ไม่จำเป็นต้องคลุกคลีในแวดวงไอทีหรือเทคโนโลยี คุณน่าจะต้องรู้จักอดีตชายที่รวยที่สุดในโลก อย่าง บิล เกตส์ บ้าง ไม่มากก็น้อย
ปัจจุบัน ผู้ก่อตั้ง Microsoft ถอยจากงานบริหารองค์กร ผันตัวมาทำงานด้านการกุศลเป็นหลัก ด้วยความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเจ้าตัวหันหลังให้กับเทคโนโลยี
ตรงกันข้าม เกตส์ ยังคงติดตามและลงทุนในสตาร์ทอัพและบริษัทต่างๆที่มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น
เกตส์ เปรียบเทียบเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ว่าเหมือนกับรถไถ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมีย นั่นคือการช่วยให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น และดีขึ้น
ไปดูกันว่า 10 เทคโนโลยีที่จะมีอิมแพกต์ต่อชีวิตเราทั้ง ณ วันนี้ และในอนาคต ในมุมมองของไอคอนแห่งวงการไอที มีอะไรบ้าง?
#1
หุ่นยนต์ที่เรียนรู้เองได้
ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคที่เครื่องจักรมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ โลกเราจะเข้าสู่ยุค automation แบบเต็มตัว
(อ่านเพิ่มเติมใน Universal Basic Income: ทางออกของความเหลื่อมล้ำ และทางรอดในยุคหุ่นยนต์ครองเมือง)
จุดเด่นในการทำงานของเครื่องจักรนั้น คือความแม่นยำ และสม่ำเสมอ แต่การจะทำแบบนั้นได้ ก็มีเงื่อนไขที่ว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามโปรแกรมที่เขียนไว้เท่านั้น หากมีเหตุไม่คาดฝัน หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่ไม่ตรงกับคำสั่งแรก ปัญหาก็จะเกิดตามมาทันที
นั่นคือที่มาของการพัฒนาหุ่นยนต์ ให้สามารถจำลองสถานการณ์ขึ้นภายในตัวซอฟต์แวร์ (virtual trial and error) จากนั้น ส่วนที่เป็นกลไกเคลื่อนไหว (เช่นมือ) จึงจะเคลื่อนไหวตามการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ก็คือ Dactyl ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย OpenAI องค์กรไม่แสวงกำไรด้าน AI ซึ่งเรียนรู้การหยิบจับและพลิกบล็อกของเล่น ผ่านสถานการณ์ที่จำลองขึ้นภายในตัวซอฟต์แวร์ ซึ่งจะส่งข้อมูลกลับไปยังส่วนกลไกมือเพื่อเคลื่อนไหวตามนั้น โดยไม่มีการโปรแกรมไว้ล่วงหน้า
AHEAD TAKEAWAY
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? : ภายใน 3-5 ปี
ทำไมถึงสำคัญ? : หุ่นยนต์จะทำงานในสถานการณ์ที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีขึ้น นั่นหมายถึงจะทำงานได้หลากหลายตามไปด้วย
#2
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก
นอกจากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เป็นอีกตัวเลือกที่หลายประเทศในโลกเลือกใช้ นอกเหนือจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
จุดเด่นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือใช้เชื้อเพลิงน้อย แต่ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ในปริมาณมาก ทำให้ราคาวัตถุดิบไม่ค่อยมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ยังมีปริมาณของเสียน้อย และไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
ปัญหาคือใช้เงินลงทุนสูง เพราะต้องเน้นระบบความปลอดภัย รวมถึงการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วที่มีกัมมันตรังสีระดับสูง
แต่ในอนาคต ข้อจำกัดเหล่านี้กำลังจะหมดไป เพราะเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ 4 ได้รับการพัฒนาให้ปลอดภัยมากขึ้น มีขนาดเล็กลง และราคาถูกกว่าเดิม
