17 Beauty Box สตาร์ทอัพสัญชาติจีน มาพร้อมกับไอเดียใหม่ ผนวกคอนเซปต์แชริ่งเอโคโนมีเข้ากับการแต่งหน้า ตั้งบูธเมคอัพที่เปิดให้สาวๆเข้าไปใช้บริการเครื่องสำอางแบรนด์ดังหลากชนิดได้ในเวลาที่กำหนด ก่อนถูกชาวเน็ตสวดยับเรื่องสุขอนามัยของผู้ใช้บริการ
ธุรกิจแชริ่งเอโคโนมี แบบ Airbnb, Didi Chuxing หรือ ofo นั้น เป็นที่นิยมอย่างสูงในจีน แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาหลายๆด้านตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะพฤติกรรมของคนจำนวนมากที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความสะอาด และระเบียบวินัย
17 Beauty Box คือธุรกิจรูปแบ่งปันแบบล่าสุด ซึ่งเปิดให้สมาชิกสามารถเข้าไปใช้บริการบูธแต่งหน้าสีชมพูตามห้างสรรพสินค้า ในเมืองใหญ่ต่างๆ อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว หังโจว และ หวู่ฮั่น
ภายในบูธดังกล่าวจะมีเครื่องสำอางแบรนด์ดังๆอย่าง Diro, Nars ฯลฯ มูลค่ารวมกว่า 600 ดอลลาร์ (19,000 บาท) ให้เลือกใช้ โดยสามารถสแกน QR code เลือกได้ว่าจะจ่าย 28 หยวน (133 บาท) สำหรับการแต่งหน้า 15 นาที หรือ 58 หยวน (275 บาท) ซึ่งจะได้เวลาเพิ่มเป็น 45 นาที
ในบูธยังมีอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดด้วย ในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์แต่งหน้าและเครื่องสำอางต่างๆก่อนใช้
แต่ก็ยังไม่วายถูกวิจารณ์จากชาวเน็ต เมื่อภาพบูธเหล่านี้ถูกเผยแพร่ไปในโลกออนไลน์ ด้วยเหตุผลหลักๆคือเรื่องความสะอาด และเชื้อโรคต่างๆที่สามารถแพร่ถึงกันได้
“ถึงตัวแปรงจะเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ แต่คุณไม่มีทางแน่ใจได้หรอกว่าทุกคนจะใช้มันอย่างถูกต้อง” เอ หยู บล็อกเกอร์สายความงามรายหนึ่ง เขียนในเว็บไซต์ Sohu
ขณะที่ ดร.สตีเว่น หลู กิ่ง-ฟัน ที่ปรึกษาด้านโรคผิวหนังของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในฮ่องกง ยอมรับว่าระดับความสะอาดของบูธเหล่านี้ น่าจะสูงกว่าห้องน้ำสาธารณะที่เป็นแหล่งรวมเชื้อโรค แต่ก็ยังเชื่อว่าทางที่ปลอดภัยที่สุดคือการใช้เครื่องสำอางและอุปกรณ์แต่งหน้าของตัวเองมากกว่าจะใช้ร่วมกับคนอื่น
AHEAD TAKEAWAY
ด้วยความที่เป็นชาติขนาดใหญ่ และมีประชากรจำนวนมาก จีน จึงมักมีสตาร์ทอัพใหม่ๆเกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ pain point ของคนในประเทศอยู่เสมอ ซึ่งหลายครั้งที่ไอเดียเหล่านั้น สามารถไปไกลถึงระดับยูนิคอร์นได้ด้วย
แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ไอเดียใหม่ๆที่ถูกคิดขึ้นมา ก็อาจต้องผ่านการขัดเกลาตามคำแนะนำของผู้ใช้บริการ หรือคนอื่นๆ เพื่อให้ได้คำตอบสุดท้ายที่เหมาะสมที่สุด
ในกรณีของบูธแต่งหน้าแบบแชร์เครื่องสำอางก็เช่นกัน
การคำนึงถึงลักษณะนิสัยของกลุ่มเป้าหมายก็มีความสำคัญด้วย เพราะถ้าเป็นชาติในยุโรป เช่น อังกฤษหรือฝรั่งเศส บริเวณเคาเตอร์เครื่องสำอางนั้น มักจะมีพนักงานยืนประจำอยู่ เพื่อทำหน้าที่แต้มหรือแตะเครื่องสำอางให้ลูกค้าทดลอง
ขณะที่ในจีนหรือฮ่องกงนั้น ลูกค้ามักมีจำนวนมากเกินกว่าพนักงานจะให้บริการได้ทัน และมักจะเลือกหยิบเครื่องสำอางมาลองใช้เอง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการติดหรือแพร่เชื้อโรคต่างๆได้ง่ายกว่า
เซซิเลีย กุก หลิง-ชุน ผู้อำนวยการสมาคมช่างแต่งหน้าและเสริมสวยของฮ่องกง มองว่าแนวคิดการใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น ไม่ถึงกับเป็นเรื่องใหม่ เพราะการใช้บริการของช่างแต่งหน้า หรือร้านเสริมสวย ก็มีลักษณะคล้ายๆกัน
แต่จะต่างกันที่กลุ่มหลัง ผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นมืออาชีพมักให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดมากกว่า แปรงที่ใช้จึงต้องแยกสำหรับผู้รับบริการแต่ละคน ส่วนเครื่องสำอางก็จะถูกแบ่งมาไว้บนจานสีต่างหาก เพื่อไม่ให้มีการสัมผัสซ้ำเป็นครั้งที่สอง และหลังจากใช้แล้วก็จะมีขั้นตอนของการทำความสะอาดด้วย
คำแนะนำจาก หลิง-ชุน คือบริษัทฯ อาจต้องปรับเปลี่ยนไอเดียตั้งต้นบางอย่าง เช่น จ้างช่างแต่งหน้ามืออาชีพมาประจำบูธต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเพ่งเล็งเรื่องความสะอาดที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ แม้อาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้นก็ตาม
“มันไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่บริษัทจะประหยัดได้เลย ถ้าพวกเขายังอยากให้ธุรกิจนี้ดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว”
เรียบเรียงจาก
China’s sharing economy now includes make-up, but hygiene doubts are hard to brush off
Pit-stop cosmetic booth debuts in Chinese malls
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า