New York Post เผย Amazon อยู่ระหว่างทดลองใช้งาน ‘Orville’ ระบบชำระเงินด้วยการสแกนมือ แทนการใช้บัตรเครดิต หรือแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน คาดจะเริ่มใช้งานจริงกับซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือ Whole Foods ช่วงต้นปี 2020
ระบบของ ‘Orville’ อาศัยเซนเซอร์ช่วยตรวจจับรูปร่างและขนาดของมือ ว่าตรงกับเจ้าของบัญชี Amazon Prime ที่ใช้ในการชำระเงินหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสใดๆ ซึ่งต่างจากการสแกนลายนิ้วมือทั่วไปบนสมาร์ทโฟน และยังใช้เวลาเพียง 0.3 วินาทีเท่านั้น เทียบกับการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตทั่วไป ที่ต้องใช้เวลา 3-4 วินาทีเป็นอย่างน้อย
ปัจจุบัน ระบบนี้ถูกนำมาทดลองใช้แล้วที่ตู้ขายของอัตโนมัติ ในสำนักงานใหญ่ของ Amazon ที่นิวยอร์ค โดยมีระดับความคลาดเคลื่อนเพียง 0.0001% เท่านั้น ขณะที่ทีมวิศวกรของ Amazon ก็มีแผนจะพัฒนาให้ถึงระดับ 0.000001% (1 ในล้านของ 1 เปอร์เซนต์) ก่อนการใช้งานจริงกับซูเปอร์มาร์เก็ตเครือ Whole Foods ช่วงต้นปี 2020
AHEAD TAKEAWAY
จะเห็นว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีส่วนผลักดันให้การทำธุรกรรมทางการเงิน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จากธนบัตรสู่บัตรเดบิต/เครดิตเมื่อไม่กี่ปีก่อน ตอนนี้ cashless society ก็เปลี่ยนผ่านสู่ cardless society แล้ว ด้วยเหตุผลด้านความสะดวก ที่ไม่จำเป็นต้องพกบัตรพลาสติกจำนวนมากในกระเป๋าสตางค์อีกต่อไป เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนในมือก็สามารถทำธุรกรรมต่างๆได้แล้ว
และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจไม่ต้องพกสมาร์ทโฟน หรือหยิบมันขึ้นมาสแกนเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินอีก เพราะ mobile payment ต่างๆจะถูกแทนที่ด้วยการยืนยันตัวตนแบบไบโอเมตริกซ์
ข้อดีของความสะดวกที่เกิดขึ้นจากระบบนี้ คือผู้บริโภคก็พร้อมจะใช้จ่ายมากขึ้นด้วย
มาช์ด มัคซาด ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Status Money อธิบายว่า “สมมติคุณเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตและเห็นคนต่อแถวยาวเพื่อจ่ายเงิน ความอยากของคุณจะลดลงทันที และถ้าผู้บริโภคไม่ได้สัมผัสตัวเงินจริงๆ ก็มีโอกาสที่จะใช้จ่ายมากขึ้นด้วย”
จีน คือหนึ่งในชาติที่ผลักดันการนำเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์มาใช้ โดยเฉพาะระบบตรวจจับใบหน้า (face recognition) โดยสองยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของประเทศ อย่าง Alibaba และ Tencent ซึ่งบทวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์ South China Morning Post มองว่าระบบนี้ จะช่วยตัดปัญหาการที่คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึง หรือไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ
(อ่านเพิ่มเติม QR code หลบไป เมื่อร้านค้าในจีนรับชำระเงินด้วยระบบตรวจจับใบหน้า)
แต่ระบบตรวจจับใบหน้า ก็ยังถูกตั้งแง่อยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะความแม่นยำที่อาจคลาดเคลื่อนได้ ในกรณีคนหน้าคล้ายหรือเป็นฝาแฝดกัน รวมถึงเส้นแบ่งบางๆกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
(อ่านเพิ่มเติม โพลระบุคนอเมริกันเริ่มยอมรับระบบตรวจจับใบหน้า และ ตำรวจฟลอริดาทดลองใช้ระบบตรวจจับใบหน้าของ Amazon)
ซึ่ง ระบบชำระเงินด้วยการสแกนมือ ของ Amazon อาจตอบโจทย์นี้ได้ เพราะไม่ได้ใช้ลายนิ้วมือ ซึ่งสามารถทำสำเนาลอกแบบได้ ขณะที่ขนาดกับรูปร่างของมือนั้นปลอมแปลงหรือลอกเลียนได้ยากกว่า
ขณะที่ สเตฟานี แฮร์ นักวิจัยอิสระด้านเทคโนโลยี ก็เสริมว่าคนอเมริกันซึ่งยังตั้งแง่กับระบบตรวจจับใบหน้า น่าจะรู้สึกสะดวกใจกว่ากับการชำระเงินด้วยระบบสแกนมือ
และถ้าเทคโนโลยีนี้ได้ผล ก็มีแนวโน้มที่จะต่อยอดไปสู่รูปแบบอื่นๆได้เช่นกัน เช่นการปลดล็อคหรือเปิดปิดประตูบ้านและที่ทำงาน หรือการเข้าระบบขนส่งสาธารณะ ฯลฯ
รวมถึงเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า Amazon และ เจฟฟ์ เบโซส นั้นให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของลูกค้ามากแค่ไหน เพราะยิ่งง่ายเท่าไหร่ เราก็พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อแลกกับความสะดวกดังกล่าวมากขึ้นเท่านั้น
เรียบเรียงจาก
Amazon Testing Hand-Scanning Payment Method
Amazon tests Whole Foods payment system that uses hands as ID
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า