ขณะที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน ที่เดิมคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะใช้งานได้จริง เพราะข้อจำกัดในการควบคุมความร้อนมหาศาล ก็คาดว่าอาจใช้เวลาอีกไม่เกิน 15 ปี
หลังโครงการ SPARC ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง MIT กับบริษัท Commonwealth Fusion Systems ค้นพบเทคนิคสำคัญในการช่วยควบคุณอุณหภูมิแล้ว
AHEAD TAKEAWAY
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? : ภายใน 15 ปี
ทำไมถึงสำคัญ? : แม้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนจะเป็นตัวเลือกที่ดีกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ไฟฟ้าจากถ่านหินนั้นมีปัญหาเรื่องมลภาวะ ส่วนก๊าซธรรมชาติก็กำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งก็ขึ้นกับความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นด้วย
#3
การตรวจหาโอกาสคลอดก่อนกำหนดในทารก
จากสถิติ พบว่าค่าเฉลี่ยของโอกาสที่เด็กทารกจะคลอดก่อนกำหนด มีอยู่ราว 1 ใน 10 ซึ่งส่งผลต่อโอกาสรอดชีวิตของเด็กที่เกิดใหม่ด้วย
แต่ สตีเฟ่น เควก ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวเวช จากสแตนฟอร์ด ค้นพบวิธีการตรวจ DNA และ RNA ในเลือด เพื่อหายีน 7 ตัว ซึ่งเป็นสัญญาณชี้ว่าเด็กในครรภ์มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
การรู้ล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้สูติแพทย์สามารถเตรียมรับมือ หรือหาวิธีที่จะช่วยป้องกันความผิดปกตินี้ต่อไป
ที่สำคัญคือการตรวจเลือดด้วยวิธีนี้ ทั้งง่าย เร็ว และราคาไม่ถึง 3 ดอลลาร์ (ราวหนึ่งร้อยบาท) เท่านั้น
AHEAD TAKEAWAY
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? : ภายใน 5 ปี
ทำไมถึงสำคัญ? : ในแต่ละปี มีเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมากถึง 15 ล้านคน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
#4
แคปซูลตรวจลำไส้
อาการป่วยเกี่ยวกับลำไส้ ที่เรียกกันว่า Environmental enteric dysfunction หรือ EED คือปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา
ทั้งการขาดสารอาหาร พัฒนาการที่ชะงัก หรือส่วนสูงที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่สามารถป้องกันหรือรักษาให้หายขาดได้
แต่การตรวจสุขภาพลำไส้จากภายใน คือจุดเริ่มต้นที่แพทย์จะสามารถรู้ได้ว่าต้องทำอย่างไร และเมื่อไหร่ถึงจะสามารถหาคำตอบนี้ได้ ผ่านอุปกรณ์รูปร่างคล้ายยาเม็ดแคปซูล ที่คิดค้นโดย กิเยร์โม เทียร์นีย์ วิศวกรจากโรงพยาบาล แมสซาชูเสตต์ส (MGH)
อุปกรณ์นี้ต่างจากกล้องเอ็นโดสโคปที่ใช้ในการผ่าตัด ตรงที่คนไข้สามารถกลืนผ่านลงคอไปได้ทันที โดยกล้องขนาดเล็กที่ติดตั้งอยู่จะเข้าไปเก็บภาพลำไส้ และข้อมูลต่างๆ เพื่อส่งกลับมายังมอนิเตอร์ และเมื่อใช้เสร็จก็สามารถถอนกลับออกมา เพื่อทำความสะอาดและใช้ใหม่ได้
หลักการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตรวจโรคอื่นๆได้ โดยปัจจุบันมีการพัฒนาให้แคปซูลนี้เล็กลง สำหรับตรวจลำไส้เด็กและทารกได้ด้วย
AHEAD TAKEAWAY
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? : ปัจจุบัน เริ่มต้นนำมาใช้ในผู้ใหญ่แล้ว ส่วนแคปซูลขนาดเล็กสำหรับเด็ก น่าจะเริ่มใช้งานได้จริงภายในปี 2019
