เสรีกัญชา

เสรีกัญชา ใครได้ ใครเสีย..?

เห็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย เรื่อง เสรีกัญชา มาระยะใหญ่ๆ ผมเห็นคนไทยหลายคนสนอกสนใจพืช mega trend ตัวนี้กันมากเหลือเกิน เลยอยากจะมาบอกเล่าในมุมมองของผมว่า หากนโยบาย เสรีกัญชา เกิดขึ้นได้จริงๆ ผลกระทบที่มีกับประเทศไทยจะเกิดในแง่มุมไหนบ้าง

ก่อนจะเริ่มต้น ผมต้องบอกก่อนว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนเสรีกัญชามาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว และเคยเขียนไว้ในเฟสบุ๊คเมื่อนานมาแล้ว

แต่หลังจากการศึกษาธุรกิจกัญชามาในระดับหนึ่ง มุมมองที่มีต่อตลาดกัญชาเสรีของผมก็เปลี่ยนไป

แน่นอน กัญชาเป็นพืชที่ดี ที่เราควรสนับสนุนให้มันถูกกฏหมาย

แต่เมื่อกัญชาถูกกฏหมายแล้ว คนไทยจะร่ำรวยเพราะกัญชาจริงหรือไม่..? อันนี้ผมชักไม่แน่ใจ

 

กัญชาแพงเพราะอะไร?

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจข้อเท็จจริงทางเศรษฐศาสตร์กันก่อน

ที่กัญชาแพง ไม่ได้เป็นเพราะมันปลูกยากหรือหายากแบบพวกเห็ดทรัฟเฟิล หรือมัสซึทาเกะ แต่ที่แพงเพราะกฏหมาย และคุณสมบัติของมัน ทำให้ supply จำกัด

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อ supply น้อย ของหายาก ราคาก็จะสูงขึ้นจากความแตกต่างของ demand และ supply

ทำให้สารสกัดจากกัญชาในยุคปัจจุบันซื้อขายกันในราคาสูงระดับกิโลละ 600,000 บาทโดยประมาณ

ดังนั้น ถ้าเกิดกฏหมายกัญชาเสรีเกิดขึ้นเมื่อไหร่ supply ของกัญชาในประเทศไทยจะเพิ่มๆๆ จนสุดท้าย แม้ demand จะมาก แต่การเพิ่มแบบ exponential ของ supply ในระยะยาว แนวโน้มราคาก็จะถูกลงในที่สุด ไม่ต่างจากพืชเศรษฐกิจอื่นๆ

บางคนอาจจะบอกว่า ถ้างั้นส่งออกกัญชาสิ ในเมื่อ demand ในตลาดโลกต้องการกัญชาทางการแพทย์สูงมากๆ ดังนั้น คนไทยจะรวยจากการส่งออกกัญชาทางการแพทย์ให้กับต่างประเทศ

 

หัวใจของกัญชา

ปัญหาก็คือ การปลูกกัญชาทางการแพทย์ แตกต่างจากการปลูกกัญชาแบบปกติชาวบ้านทั่วไปมากครับ

เราต้องเข้าใจก่อนว่าหัวใจของกัญชาคือ สารเคมีที่มีชื่อว่า Cannabinol ที่พบในกัญชา มีสรรพคุณทางการแพทย์เยอะแยะมหาศาล ทั้งช่วยเรื่องความเครียด โรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ ภูมิแพ้ เพิ่มความอยากอาหาร ลดปวด ฯลฯ อีกมาก

สาร Cannabinol นั้นแบ่งออกเป็นสองแบบตามองค์ประกอบเคมี แบบแรกชื่อว่า THC (Tetrahydrocannabinol) เป็น Cannabinol ที่ส่งผลด้าน mental เป็นหลัก

และตัวที่สองชื่อ CBD (Cannabidiol) เป็น Cannabinol ที่ส่งผลด้าน physical เป็นหลัก

