ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตอันใกล้ก่อนถึงรถยนต์ไร้คนขับนั้น เราอาจได้พบกับรถยนต์ที่สามารถรับรู้อารมณ์ของคนขับได้
เช่น เมื่อคุณหาวหรือเริ่มขยี้ตาระหว่างขับ อาจมีคำถามจากผู้ช่วยอัจฉริยะ ว่า “นายง่วงแล้ว…แวะกินกาแฟก่อนไหม?”
หรือในจังหวะที่คุณหัวร้อนกำลังจะไฝว้กับคันข้างๆ ขณะที่ปาดกันไปมาอยู่นั้น รถยนต์คันเก่งของคุณก็จะรับรู้ได้ทันที ว่าคุณกำลังโกรธอยู่ และมันอาจเปิดเพลงที่ชอบกล่อมให้คุณใจเย็นลง เพื่อให้กลับมามีสติขับรถอย่างปลอดภัยได้อีกครั้ง
Affectiva สตาร์ทอัพที่ก่อตั้ง และถูกบ่มเพาะโดย MIT Media Lab ศูนย์สร้างนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก ที่มีปรัชญาว่าจะสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกนี้เท่านั้น คือเจ้าของไอเดียเปลี่ยนรถคันเก่งของคุณให้เป็นเหมือน บัมเบิ้มบี แห่ง Transformers
โดย ธานิยา มิชรา ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา AI ของ Affectiva อธิบายว่า
“เราต้องการรถยนต์ระบบ AI ที่ครบครันจริงๆ ไม่ใช่แค่สนใจ และหันมองออกไปนอกรถเท่านั้น แต่สามารถรับรู้และเข้าใจสภาวะทางอารมณ์ของคนที่นั่งอยู่ข้างในได้”
ซึ่งการติดตั้งก็ไม่ยากอะไรเพียงแค่ติดกล้อง คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มเติม ก็สามารถเริ่มตรวจจับอารมณ์ของคนขับรถได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การใช้ AI เพื่อรับรู้อารมณ์ของคนขับรถนั้น เป็นเพียงการทดลองอย่างหนึ่งของ Affectiva เพราะจริงๆ แล้วสตาร์ทอัพรายนี้ทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับการพัฒนาให้ AI สามารถจับ และรับรู้อารมณ์ของมนุษย์ได้ เพื่อให้ในอนาคต AI จะสามารถทำงานร่วมกับคนได้ดีขึ้น
AHEAD TAKEAWAY
จริงๆ แล้วเรื่องการใช้ AI มาจับอารมณ์คนขับรถนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อเกือบสองปีที่แล้ว ทีมงาน AHEAD ASIA เคยคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้าน ปัญญาประดิษฐ์ ที่ปรึกษาเรื่อง Smart City ของประเทศสิงคโปร์นั้น ก็มีไอเดียนี้อยู่ด้วยเช่นกัน (ซึ่งผลสำรวจถึงความพร้อมเกี่ยวกับรถไร้คนขับ สิงคโปร์ ก็จัดเป็นชาติที่มีความพร้อมลำดับต้นๆของโลกเช่นกัน)
แต่สิ่งที่ทำให้เรามองว่า AI สำหรับใช้จับอารมณ์ของมุนษย์นั้นน่าสนใจ มีอยู่สองประเด็นได้แก่
ประเด็นแรก…คือวิธีนำไปประยุกต์ใช้มากกว่าแค่รถยนต์ไร้คนขับ เช่น ต่อไปโทรศัพท์อาจจะรู้ว่าคุณกำลังอารมณ์เสีย อาจจะแนะนำให้คุณไม่รับสาย หรือส่งข้อความแทนคุณว่าเดี๋ยวจะโทรกลับ และเตือนให้คุณโทรกลับตอนอารมณ์ดีขึ้น
อาจใช้ในการทดสอบหนัง โฆษณา หรือวีดีโอเกม ว่าคุณชอบหรือไม่ชอบ ใช้ในการเรียนออนไลน์ร่วมกับคอร์สเรียนที่ออกแบบขึ้น
นำไปใช้เป็นระบบจ่ายเงินแบบใหม่ในโรงละคร หรือ เดี่ยวไมโครโฟน ของ โน๊ตอุดม อาจเอามาใช้ระบบ จ่ายเมื่อขำ (Pay per laugh)
หรือที่ทาง Affectiva เองก็พัฒนาอยู่ และให้ความสำคัญคือ นำมันมาใช้ทำความเข้าใจอารมณ์ของเด็กออทิสติก ที่อาจสื่อสารอารมณ์ของพวกเขาได้ไม่เก่งเท่ากับคนทั่วไป
ส่วนประเด็นที่สองนั้นหนีไม่พ้นเรื่องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว เพราะหากสามารถจับอารมณ์ได้อย่างเที่ยงตรงแล้ว หมายถึง Affectiva จะรู้และมีข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกของเราอยู่แทบตลอด ซึ่งทางสตาร์ทอัพรายนี้ยืนยันว่า จะใช้มันอย่างรอบคอบที่สุด
ซึ่งนี่ก็เป็นการตอกย้ำว่า นวัตกรรมใหม่ๆ หรืออะไรก็ตามนั้นเป็นเหรียญสองด้านเสมอ
เรียบเรียงจาก
When our devices can read our emotions: Affectiva’s Gabi Zijderveld
Affectiva launches emotion tracking AI for drivers in autonomous vehicles
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า