ทำไมถึงสำคัญ? : ช่วยให้การตรวจลำไส้ของคนไข้ง่ายขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเก็บข้อมูล เพื่อหาทางรักษาโรคต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการขาดสารอาหารในเด็กนับล้านๆคนทั่วโลก
#5
วัคซีนต้านมะเร็งเฉพาะบุคคล
หลักการทำงานของวัคซีนต้านมะเร็งตัวนี้ คือจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายเราให้ค้นหาเนื้องอกที่มีภาวะผิดปกติ เพื่อทำลายทิ้งเฉพาะจุด ซึ่งจะป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อดีของวัคซีนตัวนี้ คือจะจำกัดการทำลายเซลส์ในร่างกายที่เป็นปกติให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งต่างจากการรักษาแบบคีโมเธราพี
แนวคิดนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมาตั้งแต่ปี 2008 กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ สตาร์ทอัพจากเยอรมนี ชื่อ BioNTech สามารถสร้างวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันสามารถค้นหา และทำลายเซลส์ที่ผิดปกติเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง และเริ่มทำการทดสอบในวงกว้าง เมื่อสองปีที่แล้ว ผ่านการสนับสนุนโดย Genentech ผู้นำด้านไบโอเทค
AHEAD TAKEAWAY
นอกจากการรักษามะเร็ง แนวคิดเรื่องการแพทย์แบบเฉพาะบุคคล หรือ เภสัชพันธุศาสตร์ ที่เน้นเรื่องพันธุกรรมของมนุษย์ ว่าเป็นเหตุให้แต่ละคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อตัวยาต่างกันนั้น เป็นเรื่องที่มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว
หนึ่งในสตาร์ทอัพซึ่งมีผู้ก่อตั้งเป็นชาวไทย อย่าง Epibone ที่สร้างกระดูกข
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? : อยู่ในขั้นตอนทดลองกับผู้ป่วยแล้ว
ทำไมถึงสำคัญ? : เป็นการรักษาแบบตรงจุด เมื่อเทียบกับการทำคีโม ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้ป่วย และหลายครั้งที่การฉายรังสีไม่ได้ผลกับเนื้อร้าย
#6
คลีนมีทจากพืช และเนื้อที่ปลูกในห้องทดลอง
สหประชาชาติ คาดว่าภายในปี 2050 จำนวนประชากรบนโลกจะเพิ่มขึ้นถึงหลัก 9,800 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น จากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบตามอัตราส่วนแล้ว จะมากกว่าที่มีการบริโภคในปี 2005 ถึง 70%
แต่การทำปศุสัตว์แบบเดิมนั้น มีผลเสียต่อสภาพแวดล้อมของโลก โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งน้ำ ที่ดิน รวมถึงเชื้อเพลิงต่างๆ ในปริมาณที่มากกว่าการเพาะเนื้อในห้องทดลอง 4-25 เท่าเลยทีเดียว
หลักการเบื้องต้นของเนื้อจากห้องแล็บ คือการสกัดเนื้อเยื่อจากสัตว์ เพื่อมาเพาะในสภาพแวดล้อมที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งจะให้ผลแบบเดียวกับเนื้อสัตว์จากการทำปศุสัตว์
ปัจจุบันก็เริ่มมีสตาร์ทอัพและบริษัทต่างๆวางตลาดเนื้อสัตว์จากการเพาะ หรือเบอร์เกอร์ที่ใช้วัตถุดิบจากคลีนมีท (clean meat) ซึ่งใช้โปรตีนและสารอาหารต่างๆที่สกัดจากพืชแล้ว อาทิ Beyond Meat และ Impossible Foods ในสหรัฐฯ
https://ahead.asia/2018/05/18/yuki-hanyu-shojinmeat-project/
AHEAD TAKEAWAY
ในเอเชีย ก็มีสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ อย่าง Shojinmeat Project ของ ยูกิ ฮันยู ซึ่งแทรกแนวคิดของพุทธนิกายเซนไว้อย่างน่าสนใจ (ติดตามอ่านเรื่องของเนื้อที่ปลูกในห้องแล็บ ได้ใน ยูกิ ฮันยู ผู้ปลูกเนื้อจากอนาคต)
