World Retail Congress

10 เทรนด์ทางธุรกิจ จากงาน World Retail Congress 2019

ในโลกของค้าปลีก World Retail Congress นับเป็นอีกหนึ่งคอนเฟอเรนซ์ใหญ่ ที่จัดต่อเนื่องมานานกว่าทศวรรษ เพื่อสรุปความเป็นไป และคาดการณ์ถึงสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจนี้

ใน World Retail Congress 2019 ที่เพิ่งจัดขึ้นที่อัมสเตอร์ดัม ในเนเธอร์แลนด์ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็มีการระดมความคิดในแง่มุมต่างๆ จากสปีกเกอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ กว่า 180 คน

ไปดูกันว่า 10 เรื่องที่คนทำธุรกิจต้องรู้ จากการระดมความคิดครั้งนี้ มีอะไรบ้าง

 

#1
ทุกธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

เอียน แม็คการ์ริกล์ ผู้ก่อตั้ง และประธานของ World Retail Congress มองว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วโลก กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยีใหม่ๆในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

คนในธุรกิจนี้จึงต้องปรับตัวตามเพื่อความอยู่รอด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ความต้องการของผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม และจะยังเปลี่ยนแปลงไปอีกเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

ถอดรหัสการคืนชีพของ Microsoft : ปรับตัวก่อนตกยุค

#2
การเปลี่ยนแปลง “เกิดขึ้นทุกวัน”

ลอร์ด สจ๊วร์ต โรส อดีตประธาน Marks & Spencer ซึ่งปัจจุบัน เป็นผู้บริหารของ Ocado ชี้ว่าการโลกที่เชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ เป็นเหตุให้เกิดกระแสใหม่ๆขึ้นตลอดเวลา

โดยยกตัวอย่างว่าถ้า เดวิด เบ็คแฮม ผูกไทสีขาวไปร่วมในงานปาร์ตี้ คนทั่วโลกก็จะรู้เรื่องนี้ได้ใน 45 วินาที จากนั้นอีกราวๆครึ่งชั่วโมง ก็จะมีเน็คไทแบบเดียวกันวางขายในร้านค้าออนไลน์

นั่นหมายถึงถ้าใครขยับตัวช้า คนนั้นก็จะตกเทรนด์และตามผู้ค้าคนอื่นๆไม่ทัน

#3
ชนะใจผู้บริโภคได้ ก็ชนะในเกมธุรกิจ

ลอร์ด โรส ยังเสริมต่อว่าทุกวันนี้ลูกค้าคือคนที่กุมอำนาจทุกอย่างไว้ในมือ เป็น demand-led economy

หน้าที่ของผู้ค้า คือตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ ไม่ว่าลูกค้าจะต้องการอะไร เมื่อไหร่ จากช่องทางไหน ฯลฯ โดยที่ราคาไม่ใช่ประเด็นหลักอีกต่อไป เพราะมีคนกลุ่มที่พร้อมจ่าย ขอเพียงตอบโจทย์ได้

ส่วนใครที่ไม่เข้าใจ หรือไม่คิดจะเข้าใจผู้บริโภค ก็ไม่น่าจะได้ไปต่อ

ถอดบทเรียน เจฟฟ์ เบโซส โดย 5 ซีอีโอสตาร์ทอัพมาแรง

#4
แต่ละธุรกิจต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

ต่อเนื่องจากข้อ 2 และ 3 ลอร์ด โรส เปรียบเทีบธุรกิจค้าปลีกเป็นเหมือนโรงละคร

เมื่อการแสดงในวันนี้ (หมายถึงการค้า การทำธุรกิจ) จบลง ก็ต้องกลับมาทบทวนว่านักแสดงในแต่ละตำแหน่งทำได้ดีรึยัง จะพัฒนาตรงไหนได้บ้าง เพื่อให้วันรุ่งขึ้น ออกมาดีกว่าเดิม

#5
เวลาคือสิ่งสำคัญ และลูกค้าทุกคนต้องการความสะดวก

ในอดีต ราคา อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด แต่ในปัจจุบันนั้นไม่ใช่แล้ว

จูดิธ แม็คเคนนา ประธานและซีอีโอของ Walmart International รับว่าราคาและคุณภาพยังมีความสำคัญอยู่ แต่อีกสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา ก็คือเวลา

เพราะทุกวันนี้ ชีวิตประจำวันของเราวุ่นวายกว่าเดิม เมื่อมีเวลาน้อยลง การเลือกซื้อสินค้าก็เปลี่ยนไป ผู้ค้าที่สามรถบริการให้ลูกค้ารู้สึกสบายที่สุด จึงจะได้รับความไว้วางใจในโอกาสต่อๆไป

#6
ธรรมดาโลกไม่จำ

เจมส์ จอร์จ จาก OC&C ย้ำว่าทุกวันนี้การเป็นแบรนด์ “ธรรมดาๆ” ที่ไม่มีความโดดเด่น ก็เท่ากับรอวันปิดตัว

