Edtech Asia

คุยเรื่องเทคโนโลยีและการศึกษาแห่งอนาคตกับ ดอรา โฮ แห่ง Edtech Asia

ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว Edtech หรือเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆที่ต้องรับมือกับโลกใบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

ในงาน RISE Innovation Week 2019 ทีมงาน AHEAD ASIA มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดอรา โฮ (Nattinee Dora Sae-Ho) จาก Learnhub และ Edtech Asia เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้กัน

Edtech Asia คืออะไร และทำอะไรบ้าง?

Edtech Asia เป็นคอมมูนิตี้บิลเดอร์ในวงการ edtech ระหว่างปี เราก็จะจัดเวิร์คช็อปตามที่ต่างๆ ทั้งที่ญี่ปุ่น ฮ่องกง คือทั่วเอเชียเลย เพื่อให้คนที่ทำงานด้านนี้ได้มาเจอกัน อัพเดทกันว่าตอนนี้คนอื่นเขาทำอะไรกันบ้างแล้ว จะได้เข้าใจว่าจากจุดที่เค้าอยู่ ถ้าจะโตขึ้น ต้องทำยังไงบ้าง

และทุกปี เราก็จะมีซัมมิตใหญ่ ซึ่งก็จะมีคนในวงการจากทั้งโลกมาร่วมด้วย เพราะตอนนี้ จีนทำให้ edtech ในเอเชียบูมมาก เพราะจีนมีสตาร์ทอัพ edtech ที่เป็นยูนิคอร์นเยอะมาก คนจากทั่วโลกก็จะมางานเรา เพื่อจะได้ติดต่อกับยูนิคอร์นพวกนี้

นอกจากการเป็นคอมมูนิตี้บิลเดอร์ เราก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทใหญ่ๆ หรือถ้ามีองค์กรไหนอยากทำ edtech ก็มาคุยกับเราได้ เพราะเราเข้าใจตลาดนี้ดี สามารถให้ insight ได้ หรือแม้แต่ช่วยตั้ง venture ให้เค้าเลยก็ได้ ตอนนี้ก็กำลังคุยอยู่กับหลายๆประเทศ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการการศึกษา แต่อยากจะเริ่มทำ เราก็เข้าไปช่วยเค้าสร้างผลิตภัณฑ์

Edtech ไทย อยู่ตรงไหนแล้ว

กับสตาร์ทอัพในไทย เราก็มีโอกาสได้พูดคุยในระดับนึงผ่านทาง StormBreaker Venture แต่ถ้าถามถึงภาพรวมของอีโคซิสเต็มที่นี่ เรามองว่าอยู่ในลักษณะแข่งขันกันมากกว่าจะร่วมมือกัน

แล้วก็ส่วนใหญ่จะออกไปทางธุรกิจติวเตอร์มากกว่า ซึ่งพอเป็นติวเตอร์ การแข่งขันมันก็จะสูง คนก็จะไม่ค่อยคุยกันเองเท่าไหร่ และส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิดีโอซะเยอะ

(อ่านเพิ่มเติม คุยกับ ชวัล เจียรวนนท์ ถึงโลกใหม่ที่ความรู้อยู่นอกห้องเรียนกับ Snapask)

เทรนด์ Edtech ทั่วโลก

เทียบกันแล้ว มันหลากหลายกว่ามาก คือมีตั้งแต่ซอฟต์แวร์ไปถึงฮาร์ดแวร์ อาจจะเป็น IoT ที่เอามาติดกับโต๊ะ ให้โต๊ะคุยกับเด็กที่เดินผ่าน เด็กจะได้รู้ว่าสิ่งรอบๆตัวมีอะไรบ้าง

แต่เทรนด์ที่กำลังมา คือติวเตอร์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง โดยเฉพาะในจีนนี่เป็นที่นิยมมาก อาจจะเป็นภาษาอังกฤษ หรืออะไรก็ได้ที่เป็น 1:1 คนจะสนใจเป็นพิเศษ อย่างในบ้านเรา ถ้าจะติวทีนึง เด็กก็ต้องมาหาติวเตอร์ที่โต๊ะนี้ แต่ถ้าเป็นของต่างประเทศ เด็กก็อยู่บ้านตัวเอง ติวเตอร์ก็อยู่บ้าน ต่างคนต่างล็อกอินผ่านระบบ ไม่ต้องเดินทางผ่านรถติด

