เทรนด์การตลาดแบบ personalized ad กำลังขยายตัวไปทุกอุตสาหกรรม หลังมีผู้พบว่าแท็กซี่ในญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง ทำการติดตั้งแท็บเล็ทพร้อมกล้องที่มีระบบตรวจจับใบหน้าผู้โดยสาร เพื่อนำข้อมูลไปใช้สำหรับการแสดงโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ตัวแท็บเล็ทนั้น ถูกติดตั้งไว้ที่หลังเบาะข้างคนขับ พร้อมข้อความอธิบายว่าตัวกล้องจะจับภาพใบหน้าผู้โดยสาร พร้อมสแกนเพื่อประเมินเพศ อายุ และบุคลิกอย่างคร่าวๆ สำหรับแสดงคอนเทนต์ซึ่งเหมาะสมขึ้นบนหน้าจอ
โรซา โกลิยาน วิศวกรของ Google สังเกตเห็นแท็บเล็ทดังกล่าว บนแท็กซี่ที่เธอใช้โดยสาร ระหว่างเดินทางไปญี่ปุ่น ก่อนถ่ายรูปเก็บไว้และโพสต์ลงใน Twitter เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนมีการถกเถียงว่าเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ ในการเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการในลักษณะนี้
— Rosa Golijan (@rosa) April 20, 2019
ด้าน DeNA Co Ltd. บริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของไอเดียนี้ อธิบายว่าตัวแท็บเล็ทที่มีระบบตรวจจับใบหน้านั้น จะติดตั้งเฉพาะในแท็กซี่ที่อยู่ในเครือข่าย Premium Taxi Vision ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการของบริษัทเท่านั้น
นอกเหนือจากบริการด้านความสะดวกสบายแล้ว การใช้ระบบสแกนใบหน้าดังกล่าว ก็เพื่อควบคุมไม่ให้มีโฆษณาที่ไม่เหมาะสมกับอายุและเพศของผู้โดยสารปรากฎบนหน้าจอแท็บเล็ทนั่นเอง
พร้อมยืนยันว่าเอเจนซี่โฆษณาต่างๆนั้น จะรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมเพียงแค่ว่ามี “ผู้หญิงในวัยทำงานขึ้นมานั่งบนรถ” เท่านั้น แต่จะไม่ได้เห็นภาพจากกล้องโดยตรง หรือรายละเอียดอื่นๆแต่อย่างใด
AHEAD TAKEAWAY
ด้วยพลังของเทคโนโลยีในปัจจุบัน การโฆษณาแบบ personalized ad จึงมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์
ตามหลักการโฆษณานั้น หากสามารถสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
แต่ประเด็นสำคัญก็คือมันมีเส้นคั่นบางๆอยู่ ระหว่างการเข้าใจในตัวผู้รับสาร และการล้ำเส้นชีวิตส่วนตัวของผู้รับสาร
ประเด็นหลังนั้น มักทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลใจเรื่องความเป็นส่วนตัว เมื่อรู้ว่าข้อมูลของตนถูกแชร์ไปถึงบุคคลที่สาม โดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งอาจส่งผลย้อนกลับในเชิงลบถึงแบรนด์นั้นๆก็ได้
อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ คือการนำระบบตรวจจับใบหน้ามาใช้
ในบางกรณี ระบบนี้รวมถึงเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์อื่นๆ ถือว่ามีประโยชน์เรื่องการยืนยันตัวตน และความสะดวกในหลายๆด้าน เช่นเช็กอินขึ้นเครื่องที่สนามบิน
แต่ในทางกลับกัน หากถูกนำมาใช้ในกรณีอื่น ก็น่าสนใจว่าเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ
เหมือนที่ เทย์เลอร์ สวิฟท์ นักร้องสาวชาวอเมริกันนำระบบนี้มาใช้ตรวจสอบคนที่เดินเข้าออกในคอนเสิร์ตของเธอ แม้จะมีเจตนาเพื่อใช้จับตาบุคคลที่เป็นอันตรายกับตัวเธอก็ตาม
เพราะในอีกแง่มุม คนทั่วไปที่มาชมคอนเสิร์ตของเธอ ก็อาจรู้สึกได้ว่าตัวเองกำลังถูกละเมิดสิทธิ์ ที่ถูกเก็บภาพไว้ โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือขออนุญาต
ขณะที่ในบ้านเรา กรณีเหล่านี้อาจยังไม่มีการหยิบยกมาพูดถึงมากนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการทั้งหลาย ที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ ถ้าต้องการนำเทคโนโลยีและไอเดียแบบนี้มาใช้
ทั้งการหลีกเลี่ยงแตะต้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อน และมีการอธิบายหลักการและเหตุผลในการเก็บข้อมูลให้ผู้บริโภครับทราบด้วย เพราะน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาตามมา จนกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ใช้วิธีนี้ในการโฆษณา
Xiaozhu ธุรกิจแชร์ที่พักในจีน ใช้ระบบตรวจจับใบหน้าผู้เข้าพัก เพื่อความปลอดภัย
เรียบเรียงจาก
Japanese Taxis Are Using Facial Recognition to Target Ads to Riders
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า