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? : เนื้อคลีนมีทที่ใช้โปรตีนและสารอาหารจากพืช เริ่มมีขายในสหรัฐฯแล้ว ขณะที่เนื้อที่ปลูกในห้องแล็บ คาดว่าจะตามมาในปี 2020
ทำไมถึงสำคัญ? : การทำปศุสัตว์แบบเดิม ใช้ทรัพยากรจำนวนมากและใช้เวลานาน รวมถึงส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
#7
การลดคาร์บอนไดออกไซด์
แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดภาวะเรือนกระจกแล้ว แต่ผลลัพธ์จากปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยมาในอดีต จะยังส่งผลกับโลกนี้ไปอีกหลายร้อยหลายพันปี
เป้าหมายของ UN คือการกำจัดคาร์บอนไดออกไซ์จากชั้นบรรยากาศให้ถึงหลัก 1 ล้านล้านตัน ภายในศตวรรษนี้
ปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพ และบริษัทอื่นๆที่กำลังพัฒนาแนวคิดเพื่อลดหรือดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เช่นกัน อาทิ Carbon Engineering จากแคนาดา ซึ่งนำ CO2 ที่ดักจับได้มาแปรรูปกลับเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ Climeworks จากสวิตเซอร์แลนด์ ที่เริ่มทดลองตั้งโรงงานดักจับ CO2 ในอิตาลี เพื่อนำกลับมาผลิตก๊าซมีเธน หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำอัดลมต่อไป
ปัญหาคือการรีไซเคิล CO2 ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะการนำกลับมาใช้ ก็เท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์จะกลับไปอยู่ในชั้นบรรยากาศอีกครั้ง
หลักการล่าสุดที่คิดค้นโดย เดวิด คีธ นักวิจัยจากฮาร์วาร์ด สามารถลดปริมาณ CO2 ได้ ด้วยค่าใช้จ่ายไม่ถึง 100 ดอลลาร์ต่อปริมาณก๊าซ 1 ตัน
แต่ก็ยังเป็นไปในทางทฤษฎีเท่านั้น ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะพัฒนาจนสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง
AHEAD TAKEAWAY
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? : ภายใน 5-10 ปี
ทำไมถึงสำคัญ? : การลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ คือทางเลือกเดียวเพื่อลดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
#8
สมาร์ทวอทช์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
อุปกรณ์ประเภทแทร็คการเต้นของหัวใจที่มีขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำได้เหมือนเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่แพทย์ใช้ในโรงพยาบาล
แต่ปัจจุบัน สมาร์ทวอทช์ ที่มาพร้อมฟังก์ชั่น ECG (electrocardiogram) ก็ถูกพัฒนาให้ทำหน้าที่ได้ใกล้เคียงกับอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น เช่น Apple Watch Series 4 ที่มีฟังก์ชั่นนี้ในตัว และประกาศว่ามีความแม่นยำถึง 98%
ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ผลิตสายรัดข้อมูลสำหรับทำหน้าที่ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้อย่างแม่นยำ เพื่อส่งไปให้กับสมาร์ทวอทช์เช่นกัน อาทิ AliveCor และ Withings
AHEAD TAKEAWAY
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? : Apple Watch Series 4 ที่วางตลาดเมื่อปีที่แล้ว คือสมาร์ทวอทช์รุ่นแรกๆที่มาพร้อมกับคุณสมบัตินี้ โดยที่แบรนด์อื่นๆก็เตรียมที่จะผลิตสายรัดข้อมือ หรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆตามมา
ทำไมถึงสำคัญ? : ลดความเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะในสหรัฐฯที่สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้ด้วย หากเซนเซอร์ตรวจพบความผิดปกติ