AI ใน Edtech

เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ มันมาแน่นอน เพราะ AI ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง แล้วแต่ว่าจะประยุกต์ใช้ยังไง แต่ในบ้านเรา เหมือนยังกลัวๆกันว่ามันจะทำอะไรได้บ้าง มันจริงแค่ไหน

อีกอย่างก็คือ Edtech มันไม่ใช่เทคโนโลยีที่เซ็กซี่สำหรับคนไทย ถ้าเทียบกับพวกฟินเทค หรือเทลโค ฉะนั้น คนเก่งมากๆ ก็จะไม่ค่อยมาอยู่ในสายนี้ แต่การสอน AI ได้ คุณก็ต้องใช้เดเวลอปเปอร์ที่เก่งในระดับนึง

อีกอย่างนึงก็คือรอบมันยาวด้วยค่ะ กว่าจะเห็นผล กว่าจะเข้าโรงเรียนได้ กว่าโรงเรียนจะซื้อ กว่าจะได้เงินจากโรงเรียน Edtech เล็กๆ ก็มักจะตายก่อนหาลูกค้าได้

ซึ่งจริงๆก็เป็นเทรนด์แทบจะทั่วโลกเลย ว่าจะไม่เข้าหาโรงเรียนก่อน ไปเริ่มที่การติว ให้ผู้ปกครองจ่าย เป็น B2C แทนที่จะเป็น B2B แทน

(อ่านเพิ่มเติม Squirrel AI ปฏิรูปการศึกษาด้วยปัญญาประดิษฐ์)

บทบาทของโรงเรียน เมื่อถูกเทคโนโลยี disrupt

ถ้าจะถามถึงอนาคตของโรงเรียน ก็อาจจะต้องย้อนไปถึงเหตุผลที่เราต้องตั้งโรงเรียนขึ้นมา เพราะตอนต้นยุคอุตสาหกรรม พ่อแม่ต้องไปทำงานที่โรงงาน ก็เลยไม่มีใครเลี้ยงเด็ก

แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ก็เลยไม่มีเหตุผลว่าทำไมพ่อแม่ทุกวันนี้จะพาลูกไปที่ทำงานไม่ได้ และมันก็อาจจะย้อนกลับไปว่าเด็กยังจำเป็นต้องไปโรงเรียนรึเปล่า

ทุกวันนี้ เราก็จะเห็นเทรนด์เรื่อง home schooling เกิดขึ้นมา โดยมีเทคโนโลยีมาจับ เพื่อให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น มันก็มีความเป็นไปได้ว่าเด็กจะดร็อปเอาท์จากโรงเรียน มาเรียนแบบ home school มากขึ้น

แต่ AI มันก็คงไม่ได้มาทดแทนทุกอย่าง เพราะท้ายที่สุด มนุษย์ก็อยากมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันมากกว่า เพราะการเรียนกับครู ยังไงก็ต่างจากการเรียนหน้าคอมพิวเตอร์

ทำไมยังต้องมีครู

ที่ผ่านมา ครูไทยยังยึดติดในเรื่องวิชาการเยอะมาก และก็ไม่ได้ลงในรายละเอียดอื่นๆของเด็ก

แต่ในอนาคต เมื่อวิชาการเรียนผ่านระบบได้แล้ว สิ่งที่ครูต้องทำ ก็คงไม่ใช่วิชาการแล้ว ต้องส่งเสริมให้เด็กมี mindset ที่ดี ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ ก็ต้องมีเรื่องของการสื่อสารให้ถูกวิธีด้วย

