Bangkok Foresight

7 คำถามถึงกรุงเทพฯในอนาคต ควันหลงจากงาน Bangkok Foresight

อีก 10 ปีข้างหน้า ศูนย์กลางของประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานครจะเป็นอย่างไร?

นั่นคือคำถามที่หลายคนอยากรู้ จนเป็นที่มาของงาน Bangkok Foresight 2030 ที่เป็นการรวมตัวกันของบุคลากรหลากหลายสาขา ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถึงภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของมหานครแห่งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมกันพัฒนาต่อไป

หลายคนอาจได้ฟังและอ่านทรรศนะของสปีกเกอร์ของงานกันจากสื่อต่างๆบ้างแล้ว

มาลองดูความเห็นของผู้ฟังในงานกันบ้างดีกว่า กับ Guest Contributor

คุณบ๊อบบี้ ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์ CEO บริษัท EcoloTech ผู้พัฒนานวัตกรรมผลิตน้ำจากโมเลกุลอากาศ และยังมีบทบาทด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในหลายๆโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน

กับคำถาม 7 ข้อที่เกิดขึ้นหลังงานนี้…

 

จากการไปร่วมฟังภาพอนาคตของเมืองกรุงเทพฯ Bangkok Foresight ด้วยหวังว่าจะเห็นทางออกเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ผลปรากฏว่า ยังไม่เห็นทางออก

จากนี้ คือความเห็นส่วนตัวว่า เพราะอะไรถึงคิดแบบนั้น?

 

#1
ปัญหาเรื่อง owner landlord

เมื่อมองไปทั่วกทม. จะเห็นว่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ตึกรามบ้านช่องที่กลายเป็นคอนโดบ้าง เป็นตึกแถว หรือเป็นห้างสรรพสินค้า รัฐไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้แล้ว

การต้องการเพิ่มต้นไม้ในเมือง หมายถึงการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ ปัญหาคือผมยังไม่เห็นว่าจะมีเอกชนรายไหนพร้อมยกที่ดินให้รัฐนำไปทำด้วยจิตกุศล

หรือรัฐจะไปเวนคืนที่เพื่อทำสวนสาธารณะให้เรากันดีครับ?

 

#2
การเพิ่มต้นไม้ริมถนน

ถ้าสังเกตุให้ดีทางเท้าเราแคบมาก ปลูกต้นไม้ต้นเดียวก็เต็มแล้ว สมมติ ถ้าอยากปลูกต้นไม้เพิ่มอีกต้น

แปลว่าต้นไม้ที่เราจะปลูกต้องยืนเบียดกับเสาไฟ

 

#3
เรายังจัดการกับหาบเร่แผงลอยไม่ลงตัว

ที่ผ่านมา เราใช้วิธีไปไล่พ่อค้าแม่ค้าออกจากฟุตบาธ โดยไม่สนใจรับผิดชอบอะไรต่อเลย เราทำระบบนี้มาเป็นจะครึ่งศตวรรษแล้ว จนสร้างวงจรการคอรัปชั่นขึ้นอีกสาย

ผลคือทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพราะเราใช้เลนส์มองคนจนเป็นส่วนเกินของสังคมเมือง

ขณะเดียวกัน ถนนที่ขาดหาบเร่แผงลอย กลับเป็นถนนที่คนไม่อยากเดิน อารมณ์ประมาณตอนปลายเดือนอยากหาของถูกกินก็รัก พออิ่มเสร็จสรรพ ก็จะไล่เค้าไป เพราะเกะกะทางเดิ

ปัญหานี้สิงคโปร์มีทางออก แต่รัฐไทยไม่มี เพราะมันไปเกี่ยวเนื่องกับต้นทุนเมืองที่ที่ดินอยู่ในมือเอกชนและแสนแพง

 

#4
เรายังคงให้อำนาจกับรถส่วนตัว

ถนนหนึ่งเลนถูกแบ่งมาใช้เป็นที่จอดรถฟรี ทั้งๆที่มันควรจะถูกนำมาสร้างรายได้ให้กับเมืองได้

ลองนึกถึงถนน 1 สาย 2 ฝั่งคือที่จอดรถ เราเสียพื้นที่ไปเท่าไหร่ แล้วรัฐกล้าที่จะลงมาจัดการตรงนี้รึเปล่า นอกจากการเขียนใบสั่ง ซึ่งนานๆมาที

สิ่งที่รัฐควรทำคือเอาถนน 1 เลนนั้น มาสร้างรายได้ให้รัฐเพิ่ม หรือไม่งั้นก็เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวไปแทนเลย

 

#5
การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ

เรามีผังเมืองที่ต่างจากเมืองนอก เพราะในประเทศที่เจริญแล้ว ขนส่งสาธารณะเข้าไปได้ใกล้ที่สุด คือที่ walking distance ต่ำกว่าระยะ 500 เมตร

