ขั้วอำนาจส่อแววเปลี่ยนจากฝั่งตะวันตกมาทางตะวันออกแทนในอนาคต เมื่อความเชื่อมั่นที่มีต่อ ผู้นำสหรัฐฯ กำลังถดถอยต่อเนื่อง สวนทางกับจีน ซึ่งมีบทบาทและสร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นเรื่อยๆ จากผลสำรวจในรายงานดัชนีสันติภาพโลก Global Peace Index ฉบับล่าสุดของสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP)
ดัชนีสันติภาพโลก จัดทำโดย IEP เพื่อให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ และแนวทางการพัฒนาสังคมที่สงบสุข โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากทั่วโลก เกี่ยวกับสามปัจจัยสำคัญ คือความขัดแย้งทั้งในและนอกประเทศ ความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม และการขยายอิทธิพลทางทหาร
สตีฟ คิลเลเลีย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ IEP เผยว่าความเชื่อมั่นในภาวะผู้นำของสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงถดถอยอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา โดยตกลงถึง 11.2% ภายในปีเดียว เฉพาะอย่างยิ่งภายหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี
คิลเลเลีย อธิบายว่านับจากปี 2008 เป็นต้นมา ความเชื่อมั่นในผู้นำสหรัฐฯส่อแววถดถอยลงอยู่แล้ว แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก ก่อนจะตกต่ำอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีหลังสุด
ซีอีโอของ IEP มองว่าเหตุผลสำคัญ คือภาพลักษณ์ของผู้นำสหรัฐฯคนปัจจุบันนั้น ได้รับผลกระทบจากข่าวเชิงลบที่ปรากฎตามสื่อต่างๆค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับผู้นำของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เช่น รัสเซีย, จีน และเยอรมนี
กลับกัน การที่ จีน เริ่มมีบทบาทมากขึ้นบนเวทีโลก (อ่านเพิ่มเติม: เตือนสหรัฐฯระวังจีนแซงเป็นมหาอำนาจเทคโนโลยี) ทำให้มหาอำนาจฝั่งเอเชียเริ่มที่เป็นยอมรับจากนานาประเทศ แม้จะยังเป็นหนึ่งในชาติที่มีข้อจำกัดด้านสิทธิมนุษยชนค่อนข้างมากก็ตาม
“ในช่วงสี่ปีหลังสุด ความเชื่อมั่นในจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” คิลเลเลีย อธิบาย “ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับชาติที่มีมาตรการในประเทศค่อนข้างเข้มงวด ใกล้เคียงกับจีน”
คิลเลเลีย ยังนำเสนอมุมมองเพิ่มเติมว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขดัชนีของผู้นำสหรัฐฯคนปัจจุบันตกต่ำ มาจากการที่ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนก่อนได้รับความนิยมอย่างมากในระดับนานาชาตินั่นเอง
เพราะถ้านำตัวเลขปัจจุบันไปเปรียบเทียบกับยุคของประธานาธิบดี จอร์จ บุช ซึ่งมีประเด็นหลักอย่างสงครามในอิรักแล้ว จะมีความแตกต่างไม่มากนัก
ในรายงานฉบับเดียวกัน ยังพบว่าสหรัฐฯมีค่าดัชนีความสงบสุขในประเทศที่ลดลงด้วย โดยตกมาอยู่ที่อันดับ 128 โดยเป็นผลจากความรุนแรง ปัญหาอาชญากรรม และความไม่มั่นคงทางการเมือง หรือแม้แต่อัตราส่วนงบประมาณทางการทหารที่เพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ
“กระบวนการทางการเมืองในสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะมีการเผชิญหน้ากันมากขึ้น และมีการประนีประนอมระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมน้อยลง”
อดีตที่ปรึกษา ทรัมป์ ย้ำตัดตอน Huawei สำคัญกว่าเจรจาการค้า แนะกวาดล้างบริษัทเทคโนโลยีจีนให้หมด
AHEAD TAKEAWAY
ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีหนล่าสุดของ ทรัมป์ ทั้งที่เจ้าตัวแทบไม่มีประสบการณ์ด้านการเมือง
คือหลักฐานตอกย้ำว่าคนอเมริกันโดยเฉพาะกลุ่มชาตินิยมผิวขาว ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ต่างจากเดิม หลังพบว่านโยบายที่ผ่านมาของพรรคเดโมแครตนั้น ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ได้
แต่การดำเนินนโยบายสุดโต่งของผู้นำสหรัฐฯคนปัจจุบัน ที่เน้นผลประโยชน์ของคนผิวขาวเป็นหลัก ก็นำมาซึ่งกระแสต่อต้านมากมาย ทั้งจากฝั่งเสรีนิยม และชนกลุ่มน้อยในอเมริกา
จนเราได้เห็นปฏิกิริยาต่อต้านการร่วมงานกับภาครัฐจากพนักงานขององค์กรใหญ่ๆเป็นระยะ ทั้ง Microsoft, Google ฯลฯ จนเจ้าตัวถึงกับอดวิจารณ์องค์กรเหล่านี้ไม่ได้ ว่ามีอคติกับตน โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชน
Donald Trump เปิดวอร์โซเชียลมีเดีย ฉะ Google, Facebook, Twitter นำเสนอเอียงซ้าย
หรือแม้แต่ในเรื่องความสัมพันธ์ระดับประเทศ ความสุดโต่งของ ผู้นำสหรัฐฯ ก็ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก กระทั่งลุกลามไปสู่ความขัดแย้งกับจีนซึ่งยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นอีกขั้วอำนาจ จนเกิดเป็นสงครามการค้าระหว่างสองประเทศอย่างในปัจจุบัน
ขณะที่ ทรัมป์ แสดงออกด้วยท่าทีขวานผ่าซาก สี จิ้นผิง ผู้นำจีนกลับมีบุคลิกเป็นขั้วตรงข้าม ไม่แสดงความแข็งกร้าวผ่านสื่อ ความรู้สึกของคนนอกที่เห็นจึงโน้มเอียงไปทางฝ่ายหลังมากกว่า ตามที่ สตีฟ คิลเลเลีย ประธานบริหารของ IEP ว่าไว้
ประเด็นสำคัญซึ่งนักวิเคราะห์ในต่างประเทศหลายรายมองตรงกัน คือในระยะยาวนั้น สงครามการค้าระหว่างสองประเทศ จะขยายตัวออกไปสู่การเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ โดยมีสหรัฐฯกับพันธมิตรโลกตะวันตก กับ จีน รัสเซีย เป็นขั้วตรงข้าม
เพียงแต่จะยืดเยื้อแค่ไหน ก็อาจขึ้นกับโอกาสของ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปด้วย
เพราะแม้ภาพลักษณ์ของผู้นำสหรัฐฯคนปัจจุบันจะถดถอยลงนักในสายตาชาวโลก แต่เราก็ไม่อาจมองข้ามพลังของกลุ่มชาตินิยมผิวขาวที่หนุนให้ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ หลังพิสูจน์ให้เห็นมาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อสามปีก่อน
เรียบเรียงจาก
The world is more confident in China’s leadership than the US’, according to a new report
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า