อย่างพอเด็กทำอะไรได้ แล้วชมว่าฉลาดจัง เก่งจัง มันเป็นดาบสองคม พอชมบ่อยๆ จะกลายเป็นว่าเด็กไม่พยายามจะพัฒนาตัวเอง พอเค้าโตขึ้น อะไรที่มีโอกาสพลาด เค้าจะไม่ทำ เพราะพอเก่ง ก็ไม่อยากกลายเป็นคนไม่เก่ง

ตรงนี้ ครูก็จะต้องเรียนรู้ สามารถพลิกแพลงการสื่อสาร ให้เด็กเข้าใจได้ว่าถ้าเค้ามีความพยายาม คุณก็สามารถทำได้

พ่อแม่จะทำอะไรได้บ้าง

พ่อแม่บางคน อาจจะคิดว่าให้โรงเรียนจัดการ แต่จริงๆแล้ว ในหนึ่งวัน ด็กอยู่โรงเรียนแค่ 8 ชั่วโมง ที่เหลือเค้าอยู่กับพ่อแม่นะคะ

ไม่อยากให้คิดว่าจ่ายเงินให้โรงเรียนแล้ว ทุกอย่างต้องเป็นความรับผิดชอบของครู พอลูกไม่เป็นอย่างที่หวังแล้วบอกว่าโรงเรียนไม่ดี

จริงๆ ต้องถามว่าคุณอยู่กับเค้าวันละกี่ชั่วโมงด้วย พ่อแม่ต้องรู้ว่าตัวเองก็เป็นปัจจัยหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็ต้องตามลูกให้ทันด้วย เพราะโลกนี้มันเปลี่ยนแปลงเร็ว

นอกจาก Edtech Asia เราก็มีสถาบันที่สอนทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ด้วย ทำให้ได้คุยกับผู้ปกครองเรื่องการสอนเขียนโปรแกรม เราก็บอกเค้านะว่ามันไม่ได้มีผลกับเส้นทางอาชีพของเค้ามากขนาดนั้น เพราะอีกห้าปีข้างหน้า อาชีพเดเวลอปเปอร์มันก็มีโอกาสจะถูกเครื่องจักรทดแทนเหมือนกัน

การที่รัฐบาลมาเร่งบอกให้คนเรียนโค้ดดิ้งกัน มันอาจจะไม่ตรงซะทีเดียว เพราะสิ่งที่เราควรสอนมากกว่า ก็คือ critical thinking ให้เค้าคิดว่าทำไมอันนี้ถึงดี ทำไมอันนี้ถึงไม่เวิร์ค ถ้าเราสอนให้เด็กวิเคราะห์ไม่ได้ โอกาสอยู่รอดในอนาคต มันเป็นไปได้ยาก

ทีนี้เราก็เอาตัว critical thinking ตรงนี้มาสอนผ่านการเขียนโค้ด แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็จะไม่เข้าใจว่าการที่เราพยายามจะสอนให้มากกว่าการเขียนโค้ดมันคืออะไร

มันคือ soft skills ซึ่งคือการแก้ปัญหา เพราะปลายทางของการเขียนโค้ด มันก็คือการแก้ปัญหา และการเขียนโค้ด โดยปกติ พอเขียนไปเรื่อยๆ เราก็จะเจอว่าตรงนี้ผิด ตรงนั้นผิด ต้องแก้นะ เค้าก็จะมีกระบวนการคิดที่ว่า เฮ้ย ไม่เป็นไร มันผิดกันได้ ก็แก้ไขกันไป มันจะทำให้เค้ามีความอดทน ซึ่งเป็น soft skills ที่สำคัญมาก เมื่อเด็กๆโตขึ้นมา

ทักษะสำคัญที่ต้องมีสำหรับเด็กๆในอนาคต

สิ่งที่เด็กต้องการที่สุด สำหรับการรับมือโลกอนาคต ก็คือความมั่นใจ เพราะสิ่งที่เขาเลือกในวันนี้ ในอนาคตมันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ ฉะนั้น เราจะทำยังไงเพื่อสร้างความมั่นใจให้เขาว่าสิ่งที่เขาเลือก มันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง

