The Jamie Oliver Restaurant Group เชนร้านอาหารของ เจมี่ โอลิเวอร์ เชฟระดับเซเลบ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการโดยบริษัทตรวจสอบบัญชี KPMG แล้ว หลังประสบปัญหาทางการเงินต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการทำประชามติถอนสหราชอาณาจักรจากอียู (เบร็กซิท) เมื่อสามปีก่อน
I’m devastated that our much-loved UK restaurants have gone into administration. I am deeply saddened by this outcome and would like to thank all of the people who have put their hearts and souls into this business over the years. Jamie Oliver
— Jamie Oliver (@jamieoliver) May 21, 2019
แถลงการณ์ของ KPMG ระบุว่า เมื่อต้นปี เชฟคนดังต้องใช้เงินส่วนตัวอีก 4 ล้านปอนด์เข้าพยุงกิจการของเครือบริษัทฯ และพยายามหาระดมทุนจากช่องทางอื่นๆแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
และในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ ร้านอาหารในเครือ 25 แห่งจะต้องปิดตัวลง ประกอบด้วย Jamie’s Italian 23 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร และ Fifteen ภัตตาคารหรูกลางกรุงลอนดอน รวมถึงร้านสเต็กเฮาส์ Barbecoa ด้วย และมีพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกว่า 1,000 ราย
ส่วนกิจการที่เหลืออยู่ ก็คือภัตตาคารสามแห่งในสนามบินแกทวิค ใกล้กับกรุงลอนดอน และแฟรนไชส์ Jamie’s Italian ในต่างประเทศเท่านั้น
ย้อนกลับไปในปี 2017 The Jamie Oliver Restaurant Group เคยประสบปัญหาจนเกือบต้องปิดตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง โดย โอลิเวอร์ และกลุ่มผู้บริหารมองว่าเป็นผลกระทบจากการทำประชามติถอนสหราชอาณาจักรจากอียู (เบร็กซิท) เมื่อเดือนมิถุนายน 2016
เนื่องจากการทำประชามติเบร็กซิทนั้น แม้จะยังไม่มีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ทำให้ค่าเงินปอนด์ตกลงอย่างหนัก (8% เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร และ 14% เทียบสกุลเงินดอลลาร์ ในเวลาหกเดือน)
ส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจของ The Jamie Oliver Restaurant Group ซึ่งใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศสูงขึ้น แต่ทางร้านไม่สามารถผลักภาระตรงนี้ให้กับผู้บริโภคได้ เนื่องจากการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง (mid-market) ในสหราชอาณาจักรมีค่อนข้างสูง
ครั้งนั้น โอลิเวอร์ ต้องใช้เงินส่วนตัว 12.7 ล้านปอนด์ (ประมาณ 516 ล้านบาท) และกู้เงินจาก HSBC อีก 37 ล้านปอนด์ (1,500 ล้านบาท) เพื่อเข้าพยุงกิจการ พร้อมปิดสาขา Jamie’s Italian หกแห่ง เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ก่อนจะแบกภาระต่อไม่ไหวต้องเข้ารับการฟื้นฟูกิจการในที่สุด
AHEAD TAKEAWAY
Jamie’s Italian ถือเป็นเชนภัตตาคารสำหรับลูกค้าระดับกลางรายล่าสุด ที่ประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรถดถอยในช่วง 18 เดือนหลังสุด
รายอื่นๆ ได้แก่ Strada เชนภัตตาคารอิตาเลียน ที่ต้องปิดร้านในเครือไปราว 1 ใน 3 ตั้งแต่ต้นปี 2018 ส่วน Byron Burger ต้องปิดสาขาในเครือไปราว 40%
ขณะที่ Prezzo and Carluccio’s และ Gourmet Burger Kitchen ก็อยู่ระหว่างเข้ารับการฟื้นฟูกิจการ
ซาราห์ ฮัมฟรีย์ส ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมภัตตาคาร ของ Deloitte มองว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจภัตตาคารอิตาเลียน และเบอร์เกอร์ ประสบปัญหาทางการเงิน คือการนำเข้าวัตถุดิบในปริมาณที่สูงเกินความจำเป็น
เพราะความไม่แน่นอนจากการทำประชามติเบร็กซิทนั้น ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ยังไม่ฟื้นตัวจนทุกวันนี้ ขณะที่ราคาของสินค้านำเข้ายังไม่มีทีท่าจะลดลง
และความคลุมเครือของการถอนตัวจากอียู ก็ทำให้หลายครอบครัวพยายามจำกัดค่าใช้จ่ายให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งการทานอาหารในภัตตาคารเหล่านี้ ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
แต่ ฮัมฟรีย์ส ก็ยกอีกตัวเลขที่น่าสนใจว่าในกลุ่มเชนภัตตาคารชั้นนำ 40 แห่งนั้น มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่มีผลประกอบการถดถอยลงในรอบปีที่ผ่านมา
ซึ่งตรงกับความเห็นของ ไซมอน มิดลอฟสกี จากที่ปรึกษากฎหมาย Gordons ที่มองว่าความล้มเหลวของเครือภัตตาคารเหล่านี้ มาจากการที่ไม่สามารถปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับธุรกิจทุกประเภท (อ่านเพิ่มเติม กรณีศึกษา อมรินทร์พริ้นติ้ง ปรับตัวให้อยู่รอดในโลกใหม่)
“เมื่อธุรกิจของคุณต้องจ่ายค่าเช่าร้านกับต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น และการแข่งขันที่มากขึ้น ภัตตาคารของคุณก็ต้องสร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง แบรนด์เล็กๆที่มีอิสระในการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ กลายเป็นฝ่ายที่ไปได้สวยในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้”
ขณะที่ ทูรอน ไมอาห์ จาก Gowling WLG ก็เสริมว่า หาก The Jamie Oliver Restaurant Group จะฟื้นตัวกลับมาได้ ก็อาจจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ โดยการสร้างแบรนด์ที่อิง เจมี่ โอลิเวอร์ เป็นหลัก เพราะปัจจุบัน เจ้าตัวยังถือเป็นเซเลบริตี้ที่ดึงความสนใจจากคนทั่วไปได้อยู่
Carl’s Jr. เตรียมเปิดตัว เบอร์เกอร์ผสมสารสกัดจากกัญชา CBD รับ 4/20
เรียบเรียงจาก
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า