Libra

สกุลเงินดิจิทัล Libra โดนถล่มยับหลังเปิดตัว สภาคองเกรสเตรียมเรียกผู้บริหาร Facebook ชี้แจง

Libra สกุลเงินดิจิทัลของ Facebook ที่เตรียมเปิดใช้งานในปีหน้า เจอกระแสต้านทันควันหลังเปิดตัว ทั้งมุมมองของคนในวงการบล็อกเชนและคริปโตฯ ขณะที่สภาคองเกรส หวั่นเกิดปัญหาเรื่องข้อมูลส่วนตัว เตรียมเรียกผู้บริหารมาชี้แจงอีกครั้ง

Libra คืออะไร?

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา Facebook ทำการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อหาทางพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง บล็อกเชน ให้ใช้งานได้จริง หลังดึงตัว เดวิด มาร์คัส อดีตประธาน PayPal มาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมถึงมีข่าวว่ากำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ในกลุ่ม stable coin สำหรับใช้ใน Whatsapp

 

Facebook พัฒนาเงินดิจิทัล สำหรับ WhatsApp คาดทดลองใช้ในอินเดียก่อน

 

และเมื่อ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ก็ทำการเปิดตัว Libra สกุลเงินดิจิทัลตัวใหม่ โดยได้ 27 องค์กร เป็นพันธมิตรร่วม และมีกำหนดใช้งานในปี 2020

ซัคเกอร์เบิร์ก อธิบายเป้าหมายในการนำสกุลเงินตัวนี้มาใช้ คือเพื่อผลักดันให้เกิดโครงสร้างทางการเงินที่ใช้งานได้ง่ายสำหรับคนทั้งโลก เพราะเล็งเห็นว่าคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงธนาคารทั่วไป หรือบริการทางการเงินอื่นๆที่มีในปัจจุบันได้

แต่การที่คนเหล่านี้มีสมาร์ทโฟนในมือ ก็สามารถรับส่งเงินดิจิทัลได้ง่ายๆ ไม่ต่างอะไรกับการส่งข้อความหรือรูปภาพ

 

พันธมิตรและกระเป๋าเงินดิจิทัล Calibra

สำหรับการดูแลสกุลเงินดิจิทัลตัวนี้นั้น จะอยู่ในความควบคุมของ องค์กรไม่แสวงหากำไร Libra Association ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย Facebook และ Calibra บริษัทในเครือฯ ร่วมกับองค์กรชั้นนำอีก 27 แห่ง

ซึ่งมีทั้งตัวกลางในการชำระเงิน ฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และบริการด้านเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ Visa, Mastercard, PayPal, Stripe, ebay, Vodafone, Uber, Spotify ฯลฯ

ขณะที่ Calibra ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Facebook จะเป็นตัวกลางในการดำเนินธุรกรรมต่างๆ (payment service provider) ในรูปแบบของกระเป๋าเงินดิจิทัล (คาดว่าจะฝังอยู่ในแอพของเครือบริษัท อย่าง Messenger หรือ Whatsapp) ที่ผู้ใช้สามารถรับส่งเงินได้ทันทีทั่วโลก แบบไม่มีค่าบริการ (ในช่วงแรก) และมีแผนจะขยายบริการอื่นๆเพิ่มเติมในอนาคต เช่นการอนุญาตให้มีผู้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลรายอื่นๆ เข้ามาให้บริการในเครือข่าย

ในแถลงการณ์เปิดตัว ซัคเกอร์เบิร์ก ยืนยันว่าข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการของ Calibra จะถูกเก็บแยกต่างหากจากข้อมูลใน Facebook ส่วนข้อมูลส่วนตัว และความปลอดภัย จะอยู่ในความดูแลของทีมผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ พร้อมการันตีว่าหากมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น ผู้เสียหายจะได้รับเงินคืน

 

เสียงสะท้อนจากคนในวงการ

ไม่นานหลังการเปิดตัว ก็มีความเห็นจากคนในวงการคริปโตฯตามมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ

ปีเตอร์ ทอดด์ ที่ปรึกษาด้านการขุดเงินดิจิทัล มองว่าการขยับตัวของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ในครั้งนี้ เหมือนการชูนิ้วกลางต่อหน้าหน่วยงานรัฐและฝ่ายดูแลกฎหมาย ว่าตนจะทำอะไรก็ได้ และพยายามใช้คำว่า decentralized (กระจายศูนย์กลางข้อมูล) ซึ่งเป็นจุดเด่นของบล็อกเชน ในลักษณะชวนเชื่อมากกว่า

