นิสัยส่วนตัว คือสิ่งที่กำหนดชีวิตของคุณทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตก การทำพฤติกรรมเชิงลบต่อเนื่องกันนานๆ จนกลายเป็น นิสัยเสีย ที่ฝังลึกอยู่ในตัว คือเหตุผลที่ฉุดรั้งให้ชีวิตคุณไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
การจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในเชิงบวกให้ได้ จึงจำต้องละทิ้งนิสัยเดิมๆไปด้วย มาย้อนดูกันว่า นิสัยเสีย อะไรบ้าง ซึ่งคุณต้องกำจัดทิ้ง เพื่อเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม
#1
สารพัดข้ออ้าง
เคยสำรวจตัวเองว่าชอบคิดหาเหตุผลโน่นนี่นั่น เวลาล้มเหลวหรืออะไรไม่เป็นใจ หรือมีเหตุผลสารพัดที่คุณไม่ได้เริ่มลงมือทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ซักที
การหาข้ออ้างสารพัด เป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการป้องกันตัวเอง แต่ยิ่งคุณใช้เวลาไปกับเรื่องเหล่านั้นมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับกินเวลาที่จะลงมือทำมากขึ้นเท่านั้น
และถ้าคุณทำมันบ่อยๆจนเป็นนิสัย มันจะกลายเป็นวัฏจักรที่วนลูปไม่จบสิ้น จนคุณไม่ได้เริ่มต้นอะไรใหม่ หรือทำสิ่งที่คิดไว้ให้เสร็จซักที
การจะออกจากคอมฟอร์ทโซนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไป ถ้าคุณสร้างนิสัยที่ตรงข้ามกับการหนีปัญหาขึ้น บางทีอาจเริ่มจากการหยิบลิสต์สิ่งที่คุณอยากทำมาสำรวจดูว่าเรื่องไหนนั้นพอจะทำได้ และค่อยๆเริ่มจากจุดนั้น
เมื่อคุณทำสำเร็จไปได้หนึ่งเรื่อง คุณจะเริ่มมั่นใจขึ้น และค่อยๆขยับไปหาเรื่องถัดไปที่ยากกว่า แล้วคุณจะพบว่าบางครั้งการออกจากคอมฟอร์ทโซนที่เราสร้างขึ้นมาเอง ก็ไม่ได้สร้างความอึดอัดใจให้ตัวเองเสมอไป
AHEAD TAKEAWAY: การผัดวันประกันพรุ่งนั้น มีเหตุผลเบื้องหลังมากมาย หนึ่งในนั้นคือการที่มันเป็นตัวตนจริงๆของคุณ แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ทำอะไรอยู่ดี หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับแก้ไขเรื่องนี้ คือการวางเป้าหมายและเดดไลน์ที่ชัดเจน เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คุณลงมือทำ ซึ่งอาจมีแรงเสริมในรูปของรางวัลหรือการลงโทษ ตามแต่ที่คุณเห็นว่ามันเหมาะกับคุณจริงๆ
อ่านเพิ่มเติม:
5 เหตุผลที่ทำให้คุณผัดวันประกันพรุ่ง (พร้อมวิธีแก้ไข)
#2
ออนไลน์ตลอดเวลาที่ตื่น
สมาร์ทโฟน คือตัวการสำคัญที่ทำให้สมาธิของคุณไขว้เขว ทั้ง Facebook, Messenger, Line, Instagram และอีกสารพัด ตั้งแต่ตอนที่คุณตื่นจนถึงเข้านอน
นิโคลัส คาร์ ผู้เขียน The Shallows: What the Internet Is Doing to Our Brains อธิบายว่าคนเรามักใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ผิด คือแทนที่จะใช้มันเป็นส่วนเสริมหรือเครื่องมือเรากลับใช้มันเป็นที่เก็บข้อมูลทั้งหมดแทน ทำให้กระบวนการคิดของสมองไม่ได้ถูกใช้งานอย่างที่ควรจะเป็น หลายครั้ง เราถึงมักหลงลืมเรื่องง่ายๆไป เพราะเราพึ่งพาเครื่องมือเหล่านั้นมากเกินไป
