รถไร้คนขับ

เที่ยวบินในประเทศอาจถูก Disrupt งานวิจัยพบคนอาจเลือกเดินทางด้วยรถไร้คนขับ

รถไร้คนขับ อาจเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับนักธุรกิจที่ต้องเดินทางไกล แทนเที่ยวบินในประเทศ เพราะสะดวกสบาย และไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักสัมภาระ แม้อาจใช้เวลาเดินทางนานกว่าหนึ่งเท่าตัวก็ตาม

ในงานวิจัยชื่อ To Drive or Fly: Will Driverless Cars Significantly Disrupt Commercial Airline Travel? โดยศาสตราจารย์ สตีเฟ่น ไรซ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ สกอตต์ วินเทอร์ จากวิทยาลัยการบิน เอมบรี-ริดเดิล พบว่าแนวโน้มที่คนอเมริกัน จะเลือกใช้บริการรถไร้คนขับในการเดินทางระหว่างรัฐมีมากขึ้น

เครื่องบินยังเป็นตัวเลือกแรก แต่…

ระหว่างทำการวิจัย เมื่อผู้เข้ารับการทดสอบ ต้องเลือกว่าจะเดินทางด้วยวิธีไหน ระหว่างขับรถเอง นั่งรถไร้คนขับ และขึ้นเครื่องบิน

หากเป็นการเดินทางระยะสั้น ไม่เกินห้าชั่วโมง การขับรถด้วยตัวเองยังเป็นตัวเลือกแรก

แต่เมื่อขยับมาที่ระยะไกล ซึ่งกินเวลาในการขับรถเกินสิบชั่วโมงขึ้นไป การเดินทางด้วยเครื่องบิน จะเป็นคำตอบแรก ตามมาด้วยรถไร้คนขับเป็นอันดับสอง และขับเองเป็นตัวเลือกสุดท้าย

แต่ผู้ตอบแบบสอบถามก็ยอมรับว่า การต้องต่อแถวรอตรวจกระเป๋าก่อนขึ้นเครื่อง ไฟลท์ดีเลย์ การต้องพะวงเรื่องสัมภาระ ฯลฯ รวมถึงความยุ่งยากที่ต้องหารถสำหรับเดินทางจากสนามบินต่อไปยังจุดหมาย คือข้อเสียของการเดินทางด้วยเครื่องบิน

โพลฟ้องคนอเมริกันไม่กล้าใช้รถไร้คนขับ

สะดวกตั้งแต่ต้นจนจบ = จุดแข็งของ รถไร้คนขับ

ข้อมูลจากผลสำรวจอื่นๆที่ผ่านมา คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังไม่สะดวกใจที่จะใช้รถไร้คนขับมากนัก แต่มุมมองของคนกลุ่มนี้ ก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไป หากได้รับข้อมูลเพิ่มเติม

ในงานวิจัยของ ไรซ์ และ วินเทอร์ ยกตัวอย่างการเดินทางจาก แอตแลนตา ไปยัง วอชิงตันดีซี ว่าถ้าเป็นทางอากาศ จะใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับการขับรถ ซึ่งใช้เวลาราว 10 ชั่วโมง

แต่ในความเป็นจริง ยังมีเรื่องของ เวลาที่ต้องเดินทางจากบ้านไปสนามบิน ต่อแถวเช็กอิน ตรวจกระเป๋า รอขึ้นเครื่อง และเมื่อลงเครื่อง ก็ต้องรอรับกระเป๋า ติดต่อเช่ารถ หรือรอรถเพื่อเดินทางไปยังจุดหมาย ซึ่งเวลาที่บวกเพิ่มไปนี้ อาจทำให้การเดินทางจริง กินเวลา 4-5 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ขณะที่รถไร้คนขับ แม้จะใช้เวลามากกว่าเกือบเท่าตัว แต่ก็ทดแทนได้ด้วยความสะดวกสบาย เพราะสามารถเริ่มต้นจากบ้านได้ทันที ไม่ต้องต่อแถวเช็กอิน และระหว่างทาง ก็สามารถทานอาหาร ดื่มน้ำ ทำงาน หรือหลับได้ตามต้องการ รวมถึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องสัมภาระ เช่นปริมาตรของเหลว หรือการพกพาของมีคม

และตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามสนใจ คือไม่ต้องเสียเวลาหารถเช่าต่อไปยังจุดหมายด้วย