ขณะที่ อูดี แวร์ธไฮเมอร์ นักพัฒนาและหนึ่งในผู้สนับสนุนบิทคอยน์ ก็ตั้งข้อสังเกตไว้หลายประเด็น เช่น

  • Calibra มีลักษณะเป็นระบบปิด (custodial digital wallet) ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ Facebook และต้องมีการใช้เอกสารยืนยันตัวตน (KYC) เพื่อเข้าใช้
  • จะมีค่าบริการในการโอน และยังมีข้อจำกัดในการโอนข้ามประเทศ เพราะกฎหมายในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอยู่

 

อันเดรียส อันโทโนปูลอส อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านบิทคอยน์ ก็โพสต์วิดีโอสรุปว่า สกุลเงินตัวใหม่นี้ มีรูปแบบของการเป็น “โทเคน” สำหรับใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน อีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะเป็นคู่แข่งของธนาคารและสถาบันการเงินทั่วไปมากกว่า แต่ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงของ บิทคอยน์ หรือสกุลเงินดิจิทัลตัวอื่น

 

 

คองเกรสเตรียมแตะเบรค

ไม่นานหลังการเปิดตัว นางแม็กซีน วอเทอร์ส ประธานคณะกรรมาธิการด้านบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้เรียกร้องให้ Facebook ระงับแผนการเปิดให้บริการ Libra และ Calibra ไว้ก่อน พร้อมเสนอให้มีการเรียกผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงต่อสภาคองเกรส

วอเทอร์ส ระบุว่าการเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของ Facebook คือความพยายามครั้งใหม่ที่จะขยายการใช้งาน และเข้าถึงชีวิตผู้คน ซึ่งจำเป็นที่หน่วยงานซึ่งมีอำนาจในการกำกับดูแล จะเข้ามาตรวจสอบ หลังบริษัทฯเคยก่อความผิดพลาดในนโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลมาก่อน จากกรณี Cambridge Analytica

 

เผย Facebook เตรียมรวม WhatsApp, IG และ Messenger เป็นแพลตฟอร์มเดียว ภายในปี 2020

 

AHEAD TAKEAWAY

ทำไมต้องเงินดิจิทัล?

ไอเดียในการสร้างสกุลเงินตัวนี้ เกิดจากไอเดียของ เดวิด มาร์คัส ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานฝ่าย Messenger ของ Facebook ระหว่างเดินทางไปพักผ่อนที่สาธารณรัฐโดมินิกัน ช่วงปลายปี 2017

แนวคิดการรับส่งเงินทางสมาร์ทโฟน โดยมี Facebook เป็นศูนย์กลางนั้น ตรงกับความต้องการของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ที่ต้องการสร้างสกุลเงินสำหรับใช้บนแพลตฟอร์มของตัวเองเช่นกัน

หลังได้ไฟเขียวในโปรเจกต์นี้ มาร์คัส จึงโยกตัวเองมาดูแลโปรเจกต์ใหม่ นั่นคือการสร้าง สกุลเงินสำหรับคนทั่วโลก (global currency) ที่มีพื้นฐานบนบล็อกเชน

และรูปแบบของ Libra ที่ต้องผูกกับสินทรัพย์อ้างอิง (ผู้ใช้ต้องใช้สกุลเงินทั่วไปแลกเปลี่ยนให้ได้ Libra token มา ขณะที่ตัวสินทรัพย์จะถูกโยกไปอยู่ในความดูแลของ Libra Reserve) ก็เป็นลักษณะเดียวกับ stable coin ที่มีความผันผวนน้อยกว่าเงินดิจิทัลอื่นๆ อย่าง บิทคอยน์ ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลือกที่คนทั่วไปยอมรับได้ง่ายกว่า

ยิ่งเมื่อเป็นองค์กรระดับโลกอย่าง Facebook ให้การรับรองแล้ว ก็มีโอกาสสูงที่ผู้ใช้ทั่วไปจะให้ความไว้วางใจ มากกว่าผู้ให้บริการ stable coin รายอื่นๆ

 

