NIA

ติดอาวุธให้สตาร์ทอัพไทย ไปกับ NIA และ ทรู ดิจิทัล พาร์ค

NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คือหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสนับสนุนวงการสตาร์ทอัพและนวัตกรรมในบ้านเรามาตลอด

และจะยกระดับบทบาทไปอีกขั้น เมื่อตกลงจับมือเป็นพันธมิตรกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลแห่งแรกในไทย ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเปิดสำนักงานของ NIA ขึ้นที่นี่

ทีมงาน AHEAD ASIA มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการศูนย์วิสาหกิจเบื้องต้น NIA ถึงภาพรวมของสตาร์ทอัพไทยที่ผ่านมา และอีโคซิสเต็มในปัจจุบัน ที่จะเป็นฐานให้เราเติบโตไปได้ไกลกว่าเดิมในระดับภูมิภาค

วันนี้สตาร์ทอัพไทยอยู่ตรงไหนแล้ว?

จริงๆ สตาร์ทอัพในบ้านเรา เพิ่งเริ่มพัฒนามาซักประมาณ 4 ปี จากการริเริ่มของภาครัฐที่อยากจะส่งเสริมคนกลุ่มนี้ให้เป็น นักรบทางเศรษฐกิจใหม่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยวิธีต่างๆ อาจจะไปช่วย SME, OTOP หรือบริษัทขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ไปต่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐาน

ช่วงสี่ปีมานี้ ก็มีคนรุ่นใหม่ หรือ SME ที่ผันตัวมาเป็นสตาร์ทอัพ เริ่มพัฒนาโปรดักท์ของตัวเองมากขึ้น จนถึงปัจจุบัน ก็มีประมาณ 2,400 ราย

ส่วนการสนับสนุนจากภาครัฐ ก็ถือว่าเยอะนะครับ ทั้งจาก 10 กระทรวง 35 หน่วยงาน และก็ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่เรียกว่า คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Start Up Committee) ช่วยส่งเสริมด้านนโยบาย ว่าจะทำยังไงให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตได้มากขึ้น มีการทำ incubation กับ acceleration program แล้วก็พยายามสร้าง incentive อื่นๆ อย่างเรื่องภาษี การสนับสนุนทางการเงินต่างๆ

รวมๆแล้ว ในภูมิภาคนี้ ถือว่าเราเริ่มต้นช้ากว่าหลายๆที่นะครับ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ แต่เราก็เติบโตเร็วมาก มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เริ่มจากฝั่งเทลโค ที่ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเข้ามาทำโปรแกรม ช่วยให้ลูกค้ามีสื่อที่ดีขึ้น

จากนั้น ก็เป็นธนาคารที่เริ่มลงทุนและส่งเสริมกลุ่มฟินเทค และเวฟสุดท้าย คือบริษัทต่างๆที่ไม่เกี่ยวข้องเลย อาจจะเป็นแลนด์เดเวลอปเปอร์ อสังหาริมทรัพย์ เคมีภัณฑ์ หรือก่อสร้างต่างๆ ก็สนใจลงทุนในสตาร์ทอัพด้วย

เราอาจจะยังไม่มียูนิคอร์นที่เติบโตไปถึงระดับพันล้านหรือสองพันล้านเหรียญ แต่จะเห็นว่า อีโคซิสเต็มในบ้านเรามีพื้นฐานที่ดี มีการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ระดับมหาวิทยาลัย ที่ปัจจุบัน มี 30-40 แห่ง ที่เริ่มสนับสนุนให้น้องๆทำสตาร์ทอัพของตัวเอง จัดโปรแกรมให้ความรู้ จัดแข่งขันพิทชิ่ง ฯลฯ

แล้วก็ยังมีสตาร์ทอัพรุ่นก่อนๆ ที่ยังมีโอกาสเติบโตต่อได้อีกหลายราย อย่าง QueQ หรือ Wongnai ฯลฯ

อุปสรรคและความท้าทาย

สิ่งที่เรามี ณ ตอนนี้ คือมี early stage startup เยอะ แต่เรื่องเงินลงทุนถือว่ายังน้อยอยู่ เพราะตัวบิสซิเนสโมเดลยังไม่ค่อยแข็งแรง

จำนวน VC ในบ้านเราก็ยังค่อนข้างน้อย น่าจะมีซักประมาณ 10-20 รายเท่านั้นเอง แต่ิที่เริ่มมีเยอะขึ้น คือ CVC (Corporate Venture Capital) ซึ่งก็เป็นกองทุนของบริษัทที่สนใจอยากจะลงทุนในสตาร์ทอัพ อย่างของกลุ่มธนาคารต่างๆ หรือของทรูก็มี

ทางแก้คือเราก็ต้องหาวิธีทำให้รูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจ ให้นักลงทุนเห็นว่าสามารถเติบโตได้จริงๆ ซึ่งนี่ก็เป็นความท้าทายที่กำลังเจออยู่

เทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน

อาจจะต้องว่ากันถึงจุดเด่นของชาติอื่นๆก่อน อย่าง สิงคโปร์ จะเด่นด้านการลงทุน ใครอยากจะหาทุน ระดับ series A series B ก็ไปที่โน่นกันเยอะ

