eMarketer บริษัทวิจัยธุรกิจดิจิทัล เผยปัจจุบัน เม็ดเงินกว่า 2 ใน 3 ของ เศรษฐกิจดิจิทัล ในสหรัฐฯ ตกเป็นของบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงสามราย คือ Amazon, Google และ Facebook หลังมีความพยายามจากหน่วยงานรัฐฯ เพื่อเอาผิดบริษัทเหล่านี้ในข้อหาผูกขาดทางการค้า
ปัจจุบัน มีแรงกดดันจากนักการเมืองทั้งฝ่ายเดโมแครต อาทิ โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดี และวุฒิสมาชิก เอลิซาเบธ วอร์เรน กับ หรือแม้แต่ฝ่ายรีพับลิกัน เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทควบคุมและลดอำนาจต่อรองของบริษัทเทคโนโลยีต่างๆลง หลังเติบโตจนไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน
จนเมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลสหรัฐฯก็เริ่มต้นดำเนินการบ้างแล้ว โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาแทรกแซงมากขึ้น อาทิ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ตรวจสอบ Google ส่วนคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐ มีหน้าที่ตรวจสอบ Facebook และ Amazon
ด้าน eMarketer บริษัทในเครือ Axel Springer จากเยอรมนี ก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยพุ่งประเด็นไปที่ธุรกิจต่างๆที่อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหลัก เช่น อีคอมเมิร์ซ และการโฆษณาออนไลน์ และพบว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่นั้นไหลเข้าสู่บัญชีของสามบริษัทดังกล่าวจริง
เช่นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้น Amazon ถือเป็นเบอร์หนึ่งในด้านนี้ โดยครองส่วนแบ่งตลาดถึง 37.7%
ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาในแต่ละประเภท เมื่อรวมส่วนแบ่งการตลาดของทั้งสามบริษัทเข้าด้วยกัน จะพบว่าแทบไม่มีช่องว่างให้บริษัทอื่นๆเข้าไปแข่งขันได้เลย
เริ่มจากในกลุ่ม โฆษณาดิจิทัล (Digital Ad) Google นั้นมาเป็นอันดับหนึ่งที่ 37.2% ตามมาด้วย Facebook 22.1% ส่วน Amazon ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ธุรกิจนี้ไม่นาน ก็มีส่วนแบ่งมากถึง 8.8%
ส่วนในกลุ่มโฆษณาทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) นั้น เฉพาะ Facebook รายเดียว ก็มีส่วนแบ่งสูงถึง 83.3% แล้ว
ขณะที่โฆษณากลุ่ม Mobile Ad ก็ยังเป็นของทั้งสามบริษัท คือ Google 33% Facebook 30.8% และ Amazon 5.2%
ในผลสำรวจ ยังระบุถึงเทรนด์ใหม่อย่างธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่ง ซึ่งกำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์และเคเบิลทีวีด้วย โดยพบว่าชาวอเมริกันมากถึง 26.6% ชมรายการสตรีมมิ่งต่างๆบนโทรทัศน์ ผ่านแอพและบริการของ Amazon ขณะที่ Google ก็มีมากถึง 16.8%
Donald Trump เปิดวอร์โซเชียลมีเดีย ฉะ Google, Facebook, Twitter นำเสนอเอียงซ้าย
AHEAD TAKEAWAY
ในแต่ละประเทศ กฎหมายการแข่งขันทางการค้า มีจุดประสงค์หลักของการบังคับใช้แตกต่างกันไป
เช่นในยุโรปอาจเน้นประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ขณะที่ในสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับการแข่งขันที่เป็นธรรมเป็นหลัก