Libra Association = ธนาคารกลางสวิส

แต่ในอีกแง่มุม มาร์คัส ก็รู้ดีว่าการจะผูกขาดชื่อของ Facebook ไว้กับเงินสกุลนี้ จะมีกระแสตีกลับที่รุนแรงกลับมาแน่นอน จากภาพลักษณ์ของบริษัทฯในระยะหลังที่ไม่ค่อยดีนัก หลังสื่อบางรายดักคอไว้ล่วงหน้าว่า สกุลเงินที่กำลังพัฒนา คือ Zuck-bucks และ Face-Coin

ทางออกที่ดีที่สุดคือการจับมือกับพาร์ทเนอร์อื่นๆอีก 28 บริษัท ซึ่งมีความหลากหลายกันไป ตั้งแต่ โซเชียลมีเดีย, เทลโค, อีคอมเมิร์ซ, ไรด์-แชริ่ง, ดนตรี, ท่องเที่ยว, NGO, ตัวกลางในการชำระเงิน และกองทุน ในนาม Libra Association ให้ทำหน้าที่เหมือนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์แทน

โดยที่บริษัทฯ จะถอยออกมารับหน้าที่ให้บริการโอนเงินผ่าน Calibra แทน ซึ่งเพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายของบริษัทแล้ว นั่นคือการเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ด้านต่างๆ

เหมือนที่ เจา ฉางเผิง ผู้ก่อตั้ง Binance เหน็บผ่านการทวีตว่า เอาเข้าจริงแล้ว หลังเปิดใช้งาน ซัคเกอร์เบิร์ก แทบไม่ต้องขอให้เราทำการยืนยันตัวตนใหม่ด้วยซ้ำ เพราะ FB รู้จักเราดียิ่งกว่าตัวเรา และตอนนี้กำลังจะรู้มากขึ้นไปอีกว่าเรามีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่

ใครคือผู้ได้รับผลกระทบกันแน่

ถ้ามองกันในแง่อุดมคติ Libra จะเป็นรูปแบบใหม่ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกขึ้นแน่นอน ไม่ว่าจะสามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้หรือไม่ก็ตาม

เพราะหากอีโคซิสเต็มของมัน สามารถสร้างให้สามารถรับส่งเงินได้สะดวก เหมือนที่ Venmo ทำได้ในบางประเทศ

ในทรรศนะของ อันเดรียส อันโทโนปูลอส ผู้ได้รับผลกระทบตัวจริง น่าจะเป็นธนาคาร และสถาบันทางการเงินต่างๆ ซึ่งเดิมเป็นผู้ให้บริการในลักษณะนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโอนเงิน หรือเรื่องการให้สินเชื่อ

เพราะในการประกาศรายชื่อพันธมิตรกลุ่มแรกของ Libra Association ก็ไม่มีสถาบันการเงินอยู่เลย (Visa, Mastercard, PayPal หรือ Stripe แม้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เป็นเพียงตัวกลาง ระหว่างร้านค้ากับสถาบันการเงิน)

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐและฝ่ายที่ดูแลด้านกฎหมาย ก็จะต้องใส่ใจกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เพราะความสะดวกในการโอนและถ่ายเงินนี้ ก็อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ เช่นการฟอกเงิน หรือซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย เหมือนที่สกุลเงินดิจิทัลหลายๆตัวถูกนำไปใช้แบบผิดวัตถุประสงค์

และสุดท้าย หลายๆคนก็คงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม และเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ เพราะเมื่อเวลานั้นมาถึง คุณจะต้องเป็นผู้สร้างดิจิทัล วอลเลต และสอนวิธีใช้ให้กับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย เหมือนที่ผู้ใช้ Twitter รายนี้เตือนไว้แน่นอน

 

 

 

เรียบเรียงจาก
Crypto Twitter responds to the reality of Facebook’s ‘cryptocurrency’

Top Democrat calls for Facebook to halt cryptocurrency plans until Congress investigates

Facebook’s ‘cryptocurrency’ is missing one thing: monetary policy

Bitcoin Evangelist Andreas Antonopoulos Says Facebook’s Crypto Isn’t a Real Blockchain

THE AMBITIOUS PLAN BEHIND FACEBOOK’S CRYPTOCURRENCY

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
220
Shares
Previous Article
Made In China

ผู้ประกอบการรับ หมดยุค 'Made In China' เพราะสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

Next Article
Libra

อริเก่า 'มาร์ค' ไม่ปิดโอกาสร่วมงานกัน หลัง Facebook เปิดตัวเงินดิจิทัล Libra

Related Posts