แต่ของเรา สมมติ บ้านคุณอยู่เสนาฯ หรือบางใหญ่ คุณจะทำไงต่อดี ถ้าไม่มีรถ

การไม่มีการเชื่อมโยงที่ดีพอ ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะของเรา ช่วยลดการซื้อรถส่วนตัวไม่ได้จริง

 

#6
ที่ดินกลางเมืองที่แพงขึ้นเรื่อยๆ

พื้นที่ในแถบสีลมหรือสาทร ที่ราคาดีดตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ย่านกลางเมืองแบบนี้ร้างยามค่ำคืน เหตุผลคือคนทำงานไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยราคาแพงในเขตนั้นได้ พอไม่มีคนอยู่ ก็ทำให้การค้ายามค่ำคืนแถวนั้นซบเซา

จะสังเกตว่าราคาอาหารแถวนั้นแพงกว่าย่านอื่นๆ แต่การที่แพงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการต้องรีบทำกำไรในระยะเวลาอันสั้น

ไปๆมาๆ กลายเป็นว่าย่านสาทรเหี่ยวเฉาลง แต่ย่านที่ไกลออกไปอย่างพระรามเก้าดันบูมแทน

สิ่งที่ควรจะให้เกิดขึ้นคือ Social Housing กลางเมืองครับ ไม่ใช่บ้านเอื้ออาทรที่คนต้องออกไปนอนนอกเมืองร้อยกว่าโล เพื่อตื่นเช้ามืดเข้ามาทำงานในเมือง

ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป แล้วใครจะอยากเข้ามาทำงาน ในเมื่อเงินเดือนเท่าเดิม แต่ค่าเดินทางสูงขึ้น

 

#7
การไหลเวียนของทิศทางลม

เมื่อเมืองถูกสร้างตามความพอใจของเจ้าของที่และนักลงทุน แม้เราจะมีกฎหมายควบคุมความสูงของอาคาร แต่กฎหมายควบคุมเส้นทางของลมนี่ไม่แน่ใจว่ามีหรือเปล่า

ฉะนั้นเมื่อเวลาที่เกิด PM2.5 และความร้อนจากรถยนต์ แอร์ ในเมือง มันก็ถูกกักอยู่ในนี้

ยิ่งร้อน ก็ยิ่งเปิดแอร์ คนเดินถนนร้อนแทบตาย หันมองไปทางไหน ต้นไม้ก็โหรงเหรง ไม่มีทางให้ลมพัดผ่าน นี่ไม่ต้องพูดถึงบ้านห้องแถวที่ถูกปิดกั้นทางลมจากทุกทาง สุดท้ายก็บีบให้ต้องเปิดแอร์ ที่ยิ่งทำให้อากาศรอบนอกร้อนขึ้นไปอีก

จะเห็นว่าจากทั้ง 7 ข้อที่ผมยกมา ทุกสิ่งมันเชื่อมต่อกันครับ

สิ่งแวดล้อม
เมือง
…และความสามารถของรัฐบาล

ยิ่งพอเห็นโครงการของรัฐที่พยายามจะปั้นให้กทม.โตเป็น Mega city แบบจีนแล้ว ความรู้สึกที่ตามมา ก็คือ มันใช่เหรอ? ที่ทำไปนี้ เพื่อใครกันแน่?

การทำ Foresight คงไม่ต่างอะไรกับความฝัน ถ้ายังแก้ปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้

คุณคิดว่าคุณจะทนอยู่เมืองแบบนี้ได้ทั้งชีวิตมั้ย

ส่วนทางแก้…….ไว้มีโอกาสจะลงมือทำให้เห็นครับ

 

Our guest contributor: ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์ อดีตนักธุรกิจด้านเวชสำอาง ซึ่งใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสนานกว่า 20 ปี ทั้งในการเรียน และทำงานกับแบรนด์ระดับโลกมากมาย อาทิ Adidas, Peugeot, L’Oreal Paris ฯลฯ และพบว่าการทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม คือปัจจัยหลักของบริษัทระดับโลกเหล่านี้ จนนำมาสู่แนวคิดที่จัดตั้งบริษัท Ecolotech เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยความคิดใหม่ที่แก้ปัญหาได้อย่างตรงประเด็น

 

ติดตาม guest contributor คนอื่นๆของเราได้ ที่นี่

เสรีกัญชา ใครได้ ใครเสีย..?

8 เทคนิคการขายให้ลูกค้ากลุ่ม B2B      

Photo by

Hanny Naibaho on Unsplash

Hannah Tims on Unsplash

Parinya Jaipang on Pixabay

ID 12019 on Pixabay

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
113
Shares
Previous Article
personalized ad

แท็กซี่ญี่ปุ่นใช้ระบบตรวจจับใบหน้า ยิงโฆษณา personalized ad ตรงกลุ่มเป้าหมาย

Next Article
ล้านล้านดอลลาร์

Microsoft ทะลุล้านล้านดอลลาร์อีกราย พร้อมขยับเป็นบริษัทมูลค่าสูงสุดในโลก

Related Posts