คนนิยมโหลดแอพเดิมๆ

แอพใหม่เกิดยาก หลังสถิติยืนยันคนนิยมโหลดแอพที่คุ้นเคย มากกว่าลองของใหม่

สถิติยืนยันอุตสาหกรรมแอพพลิเคชั่นในปัจจุบัน เติบโตเฉพาะในแง่ปริมาณเท่านั้น แต่ในการใช้งาน คนนิยมโหลดแอพเดิมๆ ที่ไว้ใจได้ และมีฟีเจอร์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น มากกว่าจะลองเปลี่ยนไปใช้ของใหม่ที่ไม่คุ้นเคย จากการสำรวจและวิเคราะห์โดย เอริค เฝิง อดีตซีทีโอของ Hulu และ Flipboard

เฝิง ซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับกองทุน Kleiner Perkins Caulfield & Byers เขียนในบล็อกของตนว่า ณ ปัจจุบัน โอกาสที่นักพัฒนาหน้าใหม่จะประสบความสำเร็จจากการเขียนแอพ เป็นเรื่องยากกว่าที่ผ่านมา

ในบล็อกดังกล่าว เฝิง ยกข้อมูลจาก iTunes App Charts ของ Apple และการวิเคราะห์ของบริษัท App Annie พบว่าทุกวันนี้ แอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่เปิดตัวมาไม่ถึง 2 ปี ไม่สามารถไต่ขึ้นไปติดในกลุ่มท็อป 30 ของ App Store ที่มีให้ดาวน์โหลดมากกว่า 2 ล้านแอพฯเลย

สถาบันการเงินคาด Instagram Checkout อาจสร้างรายได้ทะลุ 3 แสนล้าน

เหตุผลหลัก ที่ทำให้แอพเดิมๆอย่าง Facebook, Instagram และ Twitter ยังคงอยู่ในท็อป 30 เป็นเพราะแอพเหล่านี้ สามารถต่อยอดประสบการณ์การใช้งานด้วยฟีเจอร์ใหม่ๆได้ ทำให้ ยูสเซอร์ไม่จำเป็นต้องย้ายไปใช้แอพใหม่ๆ ซึ่งมักจะมีข้อจำกัดอีกต่อไป

“ขณะที่จำนวนแอพใน App Store ยังขยายตัวออกไป กลายเป็นว่าการใช้งานจริงมันถูกจำกัดอยู่แค่ไม่กี่แอพเท่านั้น” เฝิง ระบุ

“Instagram ทำให้ภาพถ่ายบ้านๆดูดีได้ Whatsapp ทำให้การส่งข้อความเป็นของฟรี Waze ช่วยให้คุณรู้เส้นทางขับรถและช่วยประหยัดเวลา Spotify เป็นคลังเพลงที่เข้าถึงได้ง่ายๆทันทีที่คุณอยากฟัง Netflix และ Hulu ก็ให้ประสบการณ์แบบเดียวกันเวลาดูภาพยนตร์และซีรีส์ ฯลฯ”

เฝิง อธิบายว่าแอพส่วนใหญ่ ตั้งแต่โซเชียลเน็ตเวิร์ค จนถึงช้อปปิ้งนั้นอยู่ในเทรนด์นี้ทั้งหมด ยกเว้นเกม ซึ่งยูสเซอร์จำนวนมาก พร้อมจะมองหาอะไรใหม่ๆมาลองตลอดเวลา

ในกลุ่มท็อป 30 ของแอพเกมนั้น 85% เป็นเกมใหม่ๆที่เพิ่งปรากฎบน App Store ซึ่งอันดับต่างๆยังมีการเปลี่ยนแปลงทุกสัปดาห์ด้วย

แม้ไม่มีเหตุผลรองรับชัดเจนว่าเพราะอะไร คนถึงนิยมเลือกโหลดเกมใหม่ๆอยู่ตลอด แต่ เฝิง ใช้ประสบการณ์ส่วนตัววิเคราะห์ว่าเกมบนสมาร์ทโฟนนั้นส่วนใหญ่ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของยูสเซอร์ได้ หรือทำได้แค่ในช่วงสั้นๆ วงจรของเกมบนสมาร์ทโฟน จึงมักวนเวียนอยู่ที่การดาวน์โหลด ลองเล่น แล้วลบทิ้ง เพื่อไปลองเกมใหม่ๆต่อไป

