สมาร์ทกลาส

สงคราม AR ศึกชิงผู้นำเทคโนโลยีสมาร์ทกลาส

ทีมงาน AHEAD ASIA เคยนำเสนอรายงานว่า Apple มีแผนเปิดตัว AR เฮดเซต ภายในปี 2022 ตามด้วยแว่นอัจฉริยะ สมาร์ทกลาส ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกันในปีถัดไป

(อ่านเพิ่มเติม ผู้บริหาร Apple เปรยอีก 4 ปีเปิดตัวแว่น AR คาดแทนสมาร์ทโฟนในสิบปี)

แต่ค่ายผลไม้ก็ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่เจ้าเดียวที่กำลังซุ่มพัฒนาอุปกรณ์แห่งอนาคตตัวนี้อยู่

เพราะทั้ง Microsoft, Amazon, Google, Snap, Facebook, Magic Leap และบริษัทอื่นๆ ต่างก็กำลังพัฒนาสมาร์ทกลาส ที่ใช้งานเทคโนโลยีความจริงเสริมเล่นกัน

และเมื่อไหร่ที่ดีไวซ์เหล่านี้ถูกเปิดตัว มันอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสื่อสาร และวิถีชีวิตของเราไปชนิดหน้ามือจากหลังมือเลยก็ได้

เพราะแทนที่จะเอื้อมมือไปหยิบสมาร์ทโฟนจากกระเป๋ากางเกง สิ่งที่คุณจะทำอาจเป็นแค่ใช้เสียง หรือสั่งการผ่านโลกเสมือนที่มองผ่านเลนส์แว่นแทน ซึ่งหากเป็นจริงขึ้นมา มันอาจไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะวงการสมาร์ทโฟนเท่านั้น แม้แต่คอมพิวเตอร์ทั่วไป ก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย

สมาร์ทกลาส นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน Google เคยพยายามผลักดัน Google Glass สู่ตลาดมาแล้วหนหนึ่ง แต่ด้วยความไม่พร้อมในด้านเทคโนโลยี รวมถึงการดีไซน์ ทำให้อุปกรณ์ล้ำยุคตัวนี้ ล้มเหลวในเชิงการตลาดไปในที่สุด

แต่ ณ ปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีเริ่มไล่ทันจินตนาการมากขึ้น มาดูกันว่า Apple และบรรดาคู่แข่งทั้งหลายอยู่ ณ จุดไหนแล้ว ของการสร้างและนำเสนอแว่นอัจฉริยะสู่ท้องตลาด

Apple

ค่ายผลไม้มีแผนวางตลาด AR เฮดเซต (แบบเดียวกับ Oculus Quest ของ Facebook) ในปี 2022 โดยจะเน้นไปที่ตลาดเกม วิดีโอ และใช้งานในการประชุมออนไลน์

แต่ดีไวซ์ตัวที่หลายคนจับตาเป็นพิเศษ คือแว่น AR ที่จะเปิดตัวในปีถัดมา

จุดแข็งของ Apple ณ ตอนนี้ คือแพลตฟอร์ม iOS ที่ซัพพอร์ตเทคโนโลยี AR แล้ว และมีแอพพลิเคชั่นในกลุ่มนี้นับพันตัว ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้งาน iPhone และ iPad จำนวนหนึ่ง เริ่มมีประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้บ้างแล้ว

ส่วนระบบสั่งการด้วยเสียง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์บนสมาร์ทกลาส ผู้ใช้ iOS ก็น่าจะคุ้นเคยดีอยู่แล้วกับ Siri ซึ่งทำงานร่วมกับดีไวซ์อื่นๆอย่าง AirPods และ Apple Watch ด้วย

Google

ถึง Google Glass จะล้มเหลวในตลาดแมส แต่ทุกวันนี้ มันยังเป็นสินค้าที่ยังอยู่ในไลน์การผลิตอยู่ เพียงแต่เน้นเจาะกลุ่มธุรกิจแทน เช่นเดียวกับการพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่ๆ เพื่อให้ใกล้เคียงกับการใช้งานทั่วไปมากขึ้น

ปัจจุบัน ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ก็สนับสนุนแอพพลิเคชั่นที่ใช้เทคโนโลยี AR เช่นกัน ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการปูทางให้ยูสเซอร์คุ้นเคยกับความจริงเสริมเท่านั้น แต่เท่ากับเป็นการสร้างคลังวัตถุดิบขนาดใหญ่สำหรับใช้งานจริง เมื่อตลาดถูกโยกจากสมาร์ทโฟนไปสู่สมาร์ทกลาสแบบเต็มตัวในอนาคตด้วย

หนึ่งในฟีเจอร์ที่ Google ล้ำหน้าคู่แข่งรายอื่นๆไปแล้ว คือ Google Maps ที่สามารถแสดงข้อมูลต่างๆ รวมถึงเส้นทางในการเดิน แบบความจริงเสริม เมื่อคุณยกสมาร์ทโฟนขึ้นมาใช้ (มีเฉพาะในบางประเทศ)

