ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ

ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ผู้สร้างงานจากความล้มเหลว

3 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นวันคล้ายวันเกิด ของหนึ่งในตัวการ์ตูนที่มีผู้คนรู้จัก และชื่นชอบมากที่สุดในโลก – โดราเอมอน

ซึ่งตามเนื้อหาในเรื่อง จะถูกสร้างขึ้นในอีก 93 ปีข้างหน้า หรือในปี 2112 และถูกส่งย้อนเวลากลับมา เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กชายจอมขี้เกียจคนหนึ่ง กระทั่งกลายเป็นเรื่องราวที่ชนะใจเด็กๆทั่วโลกไปตลอดกาล

และเป็นผลงานอมตะตลอดกาลของคู่หูนักวาดการ์ตูน ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ และ โมโตโอะ อาบิโกะ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ นั่นเอง

ความผิดพลาดที่เกือบทำทุกอย่างพังทลาย

ฟูจิโมโตะ และ อาบิโกะ เจอกันครั้งแรก ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมปีที่ 5 และกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน เพราะต่างก็ชื่นชอบการวาดการ์ตูน แถมยังมี เท็ตสึกะ โอซามุ ปรมาจารย์แห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นไอดอลเหมือนกัน

จากเพื่อนสนิท ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนร่วมงานกัน เมื่อลงมือทำหนังสือการ์ตูนทำมือตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยม รวมถึงส่งงานไปตีพิมพ์ประจำในนิตยสาร

ในที่สุด ทั้งคู่ก็เบนเข็มสู่เส้นทางสายนี้แบบจริงจัง โดยใช้นามปากการ่วมกัน ว่า ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujko Fujio) เมื่อปี 1954

ทั้งคู่สร้างชื่ออย่างรวดเร็ว และงานชุกถึงขนาดมีงานตีพิมพ์พร้อมกันถึง 6 เรื่องภายในหนึ่งเดือน แต่ความผิดพลาดครั้งเดียว ก็ทำให้นามปากกานี้เสียเครดิตจนแทบไม่มีงานนานนับปี

เพราะความประมาทที่กลับไปฉลองปีใหม่ที่บ้านเกิดจนเพลิน และพลาดเดดไลน์ส่งต้นฉบับ

จากกระดาษสู่จอโทรทัศน์

โชคยังดีที่เมื่องานด้านการ์ตูนที่เบาลง เปิดโอกาสให้ทั้งคู่ได้มีเวลาศึกษางานด้านโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคนั้น

กระทั่งมีโอกาสเปิด Studio Zero สตูดิโอสำหรับสร้างแอนิเมชั่น ร่วมกับเพื่อนในวงการหลายคน เมื่อปี 1963 และมีผลงานดังๆ อย่าง Astro Boy (เจ้าหนูปรมาณู) ฯลฯ

และในช่วงเดียวกันนี้เอง ที่ทั้งคู่เริ่มมีครอบครัว ทำให้แนวการทำงานเปลี่ยนมาโฟกัสที่ครอบครัวและเด็กมากขึ้น เช่น ผีน้อยคิวทาโร่ นินจาฮาโตริ และ ปาร์แมน

แต่ทั้งหมดนี้ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับการ์ตูนเรื่องใหม่ของทั้งคู่ ที่เกิดขึ้นจากความบังเอิญ

ตุ๊กตา + แมว + ไซไฟ

ระหว่างคิดหาไอเดียตั้งต้นสำหรับการ์ตูนเรื่องใหม่ ที่จะตีพิมพ์ลงนิตยสารรายเดือนสำหรับเด็กเล็ก ในปี 1969

ฟูจิโมโตะ ก็ไปสะดุดกับกองของเล่นของลูกสาวที่วางเกะกะบนพื้น (ตุ๊กตา) ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่แมวจรข้างบ้านกำลังกัดกัน (แมว)

เมื่อรวมกับจินตนาการส่วนตัวที่อยากได้เครื่องมือช่วยย้อนเวลาไปหาไอเดียใหม่ๆ (นิยายวิทยาศาสตร์)

จึงเป็นที่มาของหุ่นยนต์แมวสีน้ำเงินที่มาพร้อมสารพัดอุปกรณ์สำหรับแก้ปัญหาจากโลกอนาคต

ในช่วงแรกนั้น โดราเอมอน ตีพิมพ์ในหนังสือการ์ตูนสำหรับด็กเล็ก จึงยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้างมากนัก จนเมื่อถูกนำมาดัดแปลงเป็นแอนิเมชันซีรีส์ เพื่อแพร่ภาพทั่วไปในปี 1973 จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยน จนได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ

ถึงขนาดส่งให้ทั้งสองคนได้รับรางวัลจากสมาคมนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น (Nihon Mangaka Association) ในปีเดียวกัน

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงจากผลงานร่วมกันชิ้นนี้ แต่ด้วยมุมมองบางเรื่องที่แตกต่าง ทำให้ ฟูจิโมโตะ และ อาบิโกะ ตัดสินใจเลิกใช้นามปากการ่วมกัน ในปี 1987

และแยกไปใช้นามปากกาของใครของมันแทน โดย ฟูจิโมโตะ ใช้ชื่อว่า “ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ” ส่วน อาบิโกะ ใช้ชื่อว่า ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ

เล่าเรื่องของคนล้มเหลว

เหตุผลหลักที่ทำให้ผลงานของทั้งคู่ประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมในวงกว้าง คือการเล่าเรื่องของคนล้มเหลวที่ค่อยๆเติบโตขึ้น

ถ้าสังเกตดู จะเห็นว่า ไม่ใช่แค่ โนบิตะ จากโดราเอมอน แต่ตัวละครหลักในการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ก็มักเป็นเด็กที่อ่อนแอ หรืออยู่ในระหว่างรอยต่อของการพัฒนาตัวเองแทบทุกราย

ฟูจิโมโตะ ผู้ล่วงลับ (เสียชีวิตด้วยอาการป่วยจากมะเร็งตับ ในปี 1996) เคยให้สัมภาษณ์ว่าในการทำงาน คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งที่ประสบความสำเร็จทุกอย่าง

เพราะในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ เราไม่อาจยึดประสบการณ์ส่วนตัวเป็นหลักได้บางคนอาจมีชีวิตที่น่าเบื่อ หรือเต็มไปด้วยเรื่องน่าเศร้า

แต่ก็สามารถเขียนการ์ตูนที่ดีและสนุกได้ ถ้ารู้จักค้นคว้าสิ่งใหม่ๆมาใช้เป็นวัตถุดิบ

“นั่นจะทำให้คุณสร้างสรรค์งานได้ไม่รู้จบ ผมสนับสนุนคนแบบนี้ ผมชอบอ่านมังงะจากคนล้มเหลว มากกว่ามังงะที่เขียนโดยคนฉลาดๆ และประสบความสำเร็จในชีวิตไปซะทุกเรื่อง”

เรียบเรียงจาก

Japan celebrates Doraemon’s birthday, Fujiko F. Fujio’s legacy

Fujiko F. Fujio-Creator of Doraemon

Fujiko F. Fujio’s View on Manga and Manga Artists

ยูกิ ฮันยู โอตาคุผู้ปลูกเนื้อจากอนาคต แห่ง Shojinmeat Project

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
33
Shares
Previous Article
มาร์ค คิวบัน

ถอดรหัสความสำเร็จ มาร์ค คิวบัน บิลเนียนแนร์นอกกรอบ

Next Article
Virgin Atlantic

Virgin Atlantic : สายการบินแซ่บไม่เหมือนใคร

Related Posts