กราดยิงที่นิวซีแลนด์

Facebook แจงลบคลิปกราดยิงที่นิวซีแลนด์ กว่า 1.5 ล้านครั้งในวันเดียว

Facebook ชี้แจงได้ทำการลบและบล็อกวิดีโอที่เผยแพร่ภาพเหตุการณ์ กราดยิงที่นิวซีแลนด์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กว่า 1.5 ล้านคลิป ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ แต่ยังถูกวิจารณ์ยับหลังยังพบว่ามีภาพเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก

เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้ เกิดขึ้น เมื่อ เบรนตัน ทาร์แรนต์ ชาวออสเตรเลีย วัย 28 ปี ถ่ายทอดสดขณะใช้อาวุธสงครามกราดยิงชาวมุสลิม ที่มัสยิดอัล นูร์ และมัสยิดลินวู้ด ในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ผ่านบัญชีส่วนตัวบน Facebook และ YouTube ต่อเนื่องถึง 17 นาที

ก่อนที่ทั้งสองบริษัทจะยืนยันการปิดบัญชีทั้งหมดของ ทาร์แรนต์ หลังเกิดเหตุได้ราวหนึ่งชั่วโมง พร้อมตั้งทีมงานเฉพาะกิจไล่ลบคลิปทั้งหมดจากแพลตฟอร์ม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มิอา การ์ลิค ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ Facebook ในแถบออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ชี้แจงผ่าน Twitter ว่าบริษัทฯจัดการลบคลิปเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ไปแล้วกว่า 1.5 ล้านครั้ง

โดยเป็นการบล็อกตั้งแต่ขั้นตอนการอัพโหลด กว่า 1.2 ล้านครั้ง แต่ไม่ได้อธิบายว่าเพิ่มเติมว่าเพราะอะไร อีกกว่า 300,000 คลิป หรือราว 20% ถึงหลุดรอดไปสู่โลกออนไลน์ได้

อย่างไรก็ตาม Facebook รวมถึงโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็ยังถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลังพบว่ามีการเผยแพร่คลิปดังกล่าวบนแพลตฟอร์ม แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วถึง 12 ชั่วโมง

พร้อมมีการเรียกร้องให้เผยตัวเลขอื่นๆเพิ่มเติม อาทิ ตัวเลขยอด engagement, ยอดวิว, ยอดแชร์ และการแสดงความเห็นต่างๆ ก่อนที่วิดีโอเหล่านั้น จะถูกถอดออกไป เพื่อระบุให้ชัดเจนว่าคลิปเหล่านี้ถูกแพร่กระจายออกไปขนาดไหนแล้ว

ด้านนายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ผู้นำนิวซีแลนด์ กล่าวว่าเธอและเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆราว 30 คน ได้รับอีเมล เป็นเอกสารความยาว 74 หน้าจากคนร้าย เพื่อประกาศเจตนารมณ์ ก่อนเกิดเหตุราว 9 นาที แต่ก็ไม่มีเนื้อหามากพอสำหรับทางการนิวซีแลนด์ในการเตรียมรับมือ

นางอาร์เดิร์น กล่าวเสริมว่านอกจากการแก้ไขกฏหมายอาวุธปืนให้เข้มงวดขึ้น เธอยังต้องการหารือร่วมกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการถ่ายทอดสดและเผยแพร่คลิปในลักษณะนี้อีกในอนาคต โดยเธอได้พูดคุยในเบื้องต้นกับ เชอรีล แซนด์เบิร์ก ซีโอโอของ Facebook ที่ติดต่อหาเธอหลังเกิดเหตุแล้ว

ขณะที่ ซายิด จาวิด รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของสหราชอาณาจักร ก็ทวีตข้อความเรียกร้องให้บรรดาแพลตฟอร์มต่างๆในโลกออนไลน์ แสดงออกถึงความรับผิดชอบมากกว่านี้ ในการควบคุมเนื้อหาที่มีความรุนแรง หรือบิดเบือนความจริง

เหตุกราดยิงในครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตรวมกันราว 50 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บราว 40-50 คน ส่วน ทาร์แรนต์ ผู้ก่อเหตุ ถูกจับกุมตัวในเวลา 36 นาที โดยถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยไตร่ตรอง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยจะมีการไต่สวนครั้งต่อไป ในวันที่ 5 เม.ย.