คำแนะนำจาก คาร์ คือ หยุดการเชื่อมต่อกับโลกบ้าง ลองปิดสมาร์ทโฟนของคุณดูระหว่างที่อยู่ในออฟฟิศ แล้วลองสังเกตตัวเองว่าทำงานได้ดีขึ้นรึเปล่า
AHEAD TAKEAWAY: การไถฟีดเพื่อดูคอนเทนต์เจ๋งๆในโลกโซเชียล เป็น นิสัยเสีย ที่คุณอาจเข้าใจผิดว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ แต่ ลิซา ฮัทชิสัน นักจิตบำบัด มองว่ายิ่งคุณจมลึกกับโลกออนไลน์มากเท่าไหร่ ก็เท่ากับตัดโอกาสที่คุณจะสร้างอะไรใหม่ๆขึ้นมา “ด้วยตัวเอง” มากกว่า
อ่านเพิ่มเติม:
7 อุปสรรคที่ขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ของคุณ
#3
ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
การทำงานแบบ multitask เพราะเชื่อว่าจะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้นเป็นความเชื่อแบบผิดๆที่ฝังหัวกันมานาน
เดฟ เครนชอว์ เจ้าของหนังสือ The Myth of Multitasking: How “Doing It All” Gets Nothing Done อธิบายว่าคนเรามักเข้าใจผิด ระหว่าง background tasking กับ multitasking ว่าไม่มีความแตกต่างกัน
พฤติกรรมอย่าง การฟังเพลงขณะขับรถ หรือดูทีวีระหว่างวิ่งบนสายพาน นั้นเป็น background tasking ซึ่งสมองของเรายังคงโฟกัสกับงานหลัก (ขับรถ และวิ่งบนสายพาน) ขณะที่การฟังเพลงหรือดูทีวีระหว่างนั้น ไม่ได้รบกวนสมาธิแต่อย่างใด
แต่ถ้าคุณลองเปลี่ยนเป็นการเล่นสมาร์ทโฟนระหว่างขับรถ หรืออ่านหนังสือไปพร้อมวิ่งบนสายพานแล้ว สมองจะเริ่มสับสนว่าต้องโฟกัสกับสิ่งไหนดี ซึ่งนี่คือการทำ multitasking
ซึ่งก็มีผลวิจัยยืนยันแล้วว่ามีมนุษย์เพียง 2% เท่านั้นที่ทำงานหลายๆอย่างพร้อมกันได้มีประสิทธิภาพ “จริงๆ”
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนในกลุ่มนั้นรึเปล่า แต่มันก็ไม่จำเป็นอยู่ดีที่จะต้องทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกัน
เพราะในความเป็นจริง ในช่วงเวลาหนึ่ง สมองของเราจดจ่ออย่างเต็มที่ได้กับเรื่องเดียวเท่านั้น การแบ่งสมาธิไปยังเรื่องอื่นในเวลาเดียวกัน กลายเป็นทำให้คุณไขว้เขวมากกว่า
กลอเรีย มาร์ค ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย เออร์ไวน์ อธิบายว่ามนุษย์เราต้องใช้เวลาถึง 23 นาที 15 วินาที ในการเรียกสมาธิกลับมาเต็มร้อย ทุกครั้งที่ถูกขัดจังหวะในการทำงาน
ฉะนั้น การแบ่งสมาธิไปยังหลายๆเรื่อง นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังทำให้สมองคุณทำงานหนักขึ้น และเครียดขึ้นทั้งโดยรู้และไม่รู้ตัว
AHEAD TAKEAWAY: แม้จะมีงานวิจัยหลายๆชิ้นยืนยันตรงกันว่า multitasking เป็นผลเสีย แต่คนจำนวนมากก็ยังไม่สามารถจัดระบบความคิดของตัวเองได้ หนึ่งในวิธีที่ได้ผลคือการนำหลักการของ ไบรอัน เทรซี ผู้เขียน Eat That Frog! มาใช้ นั่นคือบังคับตัวเองให้ทำงานสำคัญๆที่ต้องใช้สมาธิสูงให้เสร็จก่อนอย่างน้อยสามเรื่อง ถึงจะเริ่มเช็กอีเมลได้ เพราะอีเมลคือหนึ่งในตัวป่วนสมาธิและต้นตอของการ multitasking ตัวจริง
อ่านเพิ่มเติม:
