จิม แฮ็คเก็ตต์ ซีอีโอของ Ford ยอมรับการผลักดันให้ รถไร้คนขับ ถูกนำมาใช้งานจริงบนท้องถนน คงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายกำลังพัฒนาอยู่ก็ตาม
เทคโนโลยีรถไร้คนขับนั้น เป็นเทรนด์หลักของอุตสาหกรรมรถยนต์ใรอบหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการที่ Uber เริ่มให้บริการรถโดยสารแบบไร้คนขับในพิตต์สเบิร์ก Waymo บริษัทลูกของ Alphabet ที่มีบริการแท็กซี่ไร้คนขับในแอริโซนา
ส่วน General Motors ทุ่มเงินถึง 580 ล้านดอลลาร์ (18,000 ล้านบาท) ซื้อกิจการของ Cruise Automation สตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้ในปี 2016 ส่วน มาร์ค ฟิลด์ส อดีตซีอีโอของ Ford ก็ตั้งเป้าว่าจะต้องเปิดตัวบริการแชร์และเรียกรถไร้คนขับให้ได้ภายในปี 2021
แต่ล่าสุด แฮ็คเก็ตต์ กลับแสดงความเห็นสวนทางกับซีอีโอคนก่อน ว่าด้วยเทคโนโลยีและบริบทในปัจจุบัน รถไร้คนขับนั้นยังได้รับการประเมินจากสื่อมวลชนและการตลาดไว้สูงกว่าความเป็นจริง
“ขอบเขตการใช้งานของมันคงจะถูกจำกัดในวงแคบๆ เพราะปัญหาในการพัฒนานั้นซับซ้อนมาก” ซีอีโอของ Ford กล่าวกับ Detroit Economic Club
ประเด็นคือ แฮ็คเก็ตต์ ไม่ใช่ผู้บริหารในอุตสาหกรรมนี้รายเดียว ที่เชื่อว่ารถไร้คนขับยังไม่พร้อมใช้งานจริง
เพราะแม้แต่ จอห์น คราฟท์ซิค ซีอีโอของ Waymo ยอมรับว่าการจะปล่อยให้รถขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ 100% แบบไม่มีคนสแตนด์บายรอควบคุมนั้น จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุบัติเหตุระหว่างการทดสอบของ Uber ที่แอริโซนา จนมีผู้เสียชีวิต เมื่อปีที่แล้ว ทำให้ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีนี้ลดลงไปนั่นเอง
AHEAD TAKEAWAY
แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตรถยนต์แทบทุกรายในอุตสาหกรรมเห็นพ้องกัน แต่การพัฒนา รถไร้คนขับ กลับมีข้อจำกัดมากมาย
ในสหรัฐฯนั้น แต่ละรัฐก็มีกฎหมายที่แตกต่างกัน สำหรับเรื่องนี้ ทำให้การทดสอบนั้นถูกตีวงแคบเฉพาะในรัฐที่อนุญาตให้รถไร้คนขับวิ่งบนท้องถนนได้เท่านั้น
ถัดมาคือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมหลายราย เห็นว่าเซนเซอร์สำหรับตรวจจับวัตถุที่เป็นเหมือนตาของรถไร้คนขับนั้น จำเป็นต้องมองเห็นได้ไกลและชัดเจนกว่านี้ เช่นเดียวกับตัวซอฟต์แวร์ที่จะต้องมีความแม่นยำและตอบสนองได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ ก่อนที่การทดสอบหรือใช้งานจริงจะขยายขอบเขตไปสู่พื้นที่อื่นๆได้
เพราะก่อนหน้านี้ เคยมีผลวิจัยพบว่ารถไร้คนขับนั้น ใช้เวลาในการตรวจจับคนผิวสีได้ช้ากว่าคนผิวขาว แม้จะไม่มากนัก แต่ก็ก่อให้เกิดความกังวลว่าเสี้ยววินาทีที่ต่างกันนั้น อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นก็ได้
ข้อจำกัดหลายเรื่องนี้ ทำให้ ราเควล เออร์ตาซุน หัวหน้าทีมวิจัยรถไร้คนขับของ Uber มองว่าคำถามสำคัญของรถไร้คนขับในเวลานี้ อาจไม่ใช่ “เมื่อไหร่” แต่เป็น “ที่ไหน” แทน
ปัจจุบัน รถไร้คนขับของแต่ละผู้ผลิตนั้นต่างก็ถูกพัฒนาในพื้นที่ขนาดเล็กแบบจำกัด เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมผลที่จะตามมา
“รถไร้คนขับนั้น จะต้องเริ่มทดลองและใช้งานจริงในพื้นที่เล็กๆก่อน จากนั้นจึงค่อยขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ความท้าทายของเราคือทำให้การขยายออกไปนั้นราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
แม้แต่ Tesla ซึ่งเป็นผู้นำในด้านนี้ ก็ต้องถอดระบบที่เรียกว่า full self-driving mode ออกจาก Model 3 รถรุ่นยอดนิยมของบริษัทเช่นกัน โดย อีลอน มัสก์ อธิบายว่าเพราะวลีดังกล่าวอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้งานได้
แต่หากมองในแง่การใช้งานแล้ว Tesla นั้นก้าวหน้ากว่าบริษัทอื่นๆพอสมควร
เมื่อระบบ Autopilot ที่บริษัทพัฒนาขึ้น สามารถควบคุมให้รถเปลี่ยนเลนได้เอง ควบคุมรถขณะวิ่งบนทางลาด ฯลฯ
ขณะที่เป้าหมายหลักนั้น มัสก์ เคยให้สัมภาษณ์ในพอดแคสต์รายการหนึ่งว่า คุณสามารถขึ้นไปนั่งหลับบนรถ และปล่อยให้รถพาคุณไปถึงจุดหมายได้เลย ซึ่งเจ้าตัวคุยว่าจะผลักดันให้เป็นจริงให้ได้ภายในปี 2020 ด้วย
ซึ่งหากทำได้จริง ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์อย่างที่นักวิเคราะห์รายหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่าเทคโนโลยีของ Tesla นั้นล้ำหน้าผู้ผลิตรายอื่นๆอยู่หลายช่วงตัว ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของรถ EV หรือแม้แต่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ
ผลสำรวจ AVRI เผย สิงคโปร์ รั้งอันดับ 2 ประเทศพร้อมใช้รถไร้คนขับ เนเธอร์แลนด์ เบอร์หนึ่งสองปีซ้อน
เรียบเรียงจาก
FORD TAPS THE BRAKES ON THE ARRIVAL OF SELF-DRIVING CARS
Elon Musk: Teslas Will Be Fully Self-Driving By Next Year
อ่านเพิ่มเติม
อุบัติเหตุรถไร้คนขับ ใครต้องรับผิดชอบ?
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า