AHEAD TAKEAWAY

แม้เหตุ กราดยิงที่นิวซีแลนด์ จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดตามหลังมานั้น ยังส่งผลต่อผู้คนในวงกว้าง ด้วยผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีในทางผิดๆของผู้ก่อเหตุ และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์(?)ของคนจำนวนมาก

ประเด็นเรื่องการไลฟ์ภาพหรือเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะใน Facebook และสื่อออนไลน์อื่นๆนั้น เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมาโดยตลอด ซึ่งก็ดูเหมือนจะยังเป็นปัญหาที่ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก และผู้เกี่ยวข้อง ยังไม่สามารถหาทางป้องกันได้

แม้จะพยายามเพิ่มจำนวนสตาฟฟ์ และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับคัดกรองคอนเทนต์ประเภทนี้มาใช้ หลังเกิดเหตุพ่อลูกไลฟ์สดการฆ่าตัวตายในบ้านเรา เมื่อสองปีก่อน แล้วก็ตาม

จนเป็นที่มาของการเผยแพร่เหตุการณ์ที่ไครสต์เชิร์ชไปทั่วโลกในแบบสดๆ อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ความหละหลวมในการควบคุมคอนเทนต์ของ Facebook และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ ทำให้โซเชียลมีเดีย กลายเป็นเครื่องมือใน “ประกาศเจตนารมณ์” ของ ทาร์แรนต์ และผู้ก่อเหตุคนอื่นๆ ในฐานะกลุ่มขวาจัด ที่มีจุดยืนต่อต้านผู้อพยพ (ในนิวซีแลนด์ ชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศ คือประมาณ 4 หมื่นคนเศษๆจากการสำรวจเมื่อปี 2013 คิดเป็นราว 1% เท่านั้น)

ที่หนักข้อยิ่งกว่า ก็คือแม้คลิปต้นฉบับตามแพลตฟอร์มต่างๆจะถูกลบทิ้งหลังเกิดเหตุ แต่ก็ไม่เร็วพอที่จะไม่ให้มีการถูกดาวน์โหลดเก็บไว้ ทั้งจากกลุ่มคนที่มีความเห็นแบบเดียวกับ ทาร์แรนต์ หรือแม้แต่คนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์

โดยเฉพาะคนกลุ่มหลังที่แชร์คลิปเหตุการณ์นี้ต่อไป ด้วยเหตุผลต่างๆ อาจจะเพราะต้องการตำหนิหรือแสดงให้เห็นความโหดร้ายของ ทาร์แรนต์ กับพรรคพวก หรือแม้แต่การไม่ทันคิดอะไร เพียงแค่ต้องการเรียกยอดไลค์ หรือ engagement ในเพจของตนเท่านั้น

เพราะสุดท้าย การกระทำลักษณะนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการตกเป็นเครื่องมือของ ทาร์แรนต์ และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง ในการเผยแพร่ความเชื่อแบบผิดๆออกไปสู่วงกว้างอยู่ดี

เจ้าหน้าที่คัดกรองคอนเทนต์ของ Facebook โวยสภาพการทำงานย่ำแย่สุดขีด

AHEAD ASIA เคยนำเสนอไปแล้วว่าเจ้าหน้าที่คัดกรองคอนเทนต์ของ Facebook (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอาท์ซอร์ส) ต้องทำงานอย่างหนักภายใต้สภาพแวดล้อมที่กดดัน เพื่อสกัดไม่ให้ภาพข่าวที่ไม่เหมาะสม ข่าวปลอม ฯลฯ ถูกเผยแพร่ไปในโลกออนไลน์

จนหลายคนล้มป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อต้องนั่งตรวจสอบและดูภาพหรือข้อความเหล่านี้ตลอดเวลา

แน่นอนว่ากลไกป้องกันการอัพโหลดไฟล์ที่หละหลวมของ Facebook ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง (แต่ที่จริงแล้ว ยังมีสื่อออนไลน์อีกหลายแพลตฟอร์มที่ไม่มีแม้แต่มาตรการป้องกันการแชร์ข่าวที่บิดเบือน หรือไม่เหมาะสมด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นแอพรับส่งข้อความส่วนตัว)

แต่สำคัญไปกว่านั้น อาจจะเป็นความรู้ และความคิดของผู้ใช้งานด้วย ที่ควรจะต้องพิจารณาทุกครั้งว่าสิ่งที่จะพิมพ์หรือแชร์ออกไป จะสร้างประโยชน์ให้กับใครได้หรือไม่ หรือจะส่งผลเสียกับใครรึเปล่า

เพราะคงป่วยการที่จะประณาม ทาร์แรนต์ หรือตำหนิ Facebook

ขณะที่เรายังส่งต่อ “มลภาวะทางความคิด” ออกไปสู่คนรอบตัวเรา โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือหวังแค่ยอดไลค์ ยอด engagement โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา

เรียบเรียงจาก

Social media firms fight to delete Christchurch shooting footage

Removed 1.5 Million Videos of New Zealand Mosque Attack: Facebook

New Zealand shooting: Facebook says it removed 1.5 million videos of mosque attack within 24 hours

New Zealand PM’s office received manifesto minutes before shooting

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
19
Shares
Previous Article
Waymo

Waymo : รถยนต์ไร้คนขับ บนถนนสู่อนาคต

Next Article
เสรีกัญชา

เสรีกัญชา ใครได้ ใครเสีย..?

Related Posts