#9
สุขาไม่ใช้น้ำ
ปัจจุบัน ยังมีประชากร 2.3 พันล้านคนบนโลก ใช้ห้องสุขาที่มีปัญหาเรื่องท่อระบายน้ำ และการกำจัดของเสีย ทำให้เชื้อโรคหรือปรสิตต่างๆมีโอกาสปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ซึ่งการแพร่กระจายของโรคต่างๆจากสาเหตุนี้ โดยเฉพาะท้องร่วง ก็เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลก ในอัตราถึง 1:9
จนเป็นที่มาของการพัฒนาสุขภัณฑ์แบบใหม่ที่ทั้งประหยัดสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยไม่แพร่กระจายของเสียออกไป และลดปริมาณการใช้น้ำให้มากที่สุด
หนึ่งในนั้นคือ NEWgenerator ที่ออกแบบและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเซาธ์ฟลอริดา ซึ่งใช้เยื่อบุผิวไร้ออกซิเจน (anaerobic membrane) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียและไวรัสต่างๆในการกรองเชื้อโรคจากของเสีย ขณะที่ Biomass Controls จากคอนเนกติกัต ก็มาพร้อมแนวคิดสุขภัณฑ์ ซึ่งใช้ความร้อนแปรรูปของเสียต่างๆให้กลายเป็นปุ๋ยสำหรับการทำเกษตรกรรมแทน
AHEAD TAKEAWAY
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? : ภายใน 1-2 ปี
ทำไมถึงสำคัญ? : สุขาที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมน้ำในท่อระบาย นำไปสู่การปนเปื้อนของเชื้อโรคในแหล่งน้ำ และเป็นต้นเหตุของโรคท้องร่วง ซึ่งคร่าชีวิตคนจำนวนมาก
#10
ผู้ช่วยอัจฉริยะ
ผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ อย่าง Siri หรือ Alexa ไม่ใช่เทคโนโลยีแปลกใหม่สำหรับคนทั่วไปอีกแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ คือความสามารถในการจดจำคำสั่งที่จำกัด และยังเกิดความสับสนเรื่องแหล่งที่มาของคำสั่งเสียงในบางโอกาส
แต่ปัจจุบัน AI นั้น มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เช่น BERT จาก Google ที่สามารถคาดเดาคำที่หายไปจากบริบท และการสังเคราะห์คำพูดที่ได้รับการปรับปรุง ทำให้ผู้ช่วยอัจฉริยะเหล่านี้ มีขอบเขตการทำงานที่กว้างขึ้น ตั้งแต่ สนทนากับมนุษย์ บันทึกรายงานการประชุม ค้นหาข้อมูล ไปจนถึงช้อปปิ้งออนไลน์
เช่น Google Duplex ที่รู้ได้ว่าสายเรียกเข้าสายไหนเป็นสแปม หรือคนที่โทรเข้ามาสายสินค้า โทรออกเพื่อจองห้องพักหรือคิวตัดผมให้คุณได้ หรือ AliMe ที่ต่อรองสินค้าให้คุณได้ผ่านทางช่องแชท ฯลฯ
AHEAD TAKEAWAY
จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? : ใช้งานได้จริง ในอีก 1-2 ปี
ทำไมถึงสำคัญ? : AI จะเข้ามาทำงานบางประเภทแทน เพื่อให้มนุษย์สามารถขยับไปทำในสิ่งอื่นที่จำเป็นและสร้างสรรค์กว่า ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ความสนใจประเด็นที่ว่าวันหนึ่ง มันอาจฉลาดกว่ามนุษย์จริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ อีลอน มัสก์ เคยเตือนไว้ และนำไปสู่การโต้เถียงผ่านสื่อกับ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ด้วย (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม พร้อมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ AI ชองไทย คุณเต๋า ฉัตรวุฒิ วิริยะสุธี ได้ใน AI เป็นอันตรายต่อคนจริงหรือ?)
เรียบเรียงจาก
How we’ll invent the future, by Bill Gates
Bill Gates Reveals The 10 Breakthrough Technologies That Will Change The World in 2019
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า