เฝิง เสริมว่าการที่แอพใหม่ๆไม่สามารถเบียดขึ้นมาอยู่ในกลุ่มท็อป 30 ได้ แปลว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังตาย เพียงแต่นักพัฒนาอาจต้องเปลี่ยนเป้าหมายใหม่แทน

 

AHEAD TAKEAWAY

นับตั้งแต่ Apple เปิดตัว App Store เมื่อ 10 ก.ค. 2008 จำนวนแอพพลิเคชั่นที่เริ่มจากหลักหน่วย ก็ขยับขึ้นเป็นหลักร้อยในชั่วข้ามคืน และขยับไปแตะจำนวน 500 แอพอย่างรวดเร็ว

ผ่านมาสิบปีเศษ โดยอ้างอิงหลังจบไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 ปัจจุบัน App Store มีแอพให้เลือกดาวน์โหลดมากถึง 2 ล้านรายการ ขณะที่คู่แข่งอีกค่ายอย่าง Google Play Store ซึ่งหลากหลายและเปิดกว้างกว่า ก็มีแอพมากถึง 2.1 ล้านรายการ

แม้จะมีแอพให้เลือกใช้งานมากขนาดนี้ แต่ถ้าเราลองหยิบสมาร์ทโฟนส่วนตัวมาเปิดดู จะพบว่า คนนิยมโหลดแอพเดิมๆ อยู่ดี เพราะมีแอพที่เราใช้งานจริงๆเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น

สถิติระบุว่าเวลาส่วนใหญ่ที่เราใช้ไปกับสมาร์ทโฟนนั้น 20% หมดไปกับแอพโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ รองลงมาคือฟังเพลง 18% มัลติมีเดีย (วิดีโอต่างๆ) 10% เกม 10% ส่วนพฤติกรรมอื่นๆนั้น จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4%

สิ่งที่ เฝิง วิเคราะห์ไว้จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลยอะไร ยิ่งในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าแอพโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆนั้น พยายามรักษาฐานผู้ใช้งานของตน ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆลงไป เพื่อรั้งให้คนเหล่านั้นอยู่ในแพลตฟอร์มของตนนานขึ้นเรื่อยๆ

Facebook คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด การพยายามเพิ่มฟีเจอร์อย่าง Messenger, Marketplace, Stories หรือ Videos ฯลฯ ลงไป ไม่ใช่แค่เป็นการแข่งขันกับโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วยกันเท่านั้น แต่เท่ากับเป็นการข้ามเส้นแบ่งไปแข่งกับแอพกลุ่มอื่นๆ เช่น การส่งข้อความ, ค้าปลีก หรือ มัลติมีเดีย ด้วย

และหลายครั้งที่ฟีเจอร์ใหม่ๆซึ่งถูกเพิ่มเข้ามานั้น ก็เป็นไปในรูปของการซื้อ หยิบยืมไอเดีย หรือแม้แต่ลอกมาจากแอพอื่นๆก็มี

แอปชนแอป : เมื่อ Mark Zuckerberg สอนมวย Evan Spiegel แห่ง Snapchat

ในบ้านเราและประเทศใกล้เคียง แม้แต่ Grab ซึ่งเป็นแอพบริการเรียกรถ (ride hailing service) ก็เลือกที่จะไม่หยุดนิ่ง และพยายามพัฒนาตัวเองเป็น everyday app ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างการชำระเงิน บริการส่งของ ส่งอาหาร ฯลฯ ลงไป

Grab ต่อยอดแพลตฟอร์มครบวงจร ตั้งเป้ารายได้แตะ3หมื่นล้านก่อนสิ้นปี

เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน คือการดึงยูสเซอร์ให้อยู่ในระบบให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และยิ่งแอพหลักเหล่านี้ทำงานได้ดีเท่าไหร่ โอกาสที่คนจะเปลี่ยนใจไปลองผิดลองถูกกับแอพใหม่ๆก็มีน้อยลงเช่นกัน นั่นคือบทสรุปว่าแม้ในภาพรวม อุตสาหกรรมแอพฯจะโตขึ้นจริง แต่ก็เป็นในเรื่องปริมาณเท่านั้น

