คำว่าอิสรภาพทางการเงินเป็นวรรคทองที่หลายคนพูดถึงกันบ่อย ตั้งแต่หนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” ของ โรเบิร์ต คิโยซากิ กลายเป็นเบสต์เซลเลอร์ แต่จนทุกวันนี้ หลายคนก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น หนึ่งในเหตุผลหลักๆคือการไม่สามารถรักษาวินัย เพื่อ สุขภาพการเงิน ที่ดีได้
มาดูกันว่า 6 เรื่องพื้นฐานที่คุณควรทำความเข้าใจก่อน เพื่อก้าวต่อไปหรือเริ่มนับหนึ่งใหม่ ในการสร้างสุขภาพการเงินของคุณให้แข็งแรง สู่เป้าหมายที่คุณวางไว้
#1
หาเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจนและเหมาะสมให้เจอ
สมมติ คุณกำลังจะก้าวเท้าออกจากบ้าน ถ้าคุณไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าว่าจะไปไหน สุดท้ายอาจจะเตร็ดเตร่ไปเรื่อย และเสียเวลาเปล่าๆ
เรื่องอื่นๆในชีวิต รวมถึงการวางแผนทางการเงินก็เหมือนกัน ถ้าคุณมีเป้าหมายที่ชัดเจน คุณก็สามารถหาเส้นทางที่จะไปถึงได้ง่ายขึ้น
จริงๆ นี่น่าจะเป็นเรื่องเบสิคมากๆ แต่ผลสำรวจโดย Charles Schwab พบว่ามีคนแค่ราวๆ 1 ใน 4 เท่านั้น ที่กำหนดเป้าหมายทางการเงินเป็นเรื่องราว รวมถึงเตรียมแผนแบ็กอัพไว้ด้วย
เหตุผลนึงอาจเพราะในฐานะมนุษย์เงินเดือน หลายคนถึงมองแค่ในระยะสั้นว่าเมื่อถึงสิ้นเดือน เงินเดือนก็จะออกตามกำหนด
จนลืมมองไกลไปถึงระยะยาวว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ ถ้าคุณไม่มีงานทำแล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากสารพัดเหตุผล ทั้งเศรษฐกิจแย่ คุณล้มป่วยจนทำงานต่อไม่ไหว หรือการมาถึงของแรงงานหุ่นยนต์ ฯลฯ
ถ้ายังไม่มีเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน ลองปรับวิธีคิดใหม่โดยพ่วง “ความน่าจะเป็น” ข้างต้นไว้ด้วย แล้วเริ่มตั้งต้นใหม่ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง เช่นการใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่ได้ทำให้คุณมีความสุขจริงๆ
ขณะเดียวกัน ก็มองหาช่องทางสร้างรายได้อื่นๆ เพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ได้เร็วขึ้น
#2
“คุณค่า” สำคัญกว่า “มูลค่า”
โดยพื้นฐานแล้ว เป้าหมายทางการเงินอาจอยู่ที่มูลค่าของทรัพย์สินในมือคุณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี
แต่คุณก็สามารถปรับมุมมองของตัวเอง ให้เลิกยึดติดเรื่องการเปรียบเทียบเฉพาะตัวเลขได้ โดยหันมาให้ความสำคัญว่าสิ่งที่คุณกำลังจะทำต่อไปนั้นคุ้มค่าหรือไม่ และสร้างคุณค่าอะไรรึเปล่า
เหมือน บิล เกตส์ ที่ทุกวันนี้ อาจยังเป็นผู้ชายที่รวยที่สุดในโลกเหมือนเดิมก็ได้ ถ้าเจ้าตัวไม่ได้บริจาคหุ้น Microsoft 64 ล้านหุ้นให้การกุศล เพราะเจ้าตัวมองว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นั้นสำคัญกว่าตัวเลขมหาศาลในบัญชีที่ไม่มีวันใช้หมด
หรือ อีลอน มัสก์ ที่สามารถพักผ่อนอยู่เฉยๆได้ตลอดทั้งชีวิต หลังได้เงินส่วนแบ่งจากการขาย PayPal เมื่อหลายปีก่อน แต่เจ้าตัวกลับใช้เงินเกือบทั้งหมดไปกับกิจการอื่นๆแทน
