ในยุคที่เครื่องจักรและ AI กลายเป็นเทคโนโลยีสุดฮอตที่ถูกนำมาใช้ และมีการแข่งขันสูงในเรื่องการพัฒนา เราไปดูกันว่า 5 ชาติผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ ในยุคปัจจุบันนั้น มีใครบ้าง โดยวัดจากจำนวนการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวบรวมไว้โดย Times Higher Education
#5
เยอรมนี
เยอรมนี วางยุทธศาสตร์ระยะยาวไว้ โดยตั้งเป้าว่าจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านปัญญาประดิษฐ์ให้ได้ เนื่องจากในปัจจุบัน ยักษ์ใหญ่แห่งยุโรปกำลังประสบปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ เพราะอัตราการเกิดที่ลดลงเรื่อยๆ และจำเป็นต้องหันไปพึ่งพาแรงงานจักรกลแทน (ปัจจุบัน มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 47.9%)
เพื่อการนี้ ทางภาครัฐได้มอบหมายให้ องค์กรวิจัยอิสระไม่แสวงกำไร สมาคมมักซ์พลังค์ (Max Planck Society) ซึ่งได้รับทุนจากทั้งรัฐบาลสหพันธ์และรัฐบาลรัฐ เป็นแกนนำ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคนิคสองแห่ง และหน่วยงานอื่นๆของรัฐที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดยังทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยกับภาคเอกชนในประเทศอย่าง Porsche, Daimler และ Bosch รวมถึง Amazon จากสหรัฐฯ ซึ่งมีห้องวิจัยที่นี่ ผลคือระหว่างปี 2011 ถึง 2015 มีการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ AI มากเกือบ 8,000 ชิ้น
#4
สหราชอาณาจักร
ถึงจะเป็นชาติที่มีภาพอนุรักษ์นิยม แต่สหราชอาณาจักรกลับมีความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์ในระดับหัวแถวของโลกเลยทีเดียว วัดจากแง่ของการจดสิทธิบัตรด้าน AI คิดเป็นจำนวนรวมแล้วถึง 10,100 ฉบับ ในช่วงระหว่างปี 2011-15
และถ้าลงลึกเฉพาะด้าน deep learning เพียงด้านเดียวด้วยแล้ว สหราชอาณาจักรนั้นจะขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ทันที
ยูเค ยังเป็น “บ้าน” ของหนึ่งชื่อที่คนในแวดวงปัญญาประดิษฐ์ หรือแม้แต่คนทั่วไปอาจจะคุ้นเคยกันดี เพราะ DeepMind Technolgies Limted ผู้พัฒนา AlphaGo นั้น ก็ก่อตั้งขึ้นที่นี่ เมื่อปี 2010 ก่อนจะถูกซื้อกิจการไปโดย Google ในอีกสี่ปีถัดมา
ปัจจุบัน DeepMind คือหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีนี้ ด้วยจำนวนนักวิจัยในสังกัด กว่า 250 คน มีขอบเขตตั้งแต่นักคณิตศาสตร์ ไปจนถึงนักประสาทวิทยา
#3
ญี่ปุ่น
แม้ในระยะหลัง ญี่ปุ่นจะไม่ใช่ชาติมหาอำนาจด้านนวัตกรรมเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ก็ยังถูกจัดให้อยู่ในลำดับต้นๆของโลกเหมือนเดิม ด้วยจำนวนสิทธิบัตรด้านปัญญาประดิษฐ์ 11,700 ฉบับ ที่มีการจดไว้ระหว่างปี 2011-2015 รวมถึงความพยายามของภาครัฐในการผลักดันให้มีการนำเครื่องจักร หุ่นยนต์ และ AI มาทำงานแทนมนุษย์จริงๆมากขึ้น
เหตุผลหลักๆของแนวคิดดังกล่าว มาจากการที่ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัว เป็นเหตุให้ขาดแคลนแรงงานมนุษย์ เห็นได้จากตัวเลข 55% ของงานในญี่ปุ่นนั้น สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตโนมัติทำงานแทนได้แล้ว ซึ่งก็ใกล้เคียงกับตัวเลข 71% ที่ทาง Times Higher Education คาดการณ์ไว้ว่าด้วยระดับเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่างๆสามารถทดแทนมนุษย์ได้แล้ว
ด้วยปริมาณการวิจัยและพัฒนา บวกกับอัตราแรงงานมนุษย์ที่ลดลงเรื่อยๆ และที่สำคัญที่สุดคือความมุ่งมั่นในด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของคนในประเทศ น่าจะทำให้ญี่ปุ่นยังรักษาตำแหน่งในกลุ่มหัวแถวของวงการไว้ได้อีกนาน
#2
สหรัฐอเมริกา
ผู้เชี่ยวชาญเตือนสหรัฐฯ ระวังถูก จีน แซงเป็นมหาอำนาจเทคโนโลยี
เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในกลุ่มท็อป 5 สหรัฐอเมริกา และ จีน คือสองชาติที่เป็นมหาอำนาจด้านปัญญาประดิษฐ์ตัวจริงเสียงจริง เห็นได้จากตัวเลขจำนวนสิทธิบัตร ระหว่างปี 2011-2015 ที่สูงเกือบ 25,500 ฉบับ หรือมากกว่าญี่ปุ่นในอันดับสามเกินหนึ่งเท่าตัวเลยทีเดียว
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นชาติที่มีบริษัทด้าน AI มากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนกว่า 1,000 แห่ง และตัวเลขลงทุนรวมกันแล้วกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 3 แสนล้านดอลลาร์) นำโดยยักษ์ใหญ่ที่เรารู้จักกันดี อย่าง IBM, Microsoft, Google, Facebook และ Amazon