ในรอบหลายปีหลัง เราถึงไม่ได้เห็นแอพใหม่ๆสร้างชื่อขึ้นมาโดดเด่นมากนัก มีเพียง TikTok ซึ่งมียอดดาวน์โหลดทะลุ 1 พันล้านครั้งในเวลาอันสั้น แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆเช่นกัน

Facebook ฉกไอเดีย Tik Tok ปั้นแอพใหม่ หวังส่วนแบ่งตลาดวัยรุ่น

ทางออกของนักพัฒนาที่น่าสนใจ คือตลาดที่แอพหลักเหล่านี้ยังไปไม่ถึง หรือเลือกที่จะไม่เน้นไปจับแบบเต็มตัว

โดยเฉพาะ เกม ซึ่งข้อมูลจนถึงเดือนกันยายนปีที่แล้ว ยืนยันว่านี่คือประเภทของแอพที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทั้งสองสโตร์ ด้วยจำนวนที่มีให้เลือกมากถึง 24.86% หรือเกือบ 1 ใน 4 เลยทีเดียว

ถึงจะมีปริมาณคู่แข่งจำนวนมาก แต่การแข่งขันกลับเปิดกว้างกว่า และไม่ค่อยถูกผูกขาดด้วยแอพใดแอพหนึ่ง เหมือนโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือบริการฟังเพลง

เหตุผลหนึ่งคือเกมส่วนใหญ่ในสโตร์นั้น มีลักษณะไม่ต่างกันมากนัก และเมื่อเล่นไประยะหนึ่ง ก็มักบังคับให้ผู้เล่นต้องใช้เงินซื้อคอนเทนต์หรือไอเทมเพิ่ม (ในลักษณะ in-app purchase) โอกาสที่ยูสเซอร์จะเบื่อและย้ายไปเล่นเกมใหม่ๆแทน จึงมีสูง

การจะโดดเด่นในตลาดนี้ได้ จึงอาจต้องปรับวิธีคิดใหม่ เพื่อหาวิธีสร้างรายได้ที่ต่างออกไป หรือต้องมีเกมเพลย์ที่แตกต่างจริงๆ ซึ่งแนวโน้มที่กำลังจะมาถึง การเล่นกับความจริงเสริม (Augmented Reality) ที่ Pokemon Go นำร่องไว้เมื่อสองปีก่อน ก็มีโอกาสจะเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับการเล่นเกมก็ได้

หรือลองมองหาวิธีอื่นๆ เช่นการสร้างแอพที่มีฟีเจอร์น่าสนใจจนบริษัทใหญ่ๆสนใจเทกโอเวอร์ หรือฉีกไปหากลุ่ม niche market ซึ่งแอพอย่าง Facebook หรือ Instagram เข้าไม่ถึง

เช่นแอพช่วยในการทำสมาธิ Calm หรือแอพที่เจาะด้านอสังหาริมทรัพย์ Opendoor ซึ่งอาจไม่มีอันดับที่สูงมากนักบนแอพสโตร์ แต่ก็มีลูกค้ากลุ่มเฉพาะที่พร้อมจะดาวน์โหลด เพราะให้บริการที่แอพแบบเมนสตรีมไม่มีนั่นเอง

 

เรียบเรียงจาก

We’re all downloading the same old apps instead of new ones

2018 App Industry Report & Trends to Watch for 2019

App Store Year One: Shocking successes, game-changers, and unpredictable pain

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
93
Shares
Previous Article
ขวาจัด

Facebook ประเดิมแบนเพจและกลุ่มขวาจัดในแคนาดา สกัดเผยแพร่เนื้อหารุนแรงและความเกลียดชัง

Next Article
รถไร้คนขับ

Ford แตะเบรคไม่เร่งดันรถไร้คนขับวิ่งบนถนน

Related Posts