DeepGlint Technology สตาร์ทอัพด้าน ระบบตรวจจับใบหน้า ของจีน ประสบความสำเร็จ ในการช่วยเหลือทางการจับกุมตัวคนร้ายรายหนึ่ง ซึ่งหลบหนีคดีมาได้นานถึง 20 ปี
จีน ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า ด้วยการทดลองนำมาใช้ควบคุมการจราจร และจัดระเบียบคนเดินเท้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น และเมืองใหญ่ๆอย่าง ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี
รายงานจากบริษัทวิจัย IHS Markit ประเมินว่าปัจจุบันน่าจะมีกล้องวงจรปิดของทางการจีน ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบตรวจจับใบหน้ามากถึง 176 ล้านตัวทั่วประเทศ และคาดว่าจะมีการติดตั้งเพิ่มอีกกว่า 450 ล้านตัว ภายในปี 2020 ด้วย
ล่าสุด DeepGlint Technology ซึ่งได้รับทุนจากกองทุน Sequoia Captial ก็เป็นสตาร์ทอัพรายล่าสุด ที่ถูกเลือกจากทางการจีนให้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ตรวจหาคนร้ายที่แฝงตัวปะปนกับคนทั่วไปบนท้องถนน
ปัญญาประดิษฐ์ที่ DeepGlint ใช้ควบคุมระบบตรวจจับใบหน้านั้น สามารถจับภาพเพื่อทำการวิเคราะห์แบบ 3 มิติ เพื่อระบุตัวบุคคลรวมถึงยานพาหนะ ที่อยู่ห่างออกไปได้ไกลถึง 50 เมตร พร้อมระบบแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่หากพบบุคคลต้องสงสัยได้ทันที
ที่ผ่านมา ระบบของ DeepGlint มีส่วนช่วยทางการจีนในการจับกุมตัวคนร้ายได้แล้วกว่า 100 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีมานานกว่า 20 ปีด้วย
นอกจากการตรวจหาคนร้ายแล้ว DeepGlint ยังนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ เช่นการพัฒนารถไร้คนขับ การควบคุมหุ่นยนต์ และงานวิจัยทางการแพทย์ด้วย
AHEAD TAKEAWAY
ระบบตรวจจับใบหน้า ซึ่งขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ เป็นเทคโนโลยีที่ทางการจีนเลือกนำมาใช้ เพื่อจัดระเบียบประชากรในประเทศ โดยได้รับความช่วยเหลือจากสตาร์ทอัพและบริษัทต่างๆที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับนโยบาย Social Credit System ด้วย
10 มาตรการไฮเทค (และโหด) ของจีน เพื่อ ‘Social Credit System’
นอกจากกล้องวงจรปิดจำนวนมหาศาลที่ติดตั้งตามจุดต่างๆแล้ว ในหลายๆเมืองยังมีการนำแว่นอัจฉริยะที่ติดตั้งเทคโนโลยีนี้ มาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสวมเป็นอุปกรณ์เสริมในการทำงาน เพื่อช่วยในการระบุตัวตนของผู้ต้องสงสัยได้ในสถานการณ์จริง
ในแง่หนึ่ง เทคโนโลยีนี้ ก็ได้รับการยืนยันว่ามีส่วนช่วยควบคุมพฤติกรรมของประชาชนไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ๆ
แต่หลายครั้ง ก็ถูกตั้งแง่ในเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นประเด็นที่ชาติตะวันตกให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ยังไม่นับการถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง สำหรับปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง โดยเฉพาะชาวมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในซินเจียง
และเทคโนโลยีของ DeepGlint ก็ถูกโจมตีโดยกลุ่ม Human Right Watch ว่าถูกพัฒนามา เพื่อใช้ติดตามตัวกลุ่มเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในซินเจียงโดยเฉพาะอีกด้วย
แต่หากตัดประเด็นดังกล่าวไป และว่ากันเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีล้วนๆ นี่คือเครื่องยืนยันอีกครั้งว่า AI และ Facial Recognition นั้นมีประโยชน์และใช้งานได้หลากหลาย จนเป็นเรื่องที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ
เหมือนที่ Hyundai Motor Group ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ ตัดสินใจลงทุนเป็นเงิน 4.9 ล้านดอลลาร์ (ราว 150 ล้านบาท) ใน DeepGlint เมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทาง Hyundai ลงทุนกับสตาร์ทอัพของชาติอื่นๆที่ไม่ใช่เกาหลีใต้
ขณะที่ตัวบริษัทเองนั้น ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแบบเห็นเป็นรูปธรรม คือมีรายรับเพิ่มขึ้น 5 เท่า ในปี 2017 และ 7 เท่าในปี 2018 จนทำกำไรได้เป็นครั้งแรกนับแต่ เจ้า หยง อดีตวิศวกรของ Google ลาออก และกลับมาก่อตั้งบริษัทในบ้านเกิด เมื่อหกปีที่แล้ว
และยังมีนักลงทุน VC อีกจำนวนมาก พร้อมที่จะให้การสนับสนุน เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าใช้งานได้จริง และมีประโยชน์ หากอยู่ในมือผู้ใช้ที่รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร
เรียบเรียงจาก
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า