ทางการแพทย์จำเป็นจะต้องแบ่งการใช้งาน Cannabinol ทั้งสองแบบ เพื่อผลเฉพาะทาง เช่น รักษาโรคซึมเศร้าจะใช้ THC Oil ส่วนรักษามะเร็งจะใช้ CBD Oil

ทั้ง THC และ CBD นี้มีอยู่ในกัญชาแต่ละสายพันธุ์ มีความเข้มข้นมากน้อยแตกต่างกัน เช่น กัญชาสายพันธ์ุ Sativa ซึ่งเป็นสายพันธ์ุกัญชาเขตร้อน จะมีความเข้มข้นของ THC สูงกว่า CBD ในขณะที่สายพันธ์ุ Indica ซึ่งเป็นสายพันธ์ุกัญชาเขตหนาว จะมีความเข้มข้นของ CBD สูงกว่า THC

สายพันธ์กัญชาในโลกทุกวันนี้ เป็นสายพันธ์ที่เกิดจากการ Breed ผสมระหว่าง Sativa กับ Indica (ที่จริงมีอีกสายพันธ์ุนึงชื่อว่า Ruderalis ซึ่งมีความเข้มข้นของ Cannabinol ต่ำกว่า แต่ขอข้ามไปละกันครับ ไม่งั้นจะยาวเกิน) แทบทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละสายพันธ์ก็จะถูกผสม ปรับปรุงพันธ์ให้มีความเข้มข้นของ THC และ CBD แตกต่างกันไป

 

ฟาร์มปลูกพืชแบบ Indoor ด้วย LED ที่ควบคุมแสงที่เหมาะกับการโตของกัญชาโดยเฉพาะ ซึ่งฟาร์มแบบนี้เพิ่มขึ้นทั่วโลกเป็นดอกเห็ด และในที่สุด ปริมาณกัญชาที่ปลูกเพื่อการแพทย์ก็จะไล่ตาม demand ทันภายในไม่กี่ปี

ปลูกกัญชา? ไม่ง่ายอย่างที่คิด

สองประเด็นสำคัญ ที่ผมอยากพูดถึงก็คือ…

1. การจัดการสายพันธ์ุกัญชาทางการแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย

ดังนั้นหากต้องการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ประชาชนคนทั่วไปจำเป็นจะต้องมีสายพันธ์ุกัญชาที่มี Genotype (รูปแบบพันธุกรรม) ตรงเป๊ะๆ กับแม่พันธ์ุ ซึ่งคุณอาจจะคิดว่า แค่หาเมล็ดพันธ์ของสายพันธ์ุ ที่ต้องการมาปลูกก็ได้แล้วนี่

แต่คุณเข้าใจผิดครับ แม้คุณจะได้เมล็ดพันธ์ุที่มี Genotype ถูกต้องตามที่ต้องการ แต่ทุกๆ รุ่นที่ปลูกของกัญชา ต้นกัญชามักจะมีการกลายพันธ์ุ ทำให้เกิด Phenotype (รูปแบบที่ปรากฎ) ที่แตกต่างไปจากรุ่นแม่ เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ สายพันธ์ุที่คุณมีก็จะมีสเปคที่แตกต่างจากที่แพทย์ต้องการในที่สุด

ซึ่งวิธีการรักษาไม่ให้กัญชากลายพันธ์ุ จะต้องมีการดูแลรักษาแม่พันธุ์ รวมถึงการใช้เทคนิคการทำ Micropropagation (เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ) จากต้นแม่ ซึ่งจะทำให้กัญชารักษา Genotype ที่สำเนาถูกต้องกับต้นแม่แบบ 100%

แต่การทำ Micropropagation นั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้และเครื่องมือแล็บในการตัดเนื้อเยื่อและเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งประชาชนคนธรรมดาทั่วไปคงลำบากมากที่จะมีแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

พูดง่ายๆ ก็คือ คนธรรมดาสามัญ ไม่ง่ายเลยที่จะปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ได้

