อีลอน มัสก์ แถลงผลงานล่าสุดของ Neuralink ว่าปัจจุบัน อยู่ระหว่างพัฒนาสายเชื่อมประสาท สำหรับเชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆได้โดยตรง รวมถึงการต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่ด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสมองด้วย
มัสก์ ก่อตั้งบริษัทฯนี้ ขึ้นเมื่อ ปี 2017 แต่ไม่มีการเปิดเผยความเคลื่อนไหวใดๆ นอกจากการรับสมัครบุคลากรในด้านต่างๆเท่านั้น ก่อนจะมีการไลฟ์สดแถลงผลงานของบริษัทเป็นครั้งแรกในรอบสองปีที่ผ่านมา
สำหรับเทคโนโลยีหลักๆสามประเภทที่มีการเอ่ยถึง ได้แก่
- สายเชื่อมประสาท
- หุ่นยนต์สำหรับเชื่อมสายเหล่านี้เข้ากับสมอง
- ชิปที่ถ่ายโอนข้อมูลจากสมองผ่าน USB-C
สายเชื่อมประสาท (มัสก์ เรียกเทคโนโลยีนี้ ว่า threads) จะถูกใช้เพื่อเชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ สายนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 4 ถึง 6 ไมโครเมตร หรือเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ จึงส่งผลกระทบต่อสมองในทางลบน้อยกว่าอุปกรณ์อื่นๆ แต่ยังสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้ ผ่านขั้วไฟฟ้า (electrodes) สำหรับรับสัญญาณประสาทจากสมองมากถึง 3,072 ขั้ว ซึ่งอยู่ในสายเชื่อมจำนวน 96 เส้น
ส่วนหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมสายเหล่านี้เข้ากับสมองของมนุษย์ สามารถฝังสายเชื่อมได้ 6 เส้น ในหนึ่งนาที ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ และเลี่ยงการกระทบให้สมองเกิดความระคายเคืองน้อยที่สุด โดย มัสก์ นิยามว่าการผ่าตัดนี้ จะใกล้เคียงกับการทำเลสิคสายตามากกว่าการผ่าตัดสมอง
สุดท้าย คือชิปที่พัฒนาขึ้นเพื่อรับส่งข้อมูลจากสมอง แต่ปัจจุบัน ยังต้องทำการเชื่อมต่อผ่านพอร์ท USB-C เท่านั้น และอยู่ระหว่างพัฒนาให้เชื่อมต่อได้แบบไร้สาย ซี่ง แม็กซ์ โฮดัค ประธานของ Neuralink เสริมว่าในอนาคตโครงการ N1 sensor นี้ เราสามารถควบคุมชิปต่างๆที่ฝังในร่างกายได้ง่ายๆผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเท่านั้น
ในตอนท้ายของการแถลงข่าว ทีมงานของ Neuralink ยอมรับว่าระบบเหล่านี้ ยังต้องพัฒนาต่ออีกมาก โดยปัจจุบันนั้นอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับหนู ส่วนการทดลองกับมนุษย์นั้น ยังอยู่ในระหว่างขออนุญาตจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) แต่คาดว่าจะเริ่มต้นได้อย่างเร็วสุดภายในไตรมาสที่สองของปี 2020
AHEAD TAKEAWAY
ประเด็นเรื่องการเชื่อมสมองกับคอมพิวเตอร์นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ เคยมีเทคโนโลยี BrainGate ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Brown University แต่เทคโนโลยีของ Neuralink นั้นก้าวหน้ากว่า และถูกมองว่ามีความปลอดภัยมากกว่า
อีลอน มัสก์ เคยให้เหตุผลในการก่อตั้งบริษัทฯนี้ ขึ้น ว่าเพราะต้องการดึงศักยภาพในสมองมนุษย์ออกมาใช้ให้ได้เต็มประสิทธิภาพ