เขาลงทุนใน Tesla เพราะต้องการวางรากฐานใหม่ให้กับการใช้พลังงานของโลกใบนี้ และก่อตั้ง SpaceX เพื่อเติมตามความฝันในวัยเด็ก
คุณไม่จำเป็นต้องทำแบบเดียวกัน แต่เมื่อไหร่ที่เริ่มตั้งหลัก และมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว ให้ลองมองหาเป้าหมายอื่นๆในชีวิต เพื่อสร้าง “คุณค่า” ให้กับชีวิตที่มี “มูลค่า” แล้ว
#3
วางแผนการเงินร่วมกับคนในครอบครัว
ฟังดูตลก แต่เป็นเรื่องจริงในหลายๆกรณีที่คู่สามีภรรยาทะเลาะกันเพราะเรื่องเงิน
ตราบใดที่คุณไม่ได้ผลาญเงินในบัญชีของอีกฝ่าย ถือว่ามาถูกทางแล้ว
และเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้น คือทั้งสองฝ่ายควรจะวางแผนการเงินร่วมกัน ปรึกษากันเมื่อเกิดปัญหา และพยายามยึดเป้าหมายที่ตั้งไว้ในทีแรก เพื่อไปให้ถึงให้ได้
#4
จ่ายใน “สิ่งที่จำเป็น” และออมสำหรับ “สิ่งที่อยากได้”
การบรรลุเป้าหมายทางการเงิน ไม่ได้แปลว่าคุณต้องใช้ชีวิตสมถะแบบพระเสมอไป
ระหว่างทางสู่เป้าหมาย จะมีปัจจัยอื่นๆที่แทรกเข้ามาให้คุณต้อง “จ่าย” เสมอ
ประเด็นสำคัญคือคุณต้องแยกแยะให้ออกว่าสิ่งนั้น เป็น “สิ่งจำเป็น” หรือแค่ “สิ่งที่อยากได้” และพยายามหาสมดุลของสองสิ่งนี้ให้เจอ
การจ่ายในทันที เพื่อ “สิ่งที่อยากได้” มักนำไปสู่ปัญหาการเงินที่จะตามมาในอนาคต
แต่การเลือกออม โดยมีเป้าหมายว่าจะกลับไปซื้อ “สิ่งที่อยากได้” ในภายหลัง มักช่วยลดความอยากของคุณลงได้ เพราะหลายครั้งที่คุณเห็นตัวเลขในบัญชีเพิ่มขึ้น คุณจะเริ่มเสียดายไม่อยากจ่ายออกไป ที่สำคัญ มันอาจกลายเป็นเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินได้ด้วย
#5
สร้างช่องทางรายได้ให้หลากหลาย
ข้อนี้เป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินทุกคนย้ำนักย้ำหนามาตลอด
เพราะนอกจากการออมแล้ว นี่คือวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงินในชีวิตได้เร็วขึ้น และยังเป็นไปตามหลักการเงินการลงทุนพื้นฐานของการกระจายความเสี่ยงด้วย ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานกินเงินเดือน ฟรีแลนซ์ หรือผู้ประกอบการ
ในแง่อื่น นอกเหนือจากการเงิน ช่องทางใหม่ๆในการสร้างรายได้ อาจทำให้คุณได้พบกับเพื่อนใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ ที่จะทำให้โลกทัศน์ของคุณเปลี่ยนไปด้วย
เจ้าหนูวัย 7 ขวบ Ryan ToysReview กวาด 700 ล้านบาท ขึ้นแท่น YouTuber รวยสุดในโลก
#6
อย่าปล่อยให้หนี้เป็นฝ่ายควบคุมเรา
การบริหารจัดการหนี้ คืออีกหนึ่งเรื่องพื้นฐานทางการเงิน
การรักษาเครดิตสกอร์ ด้วยการชำระหนี้ตรงตามกำหนดทุกเดือน และพยายามสร้างหนี้ให้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราส่วนรายได้ คือเบสิคขั้นต้นก่อนการมี สุขภาพการเงิน ดที่ดี เพื่อก้าวไปประสบความสำเร็จในเรื่องอื่นๆต่อไป
เรียบเรียงจาก
You’re More Financially Successful Than You Think If You Can Answer ‘Yes’ to Any of These 6 Questions
อ่านเพิ่มเติม
วิธีใช้เงินสไตล์บิลเลียนแนร์แบบ มาร์ค คิวบัน
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า