อินโดนีเซีย จะเด่นเรื่องตลาด เค้ามีตลาดใหญ่ประมาณ 200 ล้านคน ก็เกิดยูนิคอร์นได้ง่าย อย่าง Go-Jek, Tacopedia, Traveloka ฯลฯ

มาเลเซีย ภาครัฐก็พร้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพทั้งในและต่างประเทศ สตาร์ทอัพในบ้านเราก็มีไปเข้าโปรแกรมที่นั่นเหมือนกัน

เวียดนาม มีจุดเด่นเรื่องทาเลนท์ มีโปรแกรมเมอร์ มีเดเวลอปเปอร์เก่งๆมาก

ซึ่งทั้งหมดนี้ ไทยเราก็เริ่มมีเหมือนกัน อย่างเรื่องทาเลนท์ เราก็ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อสร้างคนขึ้นมา มีอะคาเดมีในการรีสกิลให้คนที่อยู่ในวงการ และต้องการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

เรื่องตลาด เราอาจจะมีประชากรไม่เท่าอินโดนีเซีย แต่ถ้านับรวมท่องเที่ยวด้วย เราจะมีตลาดประมาณ 70+30 ล้านคน มันสามารถเป็น test bed ในการพัฒนาโปรดักท์ได้ สตาร์ทอัพไทยหรือต่างประเทศก็สามารถเริ่มธุรกิจที่นี่ได้

ส่วนเรื่องเงินลงทุน ที่สิงคโปร์ อาจจะมี VC เยอะ บ้านเราก็จะหนักไปทาง CVC แทน

ถ้าเปรียบเทียบ เราอาจจะยังเป็นเด็กเป็นวัยรุ่น ก็ยังเติบโตได้อีก ในอนาคตก็จะมีการแก้กฎหมายให้ดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น

อุปสรรคในการ go global

ที่สำคัญเลยคือ business model ไม่แข็งแรงพอจะสเกลต่อ คืออาจจะมีลูกค้า มีคนยอมจ่ายเงินระดับนึง แต่พอจะขยายไประดับ regional อาจจะติดเรื่องนี้ ทำให้ไม่มีนักลงทุนมาลงทุนเพื่อขยายออกไป หลายๆรายก็เลยติดอยู่ในประเทศนี้

อย่างที่สอง คือภาษา เพราะเวลาที่จะเดินทางไปประเทศต่างๆ ก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ

#ทำไมสตาร์ทอัพบางรายเลือกไปโตต่างประเทศ

ที่สตาร์ทอัพไทยบางรายไปจดทะเบียนต่างประเทศ มันมีหลายปัจจัย อย่างเรื่องการลงทุน ข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย รูปแบบการลงทุน ฯลฯ

แต่ต่อไป พอเราทำให้ทุกอย่างมันง่ายขึ้น ผมว่าปัญหาพวกนี้จะเริ่มน้อยลง สตาร์ทอัพหลายรายที่อยู่กับเรา เค้าก็เริ่มแข็งแรงแล้ว

อีกอย่าง ผมมองว่าถ้า business model ของคุณแข็งแรงจริง คุณอยู่ที่ไหน นักลงทุนเค้าก็อยากร่วมงานด้วย สิ่งที่ NIA ทำมาตลอด คือช่วยให้เค้าแข็งแรงพอ และต่อรองกับนักลงทุนได้

เราเรียนรู้อะไรจากผู้เล่นใหญ่ๆในอาเซียน อย่าง Grab หรือ Lazada ได้บ้าง

อันนี้ต้องยอมรับว่าหลักๆคือเค้าเข้ามาทำ operation ในไทย แต่เราก็พยายามจะเชิญเค้าเข้ามาในอีโคซิสเต็มเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

อย่าง Go-Jek (Get) เราก็เคยเชิญเค้ามาให้องค์ความรู้ เพราะผมว่าเราเรียนรู้จากเค้าได้เรื่องการเติบโต โดยเฉพาะเรื่อง mindset ต่างๆ

อีกเรื่องที่เรากำลังทำอยู่ ก็คือพยายามให้สตาร์ทอัพที่โตแล้วได้มาเจอกับสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้น พอได้คุยกันในการทำเน็ตเวิร์คกิ้ง mindset ของคนที่เพิ่งเริ่มก็จะเปลี่ยนไป มุมมองที่เคยมองเฉพาะโอกาสในประเทศก็อาจจะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นระดับภูมิภาค เพราะเค้าจะได้เห็นว่าที่มาเลเซียทำยังไง ที่สิงคโปร์ทำยังไง

หรือแม้แต่คอนเนกชั่น ถ้าสตาร์ทอัพไทยแสดงให้เห็นว่าจะช่วยให้ธุรกิจเค้าดีขึ้นยังไง ก็อาจจะเป็นพาร์ทเนอร์กันก็ได้