2. การจัดการฟาร์มกัญชา และบริหารต้นทุนการปลูก

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาที่สำคัญที่ผมเคยพูดถึงไปแล้ว เรื่องเทคโนโลยีการเกษตรจะทำให้ต้นทุนสินค้าเกษตรต่ำลงเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่กัญชา

ปกติแล้วการปลูกกัญชาแบบเอาท์ดอร์ จะเสียเปรียบการปลูกแบบอินดอร์ เนื่องจากกัญชาเป็นพืชที่ออกดอกตามฤดูกาล (Photoperiodic) นั่นทำให้เราไม่สามารถปลูกกัญชาได้ตลอดปี แต่การปลูกกัญชาในร่มนั้น สามารถปลูกแบบสมาร์ทฟาร์ม โดยใช้ระบบควบคุมแสงเพื่อหลอกให้กัญชาเข้าใจว่าเป็นฤดูออกดอก ทำให้กัญชาสามารถปลูกได้ตลอดปีภายในร่ม

แต่แน่นอนว่าการปลูกในร่ม นั้นมีเงินลงทุนสูงกว่าการปลูกเอาท์ดอร์มาก เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มขึ้นมา

บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเทคโนโลยีการปลูกกัญชาแบบอินดอร์ โดยใช้เทคโนโลยี สมาร์ทฟาร์ม, Aquaponic (การพ่นสารละลายใส่รากโดยตรง เพื่อให้พืชได้ สารอาหารทั้งหลักและรองอย่างเหมาะสม โดยใช้วัตถุดิบน้อยกว่า hydroponic ที่เป็นการให้สารอาหารละลายในน้ำเพื่อไหลผ่านราก) และ IoT จะช่วยให้สามารถปลูกกัญชาคุณภาพสูงได้ทั้งปี

ตัวอย่างแปลงที่ใช้การให้สารอาหารแบบ aquaponic

เนื่องจากฟาร์มสามารถควบคุมทั้ง Micronutrient (สารอาหารรอง), Macronutrient (สารอาหารหลัก), อุณหภูมิ, ความชื้น, แสง ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะการปรับความยาวคลื่นของ LED ทำให้กัญชาโตเร็วและเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าแสงธรรมชาติ ซึ่ง LED ชุดนึงก็ราคาหลายหมื่นถึงหลักแสนก็มีนะครับ

เทคโนโลยีต่างๆ ที่ผมว่ามานี้ ทำให้ผลผลิตต่อตารางเมตรของกัญชาจากสมาร์ทฟาร์มของบริษัทยักษ์ใหญ่นั้น ทิ้งห่างการปลูกกัญชาตามธรรมชาติไปมากขึ้นเรื่อยๆ และต้นทุนของการปลูกก็ต่ำลงเรื่อยๆ เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคการปลูกที่ซับซ้อนเช่นการทำ Topping, Super Cropping, Low Stress Training, ScrOG, Night Break Lighting ฯลฯ อีกมากมายที่จะรีด yield กัญชาออกมาให้ได้มากที่สุด

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนใช้เทคโนโลยีและ know-how ขั้นสูง ที่เกษตรกร หรือคนทั่วไปแทบจะไม่สามารถลงทุน และแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ได้เลย

ไม่นับรวมห้องแลปวิจัย การพัฒนาปรับปรุงสายพันธ์ุกัญชาให้ดีขึ้นด้วย Artificial Selection, Gene Engineering ในระยะยาวกัญชาของบริษัทยักษ์ใหญ่ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กัญชาที่คนทั่วไปปลูกก็จะกลายพันธ์ุไปเรื่อยๆ เช่นกัน

ดังนั้น ถ้าคุณเห็นภาพในรายละเอียดของธุรกิจฟาร์มกัญชา ทั้งคุณภาพ ทั้งปริมาณ ทั้งต้นทุน ยังไงๆ บริษัทกัญชายักษ์ใหญ่ (ซึ่งได้ license ปลูกในไทยแล้วหลายเจ้า) ก็กินขาดเกษตรกรทั่วไปในที่สุด

 

ตกลงใครได้? ใครเสีย?