อีกอย่างคือสิ่งที่เราเน้นมากคือ mindset ว่าเด็กต้องเข้าใจ ว่าถ้าเค้าพยายาม เค้าจะทำได้

ซึ่งการจะทำในสิ่งใหม่ๆได้ ก็ต้องผ่านความคิดสร้างสรรค์ด้วย

อย่างเคสของ เกรตา ธันเบิร์ก ที่เธอมองว่าคนรุ่นเก่าสร้างปัญหาไว้มากมาย และคนรุ่นเธอต้องมาตามแก้ ซึ่งมันก็จริง และการจะแก้ปัญหาพวกนี้ ก็ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพราะถ้าเราจะใช้วิธีเดิมๆ มันก็ไม่น่าจะได้ผลอะไรที่แตกต่างออกไป

(อ่านเพิ่มเติม 8 ทักษะการทำงานยุคใหม่ที่คุณควรมี)

Edtech กับนวัตกรรมองค์กร

การศึกษากับนวัตกรรมก็องค์กร จริงๆก็เกี่ยวข้องกันโดยตรงนะคะ เพราะ Edtech ไม่ได้สุดแค่สอนคนจนจบมหาวิทยาลัย แต่มันมีเรื่องทำยังไงให้คนในองค์กรที่ทำงานแล้ว เข้าใจว่ามันคือสิ่งที่เค้าจะต้องปรับตัวตาม

ทุกวันนี้จะเห็นแล้วว่าไม่ได้มีแค่เด็กๆที่ต้องปรับตัว ในยุค digital transformation ผู้ใหญ่ก็ต้องปรับตัวตามเหมือนกัน

แต่ปัญหาหนึ่งจากที่เข้าไปคลุกคลีในองค์กร คือมันบอกว่ารากของการศึกษาในยุคก่อนเป็นยังไง คนที่อยู่ในองค์กรเค้าก็ถูกหลอมมาให้เป็นแบบนี้มาทั้งชีวิต ด้วยระบบการศึกษาเมื่อสองร้อยปีก่อน พอเราจะให้เค้าลองคิดนอกกรอบ ส่วนใหญ่ก็จะนิ่งกัน แล้วก็ไม่ค่อยคุยกันเอง หรือไม่สื่อสารกันตรงๆ

ยังดีที่หลายๆองค์กรเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าเค้าจะต้องเปลี่ยนจริงๆ และมีสิ่งที่เค้าพอทำได้เพื่ออัพสกิลคนในองค์กร

วิธีหนึ่งที่เรานำมาใช้คือ micro learning ที่เป็นการตัดบทเรียนใหญ่ๆเป็นก้อนเล็ก ความยาว 3-5 นาทีแทน เวลาจะต้องใช้หรือไปคุยกับลูกค้าด้วยวิธีนี้ ก็สามารถเปิดมาทวนความจำได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังต้องปรับกัน คือบางองค์กรก็ไม่ได้คิดจะ engage เรื่องนี้แบบจริงจัง คนก็เลยไม่ใช้ พอคนไม่ใช้ ก็แค่ถามว่าทำไมเค้าไม่ใช้กัน หลายครั้งทำไปเพราะแค่ให้ตรงกับ KPI หรือให้ตามเทรนด์ แต่คนในองค์กรก็ยังงงๆว่ามาเรียนทำไม

ทางแก้ที่ดีที่สุดก็คงต้องให้คนที่อยู่ข้างบนมาทำความเข้าใจก่อน ว่ามันจะช่วยอะไรให้องค์กรได้บ้าง

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

รู้จัก Exponential Technologies กับ Rob Van Alphen แห่ง School of Disruption

มองโอกาสทางธุรกิจผ่านสายตา AI กับ ดร.ชนิกานต์ ว่องวิริยะวงศ์ แห่ง EATLAB

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
36
Shares
Previous Article
Vaseline

Vaseline คุณค่าที่คนอื่นมองข้าม

Next Article
TSI

จากหิ้งสู่ห้าง TSI แอคเซเลอเรเตอร์โดยรัฐบาล เพื่ออาจารย์และนักวิจัยไทเป

Related Posts