คำว่าโต มันต้องมองไประดับ regional อยู่แล้ว เพราะตลาดจริงๆคืออาเซียน

อนาคตของสตาร์ทอัพไทยและอาเซียน

เราอยากส่งเสริมให้เน้นที่กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น เกษตร อาหาร ท่องเที่ยว การแพทย์ และสมาร์ทซิตี้ ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพราะถ้าเทียบกับที่อื่นๆในอาเซียน เรามีฐานตรงนี้ที่มั่นคงอยู่แล้ว แต่กลับมีสตาร์ทอัพน้อย ก็ต้องหาวิธีทำให้มันเพิ่มขึ้น

อันที่สอง คือหนุนให้สตาร์ทอัพไปช่วย SME หรือบริษัทขนาดใหญ่ ให้เป็น IDE หรือ innovation driven enterprise ให้ได้ ทำยังไงให้เค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศให้ได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงมาตั้งศูนย์ที่ True Digital Park เพื่อส่งเสริมว่าเค้าจะ go global ได้ยังไง

นอกจากนี้ ก็จะมีการส่งเสริม matching fund จะพยายามหาเงินมาสนับสนุนสตาร์ทอัพใหม่ๆในช่วง early stage ซึ่งอาจจะเป็นนักลงทุนในไทยหรือต่างประเทศก็ได้

และสุดท้าย คือทำยังไงให้เกิดอีโคซิสเต็มระดับอาเซียน เพราะในระยะยาวแล้ว ในเรื่องตลาด ประเทศไทยอย่างเดียวคงไม่เพียงพอแล้ว

ถ้าเรามองว่าอาเซียนมีประชากร 600 กว่าล้าน นักลงทุนเค้าไม่ได้มองว่าจะมาลงทุนในประเทศไทย หรืออินโดนีเซียอย่างเดียว เค้าอยากจะลงทุนในระดับภูมิภาคมากกว่า เราก็ต้องเล่นในระดับนั้น และการที่เราจะทำแบบนั้นให้ได้ ก็ต้องสร้างพาร์ทเนอร์และเครือข่ายที่แข็งแรงในภูมิภาคนี้ให้ได้

ที่มาของสำนักงาน NIA ที่ True Digital Park

คือตัว True Digital Park เป็นอีโคซิสเต็มที่มีความพร้อมอยู่แล้ว บนพื้นที่ 77,000 ตรม. ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และก็มีทุกอย่างครบ ตั้งแต่มอลล์ คอมมูนิตี้ หรือที่พักต่างๆ รวมถึงมีความหลากหลายในระดับนานาชาติ เพราะสิ่งสำคัญของสตาร์ทอัพในการจะโตได้ ก็ต้องมี mindset ที่เป็นอินเตอร์ฯด้วย

ที่นี่ก็ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ให้มาเจอกัน แต่ยังมีโปรแกรมต่างๆ จากสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ ส่วน NIA ก็เป็นตัวแทนของภาครัฐไทย มาทำหน้าที่สร้างคอนเนกชั่น และก็ให้บริการสตาร์ทอัพที่มาจากต่างประเทศควบคู่กัน

การที่เราเลือกตั้งสำนักงานที่นี่ หนึ่งเลยคือเป็นจุดแลนดิ้งสำคัญสำหรับต่างประเทศ
เวลาเค้าต้องการเริ่มต้นธุรกิจสร้างคอนเนกชั่น หรือทำ test bed ก็จะมาที่นี่ เราก็จัดหาให้ได้ พร้อมให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ว่าจะจดทะเบียนธุรกิจยังไง ขอ BOI ยังไง smart visa ทำยังไง ฯลฯ

ถัดมาคือเวลาคนของเราจะออกสู่ตลาดต่างประเทศ ก็สามารถที่จะติดต่อกับภาครัฐหรือเอกชนในต่างประเทศผ่านที่นี่ได้ เพราะ NIA ต้องการจะเป็นหน่วยขับเคลื่อนสำคัญให้กับอีโคซิสเต็มเช่นกัน

สรุปคือเราอยากเป็นแพลตฟอร์มให้ทุกคน ทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม หรืออินคิวเบเตอร์ ฯลฯ ได้มาเจอกัน แลกเปลี่ยน ทำกิจกรรมร่วมกัน

ซึ่ง NIA ก็พร้อมจะสนับสนุนสตาร์ทอัพใหม่ๆตั้งแต่ day 1 ไปจนถึงระดับที่สามารถระดมทุน Series B, Series C ได้ในอนาคต รวมถึงพยายามหาทางว่าทำยังไง เค้าถึงจะโตไปถึงระดับยูนิคอร์นได้ในอนาคต

(อ่านเพิ่มเติม ทรู ดิจิทัล พาร์ค โชว์ศักยภาพศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลอาเซียน)

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

ทรู อินคิวบ์ จับมือ RISE เปิดตัว True Incube Incubation & ScaleUp Program Batch 6

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
WeWork

สูงสุดสู่สามัญ ทางตันบนเส้นทางสู่ IPO ของ WeWork และ อดัม นิวแมนน์

Next Article

แก้ Pain Points ให้ไว ใน 5 ขั้นตอน ด้วยวิธีระดมสมองแบบ Ideation

Related Posts