ดังนั้น ผมย้อนกลับไปคำถามเดิม..

ถ้าคนธรรมดา ไม่มีเทคโนโลยีที่จะปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ได้ แถมกัญชาปกติธรรมดาสามัญ ก็ยังส่งออกไปขายต่างประเทศได้ยากลำบาก

กัญชาเสรีที่เกิดขึ้น คนปลูกจะเอาไปขายให้ใคร ในเมื่อทั้งประเทศปลูกกันได้หมดอย่างอิสระ..? ปลูกแล้วเก็บไว้สูบหรือบริโภคเองน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะที่สุด

แต่เมื่อ supply มีมาก ใครๆ ก็ทำได้ ราคากัญชาในระยะยาวก็จะไม่ต่างจากพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่วิ่งตามกลไกตลาด หากเปิดกัญชาเสรี ในระยะยาวกัญชามันก็จะไม่แพงอีกต่อไปแล้ว เพราะมันเป็นของถูกกฏหมายมีมากมายดาษดื่น กัญชาปลูกง่ายมากครับ ทิ้งเมล็ดไว้ยังขึ้นตามข้างทางได้ง่ายๆเลย

ทีนี้ “ใครล่ะที่เสีย”..?

กัญชาเป็น mega trend ที่ดีต่อสุขภาพ มากกว่าบุหรี่และเหล้าหลายเท่าตัวครับ ดังนั้น ภาษีสรรพสามิตที่รัฐบาลเคยเก็บได้จากเหล้าและบุหรี่ โดยประมาณ 2 แสนล้านบาท (ถ้าผมจำไม่ผิด) จะหายไปอย่างฮวบฮาบ เพราะประชาชนสามารถสูบกัญชาแทนบุหรี่หรือเหล้าได้แล้วอย่างถูกกฏหมาย (ซึ่งเอาจริงๆ ในแง่สังคม ผมสนับสนุนนะ เพราะมันดีกว่าด้วยประการทั้งปวง ปัญหาสังคมของกัญชาน้อยกว่าเหล้าอย่างเทียบไม่ได้เลย)

แต่ในทางการคลังนี่สิครับ

ภาษีสรรพสามิตที่หายไปตรงนี้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องหาภาษีจากแหล่งอื่นมาชดเชย ทางไหนล่ะครับ นิติบุคคล? VAT? หรือภาษีอะไรที่เราจะต้องจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้มาซึ่งกัญชาเสรี

ดังนั้นนโยบายกัญชาเสรีเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับ ผมยืนยัน

แต่ผลในทางเศรษฐศาสตร์ที่เราคิดกันว่า ไทยจะฟื้น คนไทยจะรวยจากกัญชา ยังคงเป็นเรื่องที่ห่างไกลความเป็นจริงอยู่พอสมควร

อ่านเพิ่มเติม

Cannabiz : เมื่อกัญชาเป็นธุรกิจบนดิน

MedChewRx หมากฝรั่งสายเขียว

 

Our guest contributor: นิรันดร์ ประวิทย์ธนา นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิจัยด้าน Cognitive Science ผู้ก่อตั้ง Omicron Laboratory ศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์เพื่อการเงินและการลงทุน Market Anyware ฟินเทคสตาร์ทอัพด้านการลงทุน และ AVA Advisory ปัญญาประดิษฐ์แนะนำการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

ติดตาม guest contributor คนอื่นๆของเราได้ ที่นี่

ที่มาของ Creative Talk, Stats และ Vision

8 เทคนิคการขายให้ลูกค้ากลุ่ม B2B      

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
313
Shares
Previous Article
กราดยิงที่นิวซีแลนด์

Facebook แจงลบคลิปกราดยิงที่นิวซีแลนด์ กว่า 1.5 ล้านครั้งในวันเดียว

Next Article
Starbucks

Starbucks จัดงบ 3 พันล้าน ปั้นสตาร์ทอัพสายรีเทล/ฟู้ดเทค

Related Posts