เพราะในทรรศนะของเจ้าตัว สมองของมนุษย์คือคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุด มีแบนด์วิธที่สูงมากในแง่การรับข้อมูล (input) และประมวลผล ปัญหาการส่งข้อมูลออก (output) กลับมีข้อจำกัดที่ต้องผ่านหลายขั้นตอน เช่น กว่าจะสั่งการจากสมอง ไปยังมือเพื่อพิมพ์หรือคลิกเมาส์ ซึ่งขั้นตอนนี้จะหมดไป ถ้าสามารถสั่งการโดยตรงจากอินเตอร์เฟสในสมองของเราได้เลย
หากก้าวข้ามกำแพงตรงนี้ไปได้ มัสก์ มองว่ามีโอกาสที่เราจะเข้าใจการทำงานของสมองมากขึ้น ซึ่งสามารถต่อยอดไปได้หลายแขนง ทั้งการรักษาอาการป่วยที่เกี่ยวกับสมอง อย่าง อัลไซเมอร์ หรือ พาร์กินสัน ได้
นอกจากประเด็นทางการแพทย์แล้ว อีกเรื่องที่ มัสก์ ให้ความสำคัญเช่นกัน คือการยกระดับความสามารถของมนุษย์ให้เท่าทันพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของ AI ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าตัวเน้นย้ำเสมอว่าเป็นเรื่องจำเป็น
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของ มัสก์ ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากหลายคนในวงการแพทย์
โธมัส สติกลิทซ์ จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพการแพทย์ มหาวิทยาลัยไฟรบวร์กในเยอรมนี มองว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังไม่สามารถตอบโจทย์จินตนาการของ มัสก์ ได้ในเวลาอันสั้น
สติกลิทซ์ มองว่าการอัพโหลดหรือดาวน์โหลดข้อมูลจากสมองโดยตรง ซึ่งเป็นเป้าหมายในระยะยาวของ มัสก์ ยังห่างไกลจากความจริงมากนัก
“มันอาจฟังดูดีสำหรับนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ในความเป็นจริง มันเป็นเรื่องที่เพ้อฝันมาก”
ในมุมของทีมงาน AHEAD ASIA การจะด่วนระบุว่าแนวคิดเหล่านี้ “เป็นไปไม่ได้” ก็อาจจะเป็นการตัดโอกาสสำหรับการสร้างนวัตกรรมแต่เนิ่นๆ
เพราะบทบาท serial entrepreneur ที่ผ่านมาของ มัสก์ นั้น ธุรกิจจากไอเดียของเจ้าตัว ไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอยๆ แต่เกิดจากการสั่งสมความรู้ในฐานะนักอ่านมาตั้งแต่เล็ก และนำความรู้เหล่านั้นมาต่อยอดเป็นธุรกิจ เมื่อเทคโนโลยีเอื้อให้
ไม่ว่าจะเป็น PayPal ซึ่งเกิดได้เพราะ ระบบอินเทอร์เน็ตมีความเสถียรมากขึ้น และมีการใช้งานทั่วโลก ควบคู่ไปกับการบูมของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือ การลงทุนใน Tesla ที่กลายเป็นแม่แบบให้ผู้ผลิตยานยนต์ทั่วโลกต้องเปลี่ยนแนวคิด เมื่อเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ถูกพัฒนาให้ใช้งานได้จริง จน EV มีโอกาสทดแทนรถยนต์เครื่องสันดาป (ICE) ได้ในอนาคต ฯลฯ (อ่านเพิ่มเติม อีลอน มัสก์ ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง Tesla)
การติดตามข่าวสารเพื่อให้เท่าทันความเป็นไปใหม่ๆ จึงมีความสำคัญเสมอสำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้บริหารในองค์กร เพื่อที่จะได้สามารถปรับตัวหรือมองหาแนวทางใหม่ๆในการต่อยอดหรือขยายธุรกิจของตัวเองออกไป แทนที่จะตัดจบตรงที่คำว่า “ไม่น่าเป็นไปได้” แล้วหยุดการพัฒนาตัวเองไว้เพียงแค่นั้น
เรียบเรียงจาก
Elon Musk Wants to Put Slightly Creepy Implants Into People’s Brains Next Year
ELON MUSK’S COMPANY PLANS TO HOOK HUMAN BRAINS DIRECTLY TO COMPUTERS
Elon Musk hopes to put sensors in human brains next year
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า