Made In China

ผู้ประกอบการรับ หมดยุค ‘Made In China’ เพราะสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

บอนนี่ ตู๋ ประธานหญิงของ Giant แบรนด์จักรยานชั้นนำจากไต้หวัน ยอมรับกำแพงภาษี 25% จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากต้องย้ายโรงงานจากจีนในที่สุด พร้อมยุติยุคทองของสินค้า Made in China โดยปริยาย

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน เกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายแรกต้องการให้จีนปรับนโยบายการค้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่อื่นๆ ผ่านการกดดันด้วยวิธีต่างๆ เช่น ขึ้นบัญชีดำบริษัทในจีน และโน้มน้าวให้ประเทศพันธมิตรบอยคอตต์สินค้าอิเลคทรอนิคส์ ฯลฯ

รวมถึงการทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ เป็น 25% มาตั้งแต่เดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรมทั้งโลก ที่ต้องปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เลือกจีนเป็นฐานการผลิตหลัก

เช่น Intel ผู้ผลิตชิปเซตรายใหญ่ที่ยอมรับว่าต้องทบทวนเรื่องห่วงโซ่อุปทาน หรือแม้แต่ Li & Fung ยักษ์ใหญ่ด้านซัพพลายเชนสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีรายได้จากสหรัฐฯ กว่า 80% ยังแนะนำให้บริษัทอเมริกันต่างๆที่เป็นลูกค้าของตน ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเป็นการด่วน

“เมื่อ ทรัมป์ ประกาศนโยบายกำแพงภาษี 25% มันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเรา จนต้องรีบขยับตัวตั้งแต่เขายังพูดไม่จบประโยคด้วยซ้ำ” ประธานหญิงของ Giant แบรนด์จักรยานชั้นนำของจีน กล่าว พร้อมเสริมว่ายุคทองของการผลิตสินค้าในจีนนั้นสิ้นสุดลงแล้ว

 

อดีตที่ปรึกษา ทรัมป์ ย้ำตัดตอน Huawei สำคัญกว่าเจรจาการค้า แนะกวาดล้างบริษัทเทคโนโลยีจีนให้หมด

 

Giant นั้นปิดโรงงานในจีนไปแล้วหนึ่งแห่ง จากทั้งหมดที่มีอยู่หกแห่ง ตั้งแต่ปลายปีก่อน พร้อมโยกฐานการผลิตสินค้าที่ส่งไปขายในสหรัฐฯไปยังโรงงานอื่นในไต้หวันกับเนเธอร์แลนด์แทน และยังมีแผนตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่ฮังการี รวมถึงการมองหาพาร์ทเนอร์ใหม่ในอาเซียน ในเร็วๆนี้ด้วย

สเปนเซอร์ ฟุง ซีอีโอของ Li & Fung เสริมว่ากำแพงภาษีดังกล่าวทำให้ความได้เปรียบของจีน ในการผลิตสินค้าจำนวนมากได้ในราคาถูกหมดไป

“สงครามการค้าทำให้บริษัทต่างๆต้องทบทวนเรื่องฐานการผลิตใหม่ และทยอยย้ายออกจากจีน”

การตัดสินใจขยับตัวของ Giant ส่งผลไปถึงราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่ขยับตัวขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 80% นับเป็นสถิติใหม่นับจากปี 2015

การย้ายฐานการผลิตจากจีน ทำให้บริษัทไม่ต้องแบกรับภาระภาษีเฉลี่ย 100 ดอลลาร์ (ราว 3,200 บาท) ต่อจักรยานหนึ่งคัน สำหรับการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ แต่ในทางกลับกัน บริษัทฯก็ต้องรับภาระเรื่องค่าแรงที่สูงขึ้น รวมถึงสเกลการผลิตที่เล็กลงจากเดิม

นั่นทำให้ ตู๋ ในฐานะผู้บริหาร ยอมรับว่า Giant พร้อมจะกลับไปผลิตสินค้าในจีนอีกครั้ง หากสงครามการค้าสิ้นสุดลง และทั้งสองฝ่ายปรับลดอัตราภาษีกลับสู่ภาวะปกติ แม้รู้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นก็ตาม

 

รัฐบาลจีนหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มตัว รับมือสงครามการค้ากับสหรัฐ