หรือแม้แต่โมเดลธุรกิจที่เคยดี ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะจากการทำแบบสอบถาม คนทำธุรกิจถึง 3 ใน 4 ก็ยอมรับว่าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นกัน เพื่อให้พร้อมรับมือกับอนาคตที่กำลังจะมาถึง

#7
พลังจากพันธมิตร

ร็อดนีย์ แม็คมัลเลน ประธานและซีโอโอของเชนซูเปอร์มาร์เก็ต Kroger เสริมว่างานหลักของบริษัทฯ คือการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

แต่บางครั้ง ลำพังบริษัทฯเดียวก็ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย การจับมือกับบริษัทอื่นๆในฐานะพันธมิตร เพื่อช่วยให้กระบวนการลุล่วงได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เหมือนกรณีของ Kroger ที่จับมือกับ Ocado ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ เปิดศูนย์บริการลูกค้า (Customer fulfillment หรือ CFC) สำหรับรองรับการจัดส่งสินค้าต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ยอดขายออนไลน์ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นถึง 60% ในไตรมาสสามของปีที่แล้ว

Strategic partnership: หมัดเด็ดเพื่อความโดดเด่น

#8
นวัตกรรมนำมาซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

วิธีคิดใหม่ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ แต่ยังรวมถึงการลองผิดลองถูก เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมานำเสนอผู้บริโภคด้วย

หนึ่งในตัวอย่างที่ แม็คมัลเลน พูดถึงคือ Simple Truth ไลน์สินค้าออร์แกนิค ที่บริษัทเริ่มทำตั้งแต่เมื่อห้าปีก่อน

จนเมื่อกระแสออร์แกนิคเริ่มจุดติด Simple Truth ก็กลายเป็นแบรนด์ออร์แกนิคที่มียอดขายสูงสุดในสหรัฐฯ คือกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา

#9
Personalization คือกุญแจสำคัญสู่ประสบการณ์ผู้บริโภค

เฟเดริโก มาร์เค็ตติ ประธานและซีอีโอของ Yoox-Net-a-porter ร้านออนไลน์ชั้นนำที่นำเสนอเฉพาะแบรนด์หรูหรา ชี้ว่าสินค้าแบบเดียวไม่มีทางสร้างความพอใจให้ลูกค้าสามล้านคนได้

ทางที่จะทำให้ลูกค้าพอใจได้ คือต้องมีสินค้าสามล้านแบบ โดยที่แต่ละแบบตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้าคนนั้น

แท็กซี่ญี่ปุ่นใช้ระบบตรวจจับใบหน้า ยิงโฆษณา personalized ad ตรงกลุ่มเป้าหมาย

#10
ออนไลน์และออฟไลน์ต้องสอดประสานกัน

แม้จะเป็นแบรนด์ออนไลน์ แต่ มาร์เค็ตติ ยังเชื่อว่าสินค้าจากแบรนด์หรู ยังจำเป็นต้องมีหน้าร้านแบบดั้งเดิม เพราะลูกค้ายังต้องการประสบการณ์การบริการจากพนักงานขาย รวมถึงการได้สัมผัสตัวสินค้าจริงๆก่อนตัดสินใจ

ทางออกของ Yoox-Net-a-porter คือต้องสร้างประสบการณ์ที่ผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพอใจสูงสุด

 

AHEAD TAKEAWAY

จะเห็นว่าเทรนด์เหล่านี้ มีความคล้ายกับข้อสรุปที่ AHEAD ASIA เคยรวบรวมไว้

(อ่านเพิ่มเติมใน จับตา 5 เทรนด์ ค้าปลีก 4.0)

นั่นคือธุรกิจค้าปลีกปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนแปลง และทุกคนที่อยู่ในธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว เพราะความต้องการของลูกค้าที่มีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ความอดทนน้อยลง

ค้าปลีกต่างๆจึงต้องพยายามทั้งนำเสนอสินค้า/บริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์นี้ รวมถึงสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้เกิดขึ้นแก่ลูกค้า ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมากมายแล้วสำหรับคนที่ไม่ยอมปรับตัว ในเมื่อทุกสิ่งรอบตัวไม่เหมือนเดิม

อวสานค้าปลีก? 15 รีเทลเลอร์ที่ล้มละลายในปี 2017

 

เรียบเรียงจาก

10 Takeaways From The 2019 World Retail Congress

Kroger unveils two more Ocado automated warehouses

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
339
Shares
Previous Article
กัญชาทางการแพทย์

รู้ลึกเรื่องกัญชาทางการแพทย์ก่อนใคร ในงาน 'Greenovation Cannabis Conference'

Next Article
แฟนบอลไทย

Hotels.com เผยแฟนบอลไทยยอมงดสังสรรค์ทั้งเดือน เพื่อชมบิ๊กแมตช์ขอบสนาม

Related Posts