10 เรื่องต้องทำ เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ
#4
ตอบรับทุกเรื่อง ไม่เคยปฏิเสธ
เวลาคือวัตถุดิบสำคัญของการสร้างสรรค์และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เรามักเสียเวลาไปกับความเกรงใจ ไม่กล้าปฏิเสธคน จนกระทบต่อสมาธิของตัวเอง
การหัดรู้จักปฏิเสธบ้าง จะช่วยให้คุณโฟกัสกับงานของตัวเองได้ดีขึ้น เหมือนที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ว่า “คุณจะปล่อยให้คนอื่นมากำหนดสิ่งที่คุณต้องทำในชีวิตไม่ได้ (You can’t let other people set your agenda in life)”
AHEAD TAKEAWAY: งานวิจัยจากเบิร์คลีย์ พบว่ายิ่งคุณเป็นคนปากหนัก ปฏิเสธคนไม่เป็นมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะต้องแบกรับความเครียด ความเหนื่อยล้า ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น (และมันจะโยงกลับไปที่เรื่อง multitasking ด้วย) แต่การปฏิเสธก็ควรต้องมีชั้นเชิงบ้าง เช่นอธิบายว่าเรามีงานสำคัญที่ต้องทำให้เสร็จ ณ ตอนนั้น แทนที่จะใช้คำว่า “ผมคิดว่าไม่น่าจะทำได้” หรือ “ไม่แน่ใจว่าจะทำได้” ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกในเชิงลบ
#5
มองตัวเองในแง่ลบ
หนักกว่าการหาข้ออ้างสารพัดที่จะไม่ทำ คือการมองตัวเองในแง่ลบว่าไม่มีศักยภาพพอที่จะทำอะไรสำเร็จ
งานวิจัยทางจิตวิทยาหลายฉบับ ยืนยันตรงกันว่าความสำเร็จในชีวิตของคน มีส่วนสัมพันธ์กับการเห็นคุณค่าในตัวเอง (self esteem) คนที่มองตัวเองในแง่ลบเสมอจึงมักมีปัญหาตั้งแต่เรื่องส่วนตัวไปจนถึงหน้าที่การงาน
การจะก้าวข้ามเรื่องนี้ไปได้ คือต้องคิดว่าในโลกนี้ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้น ถ้ามีสิ่งที่คุณต้องการลงมือทำ ให้ค่อยๆเริ่มต้น และพยายามพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เมื่อคุณทำมันได้ดีขึ้น เสียงวิจารณ์ในหัวตัวเองก็จะค่อยๆเบาลงไปเอง
หมือนที่ Louise L. Hay เจ้าของหนังสือ You can heal your life อธิบายว่าถ้าการวิจารณ์ตัวเองที่ทำมาตลอดหลายปี มันไม่ได้ผล ก็ให้ลองพิสูจน์ตัวเองด้วยการลงมือทำ แล้วรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
AHEAD TAKEAWAY: คำแนะนำในเรื่องนี้จาก เพเตอร์ ลุดวิก ผู้เขียน The End of Procrastination คือให้พยายามคิดว่า อย่างน้อยการได้ลงมือทำ ก็ดีกว่าอยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไร แล้วมานั่งเสียใจทีหลัง
ซึ่งเป็นไปตามกฎ Regret Minimization ที่ เจฟฟ์ เบโซส อธิบายเหตุผลในการลาออกจากงานที่มั่นคงในเวลานั้น ว่าเขาอาจเสียดายตอนอายุ 80 ปี ที่ต้องเป็นคนเห็นอีคอมเมิร์ซเติบโตโดยไม่ได้มีส่วนร่วม
อ่านเพิ่มเติม:
8 เหตุผลที่ทำให้จารย์เจฟฟ์รวยที่สุดในโลก
#6
ถามหาความสมบูรณ์แบบ
เมื่อคุณเริ่มต้นลงมือทำ แต่กลับหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนั้นจนหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะคุณมัวแต่ปรับโน่นนิดนี่หน่อยตลอดเวลา เพื่อความสมบูรณ์แบบ ซึ่งไม่มีจริง