ผลกระทบถึงสายการบิน

แม้ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด จะไม่ได้เลือกย้ายจากการเดินทางด้วยเครื่องบินไปรถไร้คนขับทั้งหมด แต่การขาดหายไปของผู้โดยสารเพียงหนึ่งในสิบ ก็ส่งผลกระทบชัดเจนต่อรายได้ของสายการบินแล้ว

ยังไม่นับกรณีไฟลท์ต่อ ที่เดิมผู้โดยสารต้องรอต่อเครื่องจากสนามบิน A ไปสนามบิน B แต่เมื่อมีตัวเลือก ก็อาจนั่งเป็นไดเรกต์ไฟลท์มาลงสนามบิน A แทน แล้วเรียกรถไร้คนขับเพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังที่หมาย

และหากรายได้ลดลง สายการบินก็อาจต้องลดค่าใช้จ่าย ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ลดระดับการให้บริการ ลดจำนวนเที่ยวบินต่อวัน ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินด้วย เช่น ผู้ให้บริการแท็กซี่ทั่วไปซึ่งมาจอดรอรับผู้โดยสารที่สนามบิน รายได้จากการเก็บค่าที่จอดรถของสนามบินลดลง (ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นแล้ว เพราะผลจากบริการ ride-hailing service) รายได้จากโรงแรมในสนามบิน เพราะผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องพักเพื่อรอต่อเครื่องอีก หรือแม้แต่ผู้ผลิตอากาศยานต่างๆ ซึ่งอาจได้รับคำสั่งซื้อจากสายการบินต่างๆลดลง

มองโลก มองอนาคต ไปกับบิดาแห่งรถไร้คนขับ เซบาสเตียน ธรัน

AHEAD TAKEAWAY

แม้หลายคนอาจมองว่า รถไร้คนขับ เป็นเทคโนโลยีที่ไกลตัว และอาจใช้เวลาอีกนานกว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ แต่การรับรู้ถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และเตรียมตัวไว้ ก็มีความสำคัญเช่นกัน

เพราะมีกรณีศึกษามากมายให้เห็นนักต่อนักแล้ว ว่าการไม่เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสิ่งใหม่ๆที่กำลังจะมา เพราะเชื่อในโมเดลธุรกิจเดิมๆ ย้อนกลับมาส่งผลเสียหายกับองค์กรชั้นนำ

เช่น Kodak (กล้องฟิล์มถูกกล้องดิจิทัล disrupt) Blockbuster (ระบบเช่าวิดีโอหรือดีวีดีตามร้าน ถูกแทนที่ด้วยการส่งทางไปรษณีย์ ตามด้วยวิดีโอสตรีมมิ่ง) Toy R’ Us (ค้าปลีกขนาดใหญ่แพ้ให้กับอีคอมเมิร์ซ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป)

จาก Kodak ถึง Blockbuster : 10 การตัดสินใจทางธุรกิจสุดเฟลตลอดกาล

ผู้บริหารธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในไทยท่านหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยมุมมองที่น่าสนใจว่า ถ้าคุณเลือกที่จะอยู่ข้างหน้า ไม่รอให้ถูกแซง เทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ก็คือเครื่องมือชั้นดีสำหรับธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือการยกระดับการให้บริการ แทนที่จะเป็นฝ่ายถูก Disrupt เสียเอง

นั่นหมายถึงในอนาคต เราอาจได้เห็นสายการบินซื้อกิจการของรถไร้คนขับ เพื่อนำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อกับอากาศยานของตนเอง รวมถึงเพิ่มบริการรถไร้คนขับให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้โดยสารก็ได้ ไม่ว่าจะเดินทางตรงจากบ้าน หรือเดินทางต่อจากสนามบินไปยังจุดหมาย

เพราะไม่ว่าโลกจะหมุนไปเร็วขนาดไหน ความพึงพอใจของผู้บริโภคก็ยังสำคัญที่สุดนั่นเอง

เรียบเรียงจาก

To Drive or Fly: Will Driverless Cars Significantly Disrupt Commercial Airline Travel?

Driverless cars are going to disrupt the airline industry

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
84
Shares
Previous Article
เทคโนโลยีในการเลือกตั้ง

Voatz สตาร์ทอัพอเมริกัน ดันไอเดียใช้สมาร์ทโฟนออกเสียงเลือกตั้ง

Next Article
เบลารุส

เบลารุส: เผด็จการสายเทคโนโลยี

Related Posts