AHEAD TAKEAWAY

นักวิเคราะห์ทั้งในและต่างประเทศหลายราย เห็นตรงกันว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนในครั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ และส่งผลกระทบในวงกว้างกว่าที่ผ่านมา

เพราะในความเป็นจริง ความขัดแย้งระหว่างสองชาติมหาอำนาจนั้นมีมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ เลือกใช้แนวทางอื่นที่ประนีประนอมกว่า เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ในยุคของประธานาธิบดี บารัค โอบามา

ขณะที่แนวทางของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่แข็งกร้าวกว่านั้น แตกต่างไปอย่างชัดเจน

ซึ่งตรงนี้มีการมองว่ามีประเด็นสำคัญอย่างความพยายามสกัดไม่ให้จีนเติบโตขึ้นมาเป็นอีกขั้วอำนาจ ในยุคที่เศรษฐกิจโลกจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี (อ่านเพิ่มเติมใน ผู้เชี่ยวชาญเตือนสหรัฐฯ ระวังถูกจีนแซงเป็นผู้นำเทคโนโลยี) และอีกเรื่อง คือการเร่งสร้างคะแนนนิยมในประเทศ ก่อนเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปด้วย

และนั่นอาจตีความได้ว่าการประนีประนอมระหว่างสองชาติ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ อย่างดีสุด อาจมีเพียงแค่การพักรบในระยะสั้นเท่านั้น

ปัญหาคือเมื่อสองชาติที่มีกำลังซื้อมหาศาลเป็นลำดับต้นๆของโลก ปะทะกันด้วยวิธีนี้ ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้จำกัดแค่ประชาชนหรือธุรกิจของทั้งสองชาติเท่านั้น

แม้ที่ผ่านมา หลายบริษัทจะเริ่มปรับนโยบายด้านห่วงโซ่อุปทานแล้ว เหมือนกรณีของ Giant และ Li & Fung ที่มองหาการผลิตใหม่ๆ หรือแม้แต่ Apple ที่ยอมรับว่าอาจต้องย้ายฐานการผลิตเช่นกันในอนาคตอันใกล้

แต่ในระยะยาวนั้น ภาวะเศรษฐกิจของโลกก็จะผันผวนตามไปด้วย เพราะชาติอื่นๆทั้งเล็กและใหญ่ ต่างก็ต้องทำการค้ากับทั้งสองประเทศนี้เช่นกัน

ที่สำคัญ การค้าระหว่างสองประเทศมีความสลับซับซ้อนกว่านั้น เพราะต้องมีการพึ่งพาเทคโนโลยีหรือวัตถุดิบระหว่างกันและกันอยู่

เช่น สินค้า Made In USA ก็มีชิ้นส่วนสำคัญบางอย่างที่มาจากจีน กลับกัน สินค้า Made In China ก็อาจพึ่งพาเทคโนโลยี หรือวัตถุดิบบางตัวจากสหรัฐฯ

นั่นทำให้ห่วงโซ่อุปทานเดิมเกิดปัญหา และหากต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่จริงๆ ก็น่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร และส่งผลให้เศรษฐกิจทุกระดับทั่วโลกต้องชะลอตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งจะมีผลกระทบอื่นๆตามมาเป็นลูกโซ่ไปด้วย เช่น อัตราการว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าที่จะขยับตัวจากเดิม เพราะเทคโนโลยีและกำลังการผลิตของชาติอื่นๆนั้น ไม่อาจเทียบกับจีนได้ ฯลฯ

 

ดัชนีสันติภาพโลกชี้ความเชื่อมั่นผู้นำสหรัฐฯลด สวนทางผู้นำจีน

 

เรียบเรียงจาก

World’s Top Bicycle Maker Says the Era of ‘Made in China’ Is Over

Supply chain giant Li & Fung urges US companies to diversify away from China

China’s job market faces new pressure as trade war with US drags on

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
45
Shares
Previous Article
เศรษฐกิจดิจิทัล

เผยเม็ดเงินกว่า 2 ใน 3 เศรษฐกิจดิจิทัลในสหรัฐฯ ผูกขาดโดย Amazon, Google และ Facebook

Next Article
Libra

สกุลเงินดิจิทัล Libra โดนถล่มยับหลังเปิดตัว สภาคองเกรสเตรียมเรียกผู้บริหาร Facebook ชี้แจง

Related Posts