ถ้าจะถามหาผู้บริหารสุดซ่า ผู้พร้อมท้าทายสารพัดกฎเกณฑ์ดั้งเดิม หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน รวมอยู่ด้วย (อ่านเพิ่มเติมใน คนโง่ที่สุดในโรงเรียน ผู้สร้างอาณาจักรพันล้าน)
เพราะธุรกิจของ Virgin Group นั้น ไม่ได้ยึดติดกับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเลย เพราะมีตั้งแต่โทรคมนาคม (Virgin Mobile) ไปจนถึงโลจิสติกส์ และท่องอวกาศ (Virgin Orbit กับ Virgin Galactic) ฯลฯ อีกสารพัด
แต่หนึ่งในธุรกิจที่เจ้าตัวรับว่าโปรดปรานเป็นพิเศษ คือ Virgin Atlantic สายการบินที่ เซอร์ ริชาร์ด ทุ่มสุดตัว ถึงขนาดตัดใจขายค่ายเพลง Virgin Records ธุรกิจแรกของกลุ่มบริษัทฯ ในช่วงต้นยุค 90s ให้กับ EMI เพื่อหาเงินก้อนมาลงทุนกับมันโดยเฉพาะ
แม้แต่จุดเริ่มต้นของ Virgin Atlantic ก็แหวกแนวกว่าสายการบินอื่นๆ
คือความหงุดหงิดจากปัญหาไฟลท์ดีเลย์ รวมถึงคุณภาพการบริการและความคุ้มค่าที่ผู้โดยสารต้องจ่าย
เหตุเกิดจากไฟลท์ดีเลย์
แบรนสัน เล่าถึงไอเดียในการตั้งสายการบินของตัวเองว่า ตอนนั้นเขากำลังเตรียมเดินทางกลับจากเปอโตริโก ไปยังหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หลังไม่ได้เจอหน้าแฟนสาวนานถึงสามสัปดาห์ แต่เครื่องบินกลับขัดข้อง
ทางเลือกของเขามีสองตัวเลือก คือนั่งจิบไวน์รอไปเรื่อยๆ หรือหาวิธีอื่นเพื่อเดินทางกลับ
แบรนสัน นั่งคำนวณว่าถ้าเลือกเช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับ จะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และถ้าใช้วิธีหารกันกับผู้โดยสารคนอื่นๆ ค่าใช้จ่ายต่อหัวจะเหลือเท่าไหร่
สุดท้ายเขาตัดสินใจเช่าเหมาลำเครื่องบิน เพื่อกลับหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และลงมาเดินตระเวนขายตั๋วให้ผู้โดยสารคนอื่นๆที่ต้องการเดินทางไปด้วย ในราคาเที่ยวละ 39 ดอลลาร์
และนั่นคือจุดเริ่มต้น “อย่างไม่เป็นทางการ” ของ Virgin Atlantic
เค้กชอคโกแลต
ด้วยวิธีการบริหารและดำเนินงานที่หักล้างกฎเก่าๆจนหมด
สายการบินของ เซอร์ ริชาร์ด จึงมาแรงกว่าใครในยุคเริ่มต้น โดยเฉพาะการบริการผู้โดยสารที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
และมีเรื่องเล่ามากมายสำหรับ “ความไม่เหมือนใคร” ของสายการบินแห่งนี้ ที่พนักงานแทบทุกคน รับเอาดีเอ็นเอความซ่าของ เซอร์ ริชาร์ด มาใช้
หนึ่งในเรื่องที่มีการเล่าต่อกันมามากที่สุด คือ “เค้กช็อคโกแลต”
ว่ากันว่า เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อสองสาวแอร์โฮสเตส ซูซี่ และ แอนนี่ (นามสมมติ) บนไฟลท์ที่ออกเดินทางจากฮีทโธรว์ในลอนดอน มุ่งหน้าสู่ JFK เดิมพันกันว่าใครจะเสิร์ฟ “เค้กช็อคโกแลต” ให้ผู้โดยสารได้มากกว่า
เมื่อถึงเวลา ทั้งคู่ขยับรถเข็นที่บรรจุของว่างไปประจำตำแหน่ง
ซูซี่ หยิบเค้กขึ้นมาหนึ่งชิ้น ใช้นิ้วปาดครีมช็อคโกแลตจากหน้าเค้ก แล้วบรรจงวาดเส้นลงบนแก้มขวา ลากต่อมาจนถึงริมฝีปาก
ขณะที่ผู้โดยสารทุกคน หรือแม้แต่ แอนนี่ กำลังตะลึงอยู่นั้น ซูซี่ ก็เข็นรถของเธอตรงเข้าไปถามผู้โดยสารคนแรก พร้อมถามอย่างสุภาพว่าสนใจจะทานของว่างรึเปล่า
เมื่ออีกฝ่ายยังอ้ำอึ้งไม่ทันตอบ เธอก็เอ่ยต่อทันทีว่า “ส่วนตัวแล้ว…อยากแนะนำให้ลองทานเค้กช็อคโกแลตดูค่ะ”
ไม่ว่าก่อนนี้ ผู้โดยสารคนนั้นคิดถึงของว่างอะไรไว้ คำตอบที่หลุดจากปากก็คือ “รับครับ”
เช่นกัน แถวแล้วแถวเล่า ทุกคนก็ตอบรับข้อเสนอของ ซูซี่ จนเค้กช็อคโกแลตในรถเข็นของเธอหมดเกลี้ยง ขณะที่ แอนนี่ แพ้ราบคาบ เหลือของว่างเต็มรถเข็น
เคยมีคนนำเรื่องนี้ ไปถามแผนก HR ของ British Airways ว่า หากพนักงานต้อนรับบนเครื่องของ BA ทำแบบเดียวกัน จะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบจาก HR ของ BA คือทั้งคู่จะต้องถูกลงโทษแน่นอน เพราะถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
แต่ Virgin ยืนยันว่า ทั้ง ซูซี่ และ แอนนี่ ไม่เคยถูกลงโทษหรือเรียกตัวไปตักเตือนแม้แต่น้อย
เพราะนี่คือสไตล์ของ แบรนสัน ที่ต้องการให้สายการบินแห่งนี้ “ไม่เหมือนใคร” จนเป็นเอกลักษณ์นั่นเอง ซึ่งแนวคิดนี้ ก็ยังถูกส่งต่อมายัง โทนี่ เฟอร์นันเดส อดีตลูกจ้างของเจ้าตัว และผู้ก่อตั้งสายการบิน Air Asia นั่นเอง
เรียบเรียงจาก
The Incredible Reason Why Richard Branson Started His Own Airlines
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า
พูดยังไงไม่ให้ติดอ่างกลางเวที กับ 3 วิธีฝึก Public Speaking แบบ ริชาร์ด แบรนสัน