เพราะในโลกใบนี้ คนที่ได้รับการยอมรับคือคนที่ทำงานเสร็จ ไม่ใช่คนที่ตามหาความสมบูรณ์แบบตลอดเวลา
ลองนึกภาพว่าถ้า มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ชะลอการเปิดตัว Facebook ไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าจะทำให้มันสมบูรณ์แบบได้กว่าตอนสร้างขึ้นมา วันนี้ ตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์คน่าจะตกเป็นของคนอื่นไปแล้ว
กลับกัน Facebook ที่เปิดตัวเป็นครั้งแรก คือมันดีที่สุด “ณ เวลานั้น” และค่อยๆใช้ข้อมูลหรือฟีดแบ็กจากผู้ใช้ มาปรับปรุงเพิ่มเติมทีละน้อย จนได้โซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ถึงเรายังได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของมันตลอด แต่เป็นการต่อยอดจากงานที่เสร็จแล้วมากกว่า
AHEAD TAKEAWAY: ดรูว์ ฮุสตัน ผู้ก่อตั้ง Dropbox เป็นอีกคนที่ไม่เชื่อเรื่องเวลาที่เหมาะสม เขารู้ว่าคนที่เรียนมาทางด้านวิศวกรรม มักจะติดกับดักความคิดแบบนี้ เพราะธรรมชาติที่ถูกสอนมาให้แน่ใจกับสิ่งที่ทำอยู่ที่สุดก่อน แต่ ฮุสตัน ที่จบมาทางด้านซอฟต์แวร์เอ็นจิเนียร์ ก็เลือกที่จะก้าวข้ามกฎนั้น เพราะเขาคิดว่าถ้ามัวแต่รอให้พร้อม ก็อาจจะเกษียณพอดี
อ่านเพิ่มเติม:
7 บทเรียนธุรกิจ จากประสบการณ์ตรงของ ดรูว์ ฮุสตัน ซีอีโอ Dropbox
#7
ใส่ใจเรื่องที่ไม่ควรใส่ใจ
เป็นธรรมดาที่ระหว่างวัน จะต้องมีเรื่องที่ทำให้คุณหงุดหงิดผ่านเข้ามาตลอดเวลา แต่จะให้ปล่อยเรื่องรถติด คนแซงคิวตอนเข้าลิฟท์ หรือชนจนแก้วกาแฟในมือคุณหก มาให้คุณอารมณ์เสียไปตลอดวันไม่ได้ เพราะมันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคุณในระยะยาว
ศิลปะของการ “ช่างมัน” (หรือจริงๆ น่าจะเป็น ช่างแ_ง มากกว่า) ก็เป็นทักษะอีกประเภทที่ต้องมีการขัดเกลาเหมือนทักษะอื่นๆ ถ้าคุณสามารถก้าวข้ามเรื่องไม่จำเป็นเหล่านี้ไปได้ คุณจะมองเห็นโลกในมุมที่ต่างไปจากเดิม
มาร์ค แมนสัน ผู้เขียน The Subtle Art of Not Giving A Fuck ย้ำว่าทางเลือกสู่การมีชีวิตที่ดี ก็คือให้ความสำคัญ “เฉพาะ” กับเรื่องที่ส่งผลดีต่อชีวิตคุณก็พอ เมื่อคุณทำได้ คุณก็จะเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และไม่ปล่อยให้เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมารบกวนการตัดสินใจของคุณอีกต่อไป
AHEAD TAKEAWAY: สตีฟ จ๊อบส์ เป็นอีกคนที่เชื่อในศิลปะของการ “คัดออก” และใช้มันจนประสบความสำเร็จ เขาอธิบายว่าการโฟกัสมีมากกว่าแค่จดจ่อกับสิ่งที่ทำ แต่อีกด้านที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการรู้ว่าจะต้องตัดอะไรทิ้งบ้าง
“ผมภูมิใจในสิ่งที่ไม่ได้ทำ พอๆกับสิ่งที่ตัดสินใจลงมือทำ”
อ่านเพิ่มเติม:
คำแนะนำเปลี่ยนชีวิตจาก สตีฟ จ๊อบส์, บิล เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์
เรียบเรียงจาก
Bad habits you must immediately break to improve your life in the next 100 days
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า