Global Business Dialogue 2019

ตามรอยฟินแลนด์ ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ใน Global Business Dialogue 2019

ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกประเด็นที่ทั่วโลกจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ฟินแลนด์ คือหนึ่งในชาติแม่แบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่พัฒนาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ เพื่อการเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ในงานสัมมนา Global Business Dialogue 2019 จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ Designing New Growth model Towards Sustainability

ได้มีการนำเสนอกรณีศึกษา การพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ซึ่งนอกจากจะช่วยเกื้อหนุนระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติแล้ว ยังเอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย โดยมี สาธารณรัฐฟินแลนด์ เป็นชาติต้นแบบของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

นโยบายรัฐรับมือวิกฤตโลกร้อน

อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งที่ทำให้โลกเกิดวิกฤตความยั่งยืน จากข้อมูลพบว่าพื้นที่บริเวณแถบอาร์กติกที่สูงขึ้น ส่งผลให้ 4 ปีที่ผ่านมาปะการังตายเป็นจำนวนมาก รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ กำลังเผชิญกับสัญญาณอันตราย

ฯพณฯ ซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จึงเร่งผลักดันให้วิกฤตความยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมผลักดันให้เกิดการประชุมสุดยอดของสหประชาชาติ เพื่อขอความร่วมือจากทุกประเทศในภาคี จัดทำเป้าหมายความยั่งยืนในด้านสภาพภูมิอากาศ

การวางนโยบายรัฐของฟินแลนด์นั้น ทำผ่าน Climate Reality Project เพื่อเน้นแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโดยตรง โดยมีเป้าหมายเป็นประเทศที่ปล่อยค่าคาร์บอนที่เป็นกลาง (Carbon Neutrality) หรือปลอดคาร์บอน ให้ได้ภายในปี 2035

ด้วยแนวทางต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่นสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจ ให้ภาคเอกชนลงทุนสร้างนวัตกรมเพื่อบรรลุเป้าหมาย ลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและภาคครัวเรือน ผ่านมาตรการทางภาษี

โมเดลพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านเอกชน

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลฟินแลนด์ ได้ดึงภาคเอกชน อาทิ Sitra และ St1 Nirdic Oy เข้ามามีส่วนร่วม ในการนำโมเดลการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) มาใช้

Sitra เป็นกองทุนนวัตกรรมฟินแลนด์ ซึ่งลงทุนในโครงการ และธุรกิจสตาร์ทอัพ เน้นให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ และยังมีบทบาทสำคัญในการวางโรดแมปเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระของชาติของฟินแลนด์ด้วย

“เศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นโมเดลของการทำธุรกิจในอนาคต เพราะนอกจากจะดีต่อสภาพแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ พิสูจน์ได้จากตัวเลขของบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมีส่วนสร้างดัชนีทางเศรษฐกิจในฟินแลนด์ได้มากถึง 2.5 พันล้านยูโร” Mr. Ernesto Hartikainen, Leading Specialist, Sitra, Finland กล่าว

Mr. Ernesto Hartikainen ยังได้ให้แนวคิดการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า จะต้องเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เข้ามาช่วยยืดวงจรของสินค้าให้มีความยาวนานมากขึ้น

องค์กรจึงควรออกแบบสินค้าและบริการของตัวเองใหม่ เช่น แทนที่จะผลิตสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็หันมาใช้วัตถุดิบรีไซเคิล หรือขยะชีวภาพ และใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น หรือนำเสนอโมเดล Sharing Economy ให้ลูกค้าได้จ่ายตามการใช้งาน เช่น ride หรือ home sharing

“ปัจจุบันสินค้าที่เกิดจากเศรษฐกิจหมุนเวียนยังไม่ได้รับการตอบรับจากตลาดมากนัก เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่อย่าลืมว่าสินค้าที่ขายอยู่ตามท้องตลาดในวันนี้เป็นราคาที่ถูกเกินไป เพราะยังไม่ได้รวมค่ากำจัดขยะ ฉะนั้นทุกคนจะต้องมาร่วมกันคิดแล้วว่าเราจะทำอย่างไร ในการคำนวณต้นทุนเหล่านั้นลงไปในราคาสินค้าด้วย ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะเรากำลังอยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่าน”

ส่วน St1 เป็นบริษัทพลังงานที่เน้นพัฒนาพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน หรือลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันเชลล์กว่า 1,300 แห่งกลุ่มประเทศนอร์ดิก และในอนาคตมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการขายและผู้ผลิตพลังงานที่ใส่ใจในก๊าซคาร์บอน

“จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นย่อมต้องใช้พลังงานมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถือเป็นความท้าทายของธุรกิจพลังงาน ในฐานะธุรกิจที่มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นจากการใช้พลังงานฟอสซิล

แต่ St1 กำลังท้าทายการทำธุรกิจแบบเดิมๆ โดยหันมาพัฒนาพลังงานหมุนเวียนโดยปราศจากฟอสซิล หรือใช้ให้น้อยที่สุด ที่ผ่านมาเราเป็นผู้แนะนำพลังงานหมุนเวียนออกสู่ตลาดโลก อาทิ พลังงานชีวภาพ พลังงานลม พลังงานจากขยะ และพลังงานความร้อนจากพื้นพิภพ เพื่อลดปริมาณการกลั่นน้ำมันจากพลังงานฟอสซิลลงเรื่อยๆ” Mr.Patrick Pitkänen, Director of Biorefining Business Development and Production, St1 Nordic Oy กล่าว

Mr. Patrick Pitkänen ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงขององค์กรเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีปัจจัยหลายอย่างเป็นองค์ประกอบ

นั่นคือ การวางกรอบการทำงานว่าผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากธุรกิจคืออะไร เพื่อนำไปสร้างนโยบายผลักดันในระยะยาวผสานเข้าไปในกระบวนการทำงาน (Process) ไม่ใช่ทำเป็นโครงการเฉพาะกิจ (Project)

St1 มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเป็นสิบปีในการพัฒนาพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในการสร้างนวัตกรรม

“รัฐบาลจะต้องเข้ามามีบทบาททั้งในแง่ของการให้แรงจูงใจ และบทลงโทษแก่ภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น รัฐบาลฟินแลนด์ออกมาตรการลดภาษีให้กับบริษัทที่ใช้พลังงานลม ส่งผลให้ St1 ตัดสินใจลงทุนสร้างฟาร์มกังหันลม (Wind Park) ทางตอนเหนือของนอร์เวย์เมื่อ 2 ปีก่อน

นอกจากนี้ชุมชนในท้องถิ่นยังเป็นพันธมิตรสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่ง St1 ใช้กลยุทธ์ Think Global, Act Local โดยนำขยะจากชุมชนใกล้ๆ โรงงานมาใช้เป็นพลังงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว”

จะเห็นได้ว่าฟินแลนด์โมเดลทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นแนวทางที่ทำให้องค์กรต่างๆ สามารถนำมาต่อยอดเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจบนโลกอนาคต ท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสภาพสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
World Robot Games Championship 2019

อนันดา เออร์เบินเทค ร่วมพิธีเปิด World Robot Games Championship 2019

Next Article
Open Location Platform

Here Technologies ปล่อย Open Location Platform ต่อยอดธุรกิจ location data

Related Posts