#1
จีน
ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ จีน ยังมีสถานะเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่เต็มไปด้วยปัญหามลพิษ ตัดมา ณ ปัจจุบัน พญามังกรตัวนี้เติบโตจนเป็นผู้นำในหลายๆด้านไปแล้ว ด้วยแรงหนุนจากภาครัฐ และความร่วมมือจากภาคเอกชนในแทบจะทุกๆด้าน
นอกจากพลังงานทดแทน และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้ว AI ก็ยังเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จีนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ถึงขนาดประกาศให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในด้านนี้โดยตรง ภายในปี 2030 ด้วย
ผลสำรวจจาก Times Higher Education พบว่าในรอบห้าปี จีน ทำการจดสิทธิบัตรต่างๆที่เกี่ยวกับ AI มากถึง 41,000 ฉบับ มากกว่าสหรัฐฯ ในอันดับสอง เกือบเท่าตัว และยังไม่มีทีท่าจะแผ่วลงง่ายๆ ด้วยความช่วยเหลือจากบริษัทระดับโลกอย่าง Tencent, Alibaba และ Baidu
ข้อได้เปรียบของจีน คือการที่แต่ละบริษัทให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการส่งมอบข้อมูลมหาศาลในมือ เพื่อใช้ในการพัฒนาร่วมกัน และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ไมค์ เวอร์นอล แห่งกองทุน Sequoia เชื่อว่า จีน จะเป็นเบอร์หนึ่งในด้านเทคโนโลยีแทนในที่สุด
AHEAD TAKEAWAY
ความสำเร็จของจีนในการเติบโตด้านเทคโนโลยี เป็นผลจากการผลักดันอย่างเต็มตัวของภาครัฐ ที่ไม่ใช่แค่คำคุยหรือโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นเป้าหมายจริงๆที่ต้องการเป็น “ศูนย์กลางนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์” ภายในปี 2030
เพราะเล็งเห็นว่า AI นั้นจะมีความสำคัญอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศและของโลก
เห็นได้จากตัวเลขที่ Gartner ที่ปรึกษาด้านไอที ประเมินว่าในอีกสามปีนับจากนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลก เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ จะสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ (12.6 ล้านล้านบาท) และจะยังสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคที่ทุกอย่างกลายเป็นระบบอัตโนมัติ
ด้วยความที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลจีนจึงเน้นส่งเสริม AI ตั้งแต่ต้นน้ำ คือปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาใหม่ให้เน้นเรื่องนี้มากขึ้น และเป็นไปลักษณะสหวิทยาการ คือเรียนรู้แล้วสามารถนำไปใช้งานได้จริง ในลักษณะประยุกต์กับเรื่องต่างๆ
ขณะเดียวกัน ก็ได้ความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ในการส่งต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการพัฒนา AI โดยที่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของประเทศ ก็จะได้รับมอบหมายให้ดูแลแต่ละเทคโนโลยีโดยเฉพาะ เช่น Baidu ดูแลและพัฒนารถไร้คนขับ หรือ Tencent พัฒนา AI สำหรับวินิจฉัยโรค
และด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ไม่มีใครได้เปรียบแบบเบ็ดเสร็จ โอกาสที่จีนจะขึ้นเป็นมหาอำนาจได้จากความร่วมแรงร่วมใจของภาครัฐและเอกชนจึงมีสูงมาก
ขณะที่ในแถบอาเซียนนั้น ค่าเฉลี่ยการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในธุรกิจก็เพิ่มขึ้นเป็น 14% แล้ว โดยที่ผลสำรวจพบว่า ไทย ถือเป็นอันดับสองที่มีการนำ AI มาใช้ คือ 17.1%
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะวางใจได้ เพราะรายงานจาก IDC พบว่าหลายองค์กรยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ซึ่งก็อาจต้องรอดูว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งในเรื่องการแก้กฎหมายให้บริษัทฯเหล่านี้ ดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการเร่งพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะกับยุคสมัย
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป จนเราถูกชาติอื่นๆรอบตัวแซงไปอีกครั้ง
เรียบเรียงจาก
5 Countries Leading the Way in AI
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า