียลมีเดีย ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัลกอริทึมต่างๆ ปรับลด reach หรือแม้แต่ทดลองรูปแบบการนำเสนอ ฯลฯ จนทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากสื่อน้อยใหญ่ว่าบริษัทฯ พยายามบีบให้ต้องจ่ายเงินเพื่อยิงแอด เพิ่มการเข้าถึงให้มากขึ้น

หากมองในความเป็นจริง Facebook นั้นก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งอยู่แล้ว การจะเปิดให้ทุกคนมาใช้ฟรีๆโดยไม่มีอะไรแลกเปลี่ยนจึงแทบเป็นไปไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ทั่วไป ที่ต้องยอมจ่ายด้วย “ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ” หรือ พับลิชเชอร์ ทั้งหลายที่ต้อง “ยิงแอด” เพื่อเพิ่ม reach นั่นเอง

เพราะลำพังด้วยพลังของคนทำคอนเทนต์เอง ยังไงก็เป็นเรื่องยากที่จะฝ่ากระแสข้อมูลมหาศาลบนโลกออนไลน์ไปถึงผู้บริโภคได้ หากว่าไม่แรงจริง จนสามารถดึงให้คนกลุ่มนั้นกลับมาตามเสพได้ด้วยตัวเอง

วิธีของ Apple จะว่าไปแล้ว ก็อาจไม่ต่างกันมากนัก เพียงแต่อาจจะดูชัดเจนกว่า ในเชิงนโยบาย ซึ่งขณะเดียวกัน ก็ดูแข็งกร้าวไม่น้อย เพราะต้องการส่วนแบ่งมากถึงครึ่งหนึ่ง สำหรับการเป็นพื้นที่ให้พับลิชเชอร์ได้ “ปล่อยของ”

เพราะยังไม่ทันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ก็มีรายงานว่าสื่อใหญ่ อย่าง New York Times และ Washington Post อาจคัดค้านข้อตกลง 50:50 นี้ และจะพยายามเรียกร้องให้ Apple รับรายได้แค่ 30% ในปีแรก และเหลือ 15% ในปีถัดไป

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ Apple ต้องการให้สำนักข่าวบางแห่งทำข้อตกลงอย่างน้อย 1 ปี แต่ก็ดูจะเป็นไอเดียที่ถูกค้านเช่นกัน เพราะบางรายต้องการสัญญาระยะยาว แต่บางรายก็ต้องการสัญญาระยะสั้นกว่านั้น

แต่ที่แน่ๆ ประเด็นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ก็ยังต้องปรับตัว ในวันที่สมาร์ทโฟนเรือธงทำยอดขายได้ไม่ตามเป้า

และเช่นกัน สื่อต่างๆและคนทำคอนเทนต์ ก็ยังไม่อาจหยุดนิ่งได้เช่นกัน และต้องเดินหน้าหาวิธีการเอาตัวรอดท่ามกลางข้อมูลมหาศาลในโลกออนไลน์ต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีแพลตฟอร์มซึ่งยั่งยืนพอ

เรียบเรียงจาก
Apple is reportedly planning an all-you-can-read subscription news service and wants to keep half the revenue
Apple will reportedly reveal its news subscription service next month

 

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
14
Shares
Previous Article
รถไร้คนขับ

Toyota ประกาศวางตลาด รถไร้คนขับ ในปี 2020 พร้อมคุยเป็น "คอมพิวเตอร์ติดล้อที่ฉลาดที่สุด"

Next Article
ยกระดับประเทศไทย

FIT เปิดตัว 8 สุดยอด EdTech และ Health Tech โครงการ GovTech Mission – One Nations, One Mission ยกระดับประเทศไทย

Related Posts