ที่ผ่านมา เราจึงเห็นความพยายามของรัฐบาลอเมริกันในการลดอำนาจและอิทธิพลของบริษัทใหญ่ๆ ที่เติบโตมาในอุตสาหกรรมสำคัญประเทศเป็นระยะ (ส่วนจะประสบผลหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง) เช่น จอห์น ดี ร็อกกีเฟลเลอร์ กับกิจการ Standard Oil หรือ บิล เกตส์ กับ Microsoft (อ่านเพิ่มเติมใน ปฐมบทสงครามเบราเซอร์)
ขณะที่ในปัจจุบัน ที่เข้าสู่ยุค Data is the new oil บริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจดิจิทัล โดยตรง อย่าง Google และ Facebook จึงถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ
Facebook เกเร ถอดโฆษณาผู้สมัคร ปธน. ชูนโยบายลดอำนาจยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี
หนึ่งในกรณีศึกษาที่ก่อให้เกิดคำถามว่าบริษัทเหล่านี้มีอำนาจในการต่อรองมากเกินไปหรือไม่
คือช่วงที่วุฒิสมาชิก เอลิซาเบธ วอร์เรน โพสต์บล็อกนำเสนอร่างนโยบาย #BreakUpBigTech ลดอำนาจบริษัทเหล่านี้เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ผลปรากฎว่า Facebook ทำการถอดโฆษณาแคมเปญหาเสียงของเธอออกจากแพลตฟอร์ม เฉพาะโฆษณาที่มีการพาดพิงถึงโซเชียลมีเดียรายนี้เท่านั้น ส่วนโฆษณาตัวอื่นๆยังอยู่ครบถ้วน
จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ว่าเป็นเจตนาตอบโต้ของทางบริษัทฯหรือไม่ ก่อนที่ทางบริษัทฯ จะต้องดึงโฆษณาตัวดังกล่าวกลับมา เพราะถูกกระแสกดดัน
หรืออย่างกรณีของ Amazon ที่เปิดมาร์เก็ตเพลสของตัวเองให้ผู้เล่นรายย่อยเข้ามาทำการซื้อขาย จนเมื่อมีข้อมูลมากขึ้นว่าสินค้าตัวนี้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ก็ใช้วิธีส่งผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาแข่งขัน โดยให้ปรากฎบนพื้นที่ที่ได้เปรียบกว่า
แม้ที่ผ่านมา เราจะเห็นบทลงโทษหรือการบังคับจากภาครัฐให้ยักษ์ใหญ่ต้องยอมเจียดส่วนแบ่งการตลาดให้รายอื่นๆได้ในทางทฤษฎี
แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เป็นจริงซะทีเดียว
ทุกวันนี้ แม้ Standard Oil จะไม่ได้ครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ไว้ในมืออีกแล้ว แต่ตระกูลร็อกกีเฟลเลอร์ ก็ยังคุมตลาดน้ำมันโลกในรูปแบบอื่นๆ เช่นการเป็นหุ้นส่วนในบริษัทน้ำมันใหญ่ๆอื่นๆแทน
หรือ Google และ Facebook ที่ใช้การเทกโอเวอร์บริษัทอื่นๆที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการใกล้เคียงกัน ก็ทำให้สุดท้ายผู้บริโภคไม่สามารถหนีออกจากวงจรได้อยู่ดี
เหมือนคนที่ไม่ต้องการใช้ Google Maps แต่หนีไปใช้ Waze ก็ยังลงเอยด้วยการเป็นลูกค้าของ Google ตามเดิม หรือ Instagram โซเชียลยอดนิยมของวัยรุ่น ก็เป็นแอพในเครือของ Facebook
สิงคโปร์สั่งปรับ Grab และ Uber ละเมิดกฎหมายผูกขาด 309 ล้านบาท
หรือแม้แต่ในเอเชียแปซิฟิก หรืออาเซียน เราก็จะเห็นการเติบโตของ Grab หรือ LINE ที่พยายามขยายขอบเขตไปสู่การเป็น Super App ที่ครอบคลุมทุกกิจกรรมในชีวิตของเราอยู่ดี
ความน่าสนใจสำหรับความพยายามครั้งล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯในการหยุดยั้งยักษ์ใหญ่เหล่านี้ จึงไม่ได้อยู่แค่ว่าด้วยวิธีไหนเท่านั้น
แต่ยังอยู่ที่ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน หรือยังลงเอยด้วยบทสรุปแบบเดิมๆ เพราะกฎหมายที่ล้าหลังเกินกว่าจะไล่ตามบริษัทฯเหล่านี้ได้ทันเหมือนที่ผ่านมา
เรียบเรียงจาก
This chart shows just how much Facebook, Google, and Amazon dominate the digital economy
The Epic Rise of John D. Rockefeller
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า