ฟิลิปป์ อูชัวส์ กรรมการผู้จัดการ และนักวิเคราะห์ของ Jefferies Group วาณิชธนกิจจากนิวยอร์ค เชื่อการที่ อีลอน มัสก์ มักทวีตข้อมูลภายในของ Tesla จนกระทบต่อสภาวะตลาด อาจเป็นเหตุให้เจ้าตัวถูกบีบพ้นจากตำแหน่งในบริษัทได้ เพราะนักลงทุนและผู้ถือหุ้นหลายรายเริ่มไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ หลังฝ่าฝืนคำสั่งของ SEC หรือ ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง จนเตรียมถูกยื่นฟ้องในเร็วๆนี้
SEC กับ มัสก์ นั้นมีเรื่องขัดแย้งกันมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทวีตของ ซีอีโอ Tesla เรื่องแผนนำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ ถูกตีความว่าเป็นการปั่นราคาหุ้นของบริษัท จนสุดท้าย มัสก์ ต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 20 ล้านดอลลาร์ (ราว 660 ล้านบาท) และยอมลงจากตำแหน่งประธานบริษัท เหลือเพียงตำแหน่งซีอีโอเท่านั้น
นอกจากโทษดังกล่าวแล้ว ยังมีเงื่อนไขสำคัญว่าทุกครั้งก่อนทวีตข้อความที่เกี่ยวข้องกับบริษัท มัสก์ จะต้องขอคำปรึกษาจากทนายความก่อน แต่ซีอีโอชาวแอฟริกาใต้ก็ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม โดยเมื่อ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าตัวได้ทวีตข้อความผ่านแอคเคาท์ @elonmusk (ปัจจุบัน เจ้าตัวแก้ชื่อที่แสดงผลเป็น Elon Tusk แทน) ว่า “Tesla ผลิตรถได้ 0 คันในปี 2011 แต่จะทำได้ 5 แสนคันในปี 2019”
Tesla made 0 cars in 2011, but will make around 500k in 2019
— Elon Tusk (@elonmusk) February 20, 2019
แม้หลังจากนั้นราว 4 ชั่วโมง มัสก์ จะแก้ไขทวีตใหม่ ลดจำนวนยอดผลิตลงเป็น 400,000 คันต่อปี หรือเฉลี่ยไม่เกินสัปดาห์ละ 10,000 คัน
Meant to say annualized production rate at end of 2019 probably around 500k, ie 10k cars/week. Deliveries for year still estimated to be about 400k.
— Elon Tusk (@elonmusk) February 20, 2019
แต่การทวีตครั้งนี้ ก็ยังถูกตีความโดย SEC ว่าเข้าข่ายให้ข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความไขว้เขวแก่ตลาดอยู่ดี เช่นเดียวกับเป็นการเผยแพร่ข้อมูลโดยไม่ผ่านความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและทนายความ ก่อนยื่นเรื่องฟ้องหนล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
ด้าน Tesla ชี้แจงว่ากรณีนี้ ทวีตของ มัสก์ ไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบ เพราะเป็นข้อมูลชุดเดียวกับที่บริษัทฯได้เผยแพร่ออกไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค.
จากกรณีนี้ ฟิลิปป์ อูชัวส์ กรรมการผู้จัดการ และนักวิเคราะห์ของ Jefferies Group ให้ความเห็นถึงทวีตของ มัสก์ ว่ามีแนวโน้มจะสร้างความสับสนให้กับนักลงทุนได้ เมื่อทวีตโดยคิดตัวเลขคร่าวๆจาก run rate ของการผลิต
“ก่อนหน้านี้ Tesla บอกว่าปริมาณการผลิตสำหรับปี 2019 อยู่ที่ระหว่าง 400,000 ถึง 500,000 คัน แต่ ‘run rate’ ของการผลิตคือ 500,000”
ในกรณีนี้ มัสก์ น่าจะทวีตโดยยึดอัตรา run rate จากการผลิต 10,000 คันต่อสัปดาห์ ทำให้“มีแนวโน้มที่คนจะสับนระหว่างปฏิทินธรรมชาติกับ run rate”
อูชัวส์ ยังมองว่าจากกรณีนี้ มัสก์ มีสิทธิ์โดนโทษปรับเงิน, ปลดจากตำแหน่งซีอีโอ หรือทั้งปลดทั้งปรับ และในกรณีร้ายแรงที่สุด อาจถูกตัดจากทุกการมีส่วนร่วมกับบริษัทเลยก็ได้ เนื่องจากปัจจุบัน บริษัทฯเริ่มมีสถานะที่อยู่ตัวมากขึ้น และนักลงทุนบางรายในบริษัทเริ่มไม่พอใจแนวทางของ มัสก์ มากขึ้นเรื่อยๆ
หนึ่งในนั้นคือ รอสส์ แกร์เบอร์ ซีอีโอกองทุน Gerber Kawasaki ที่กล่าวว่า “ผมหวังว่าพวกเขาจะยึดโทรศัพท์ของอีลอนไปเสียที”
“ผมไม่มีปัญหากับทัศนคติแบบแบดบอย ถ้ามันเป็นในทางทฤษฎี แต่นี่คือเรื่องของธุรกิจ เขากำลังทำให้บริษัทและผู้ถือหุ้นสูญเสียเงินจำนวนมาก”
AHEAD TAKEAWAY
แม้ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งโดยตรง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อีลอน มัสก์ นั้น เป็น “ภาพจำ” ของ Tesla สำหรับคนจำนวนมากไปแล้ว ซึ่งก็คงไม่ผิด เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน เขาในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ถอด มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ดท์ ผู้ก่อตั้งตัวจริงจากตำแหน่งซีอีโอ วันนี้อาจไม่มีบริษัทเหลืออยู่แล้วก็ได้
ที่สำคัญ มัสก์ ไม่ได้แค่เป็นหน้าตาของบริษัท จากการให้ข่าวกับสื่อเท่านั้น เขายังคลุกคลีกับมันชนิดลงทุนไปนอนที่โรงงาน เพื่อดูแลการผลิตให้เป็นไปตามกำหนดเลยทีเดียว ในช่วงที่ Model 3 มีปัญหาไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามกำหนด
จึงไม่น่าแปลกที่เขาจะ “อิน” กับบริษัทนี้เป็นพิเศษ และมักหาโอกาสแชร์อะไรใหม่ๆกับสาวกและผู้ติดตามในทวิตเตอร์ทุกครั้งที่มีโอกาส เช่นเดียวกับการ “ใส่ไม่ยั้ง” เช่นกัน หากใครทำให้เขารู้สึกไม่พอใจ
หลายคนน่าจะยังจำได้กับการที่เขาทวีตข้อความเหน็บแนม เวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ เพราะความเห็นไม่ตรงกันในเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า ทั้ง 13 ชีวิต เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว จนเป็นคดีความกัน และยังไม่ได้ข้อสรุปจนถึงวันนี้
กับ SEC ก็เช่นกัน ต่อให้อีกฝ่ายเป็นหน่วยงานของรัฐก็ตาม
หนึ่งวันหลังทราบข่าวว่าถูกฟ้อง มัสก์ ก็เหน็บกลับ ก.ล.ต.สหรัฐ แบบแรงๆทันที เพราะเขามั่นใจว่าข้อมูลที่ทวีตไปนั้น ไม่มีอะไรพิเศษหรือแตกต่างจากแถลงการณ์ที่บริษัทประกาศไปเมื่อเดือนมกราคม และเป็นทาง SEC ต่างหาก ที่ไม่ตรวจสอบหรือเปรียบเทียบกับข้อมูลชุดนั้นเอง
SEC forgot to read Tesla earnings transcript, which clearly states 350k to 500k. How embarrassing … 🤗
— Elon Tusk (@elonmusk) February 26, 2019
เป็นไปได้ว่า มัสก์ น่าจะยังคาใจจากการถูกบีบให้ลงจากตำแหน่งประธานบริษัท เพราะทวีตเรื่องดึงบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์เมื่อปีที่แล้ว
ที่น่าสนใจก็คือ หลายคนมองว่า SEC ก็เพ่งเล็งการเคลื่อนไหวของ มัสก์ มากเกินไป เพราะอคติรึเปล่า เหมือนที่ เจนนิเฟอร์ เซนซิบา นักข่าวของ Clean Technica ทวีตไว้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่ง มัสก์ ก็เป็นหนึ่งในคนที่ไปแสดงความเห็นไว้ด้วย
Exactly. This has now happened several times. Something is broken with SEC oversight.
— Elon Tusk (@elonmusk) February 26, 2019
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ รอสส์ แกร์เบอร์ หนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะแม้ มัสก์ จะเป็นฝ่ายถูกต้องในหลักการ
แต่การตอบโต้แบบเผ็ดร้อนทุกครั้งที่มีโอกาส ดูจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมนัก เพราะรังแต่จะสร้างศัตรูเพิ่มขึ้นเท่านั้น
เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ที่ศัตรูเป็นถึงหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายเกี่ยวกับสถานะของบริษัท เพราะนั่นอาจหมายถึงอารมณ์ชั่ววูบของ มัสก์ อาจทำให้ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนคนอื่นๆ ต้องสูญเงินมหาศาลไปด้วย ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับความคิดของเจ้าตัวหรือไม่ก็ตาม
และในมุมกลับกัน ผู้ถือหุ้นคนอื่นๆของ Tesla มั่นใจแค่ไหน หากถึงวันที่บริษัทฯจะไร้เงาของ มัสก์ จริงๆ
ในเมื่อเขาคือคนที่นำองค์กรผ่านวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากคนในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ไม่เชื่อว่าบริษัทจะเอาตัวรอดได้ จนทุกวันนี้ เหลืออีกไม่กี่ก้าว บรรทัดฐานที่ Tesla (หรือตัว มัสก์ เอง) สร้างไว้ กำลังจะกลายเป็นเกณฑ์ที่บริษัทรถยนต์ทั่วโลกเลือกเดินตามแล้ว
เรียบเรียงจาก
Elon Musk’s latest Twitter outburst could cost him his job at Tesla
Elon Musk lashes out: ‘Something is broken with SEC oversight’
Elon Musk in Trouble: No Grownup Pre-Approved His Tesla Production Tweet
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า