แม้จะยังไม่มีข่าวคราวเรื่องการเปิดตัวดีไวซ์ใหม่เหมือน Apple แต่ในด้านระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ต่างๆ Google ก็แสดงให้เราเห็นว่าเริ่มวางรากฐานต่างๆเตรียมไว้สำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึงแล้ว

Microsoft

แม้ธุรกิจหลักในปัจจุบันจะเป็นบริการคลาวด์เซอร์วิส แต่ Microsoft ก็พร้อมร่วมวงในสงครามสมาร์ทกลาสเช่นกัน

เห็นได้จากการวางตลาด HoloLens 2 ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน รวมถึงความร่วมมือกับกองทัพบกสหรัฐฯในการนำรุ่นปรับปรุง ภายใต้รหัส IVAS ไปใช้ฝึกฝนทหารในสถานการณ์จำลอง

ในแง่ของการใช้งานทั่วไป HoloLens 2 น่าจะเป็นเฮดเซตที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุดในด้านการใช้งาน เพราะผู้ใช้สามารถทำงานบนซอฟต์แวร์ต่างๆได้โดยไม่ต้องนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์

แต่ในแง่ของการพกพา ขนาดของมันยังใหญ่เกินกว่าคุณจะพกพาไปไหนได้ เช่นเดียวกับ ราคาที่สูงถึง 3,500 ดอลลาร์ (ราว 1 แสนบาท) ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าที่ขนาดและราคาจะถูกปรับให้อยู่ในระดับที่จับต้องได้

Snap

โซเชียลขวัญใจวัยรุ่นอเมริกัน ยังคงเดินหน้าพัฒนาแว่น AR ของตนอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งวางตลาดเวอร์ชั่นล่าสุด Spectacles 3 ในสัปดาห์นี้ ที่ราคา 380 ดอลลาร์ (ราว 12,000 บาท)

แต่แว่นในตระกูล Spectacles นั้น ออกไปทาง “ของเล่น” มากกว่าจะใช้งานจริง เพราะสิ่งที่มันทำได้ คือการถ่ายรูปและวิดีโอ เพื่อใส่เอฟเฟกต์ความจริงเสมือนลงไปในภาพหรือคลิปเหล่านั้น ผ่านแอพ Snapchat

ดีไวซ์จากค่ายนี้ที่ใกล้เคียงกับสมาร์ทกลาสจริงๆ น่าจะเป็นเวอร์ชั่น 4 รหัส Hermosa ที่สามารถแสดงผล AR ได้บนเลนส์แว่นที่ใช้งาน แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติม

Facebook

AR และ VR คือเทคโนโลยีที่ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก กล่าวไว้ในงาน F8 เมื่อสองปีก่อน ว่าจะมีบทบาทสำคัญในยุคต่อไป และเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทฯถึงทุ่มเงินหลักพันล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อ Oculus เป็นกรรมสิทธิ์

กลยุทธ์ของ Facebook นั้นต่างจากบริษัทอื่นๆ ตรงการให้ความสำคัญกับ Virtual Reality (ความจริงเสมือน) เป็นหลัก (เช่นเฮดเซตตระกูล Oculus ตั้งแต่ Rift จนถึง Quest)

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าโซเชียลเบอร์หนึ่งจะมองข้าม AR ไปเลย เพราะย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน ก็มีรายงานว่าบริษัทฯกำลังพัฒนาแว่น AR ร่วมกับ Luxottica บริษัทแม่ของ Ray-Ban ภายใต้รหัส Orion ซึ่งมีกำหนดวางตลาด ระหว่างปี 2023-2025 ซึ่งหากจริง น่าจะเป็นคู่แข่งกับสมาร์ทกลาสของ Apple โดยตรง

ฟีเจอร์หลักของ Orion ที่มีการเปิดเผยออกมา คือการโทรศัพท์และสตรีมวิดีโอถึงผู้ใช้คนอื่นๆ แต่ปัญหาหลักที่บริษัทฯกำลังเจอ คือขนาดและน้ำหนักที่ยังไม่เหมาะสำหรับการใช้งานจริงในตลาดแมส

จุดแข็งของ Facebook นอกจากยูสเซอร์กว่า 2 พันล้านคน ก็คือการมีแพลตฟอร์มสำหรับติดต่อสื่อสารของตัวเอง ทั้ง Messenger และ Whatsapp ซึ่งสามารถนำมาใช้กับสมาร์ทกลาสได้ เหมือนที่บริษัทฯนำร่องไปแล้ว ด้วยการเปิดให้คุยข้ามแพลตฟอร์มบน Portal สมาร์ทสปีกเกอร์ของบริษัทฯ

ใน Portal ยังมีเครื่องมือที่สามารถนำมาประยุกต์กับสมาร์ทกลาสได้อีก อย่าง Spark AR ที่ปัจจุบันใช้ในการตรวจจับใบหน้าผ่านวิดีโอแชท

(อ่านเพิ่มเติม Facebook ตั้งทีมดูแลการผลิตแว่น AR)

Amazon

เทียบกับยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ Amazon ไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องสมาร์ทกลาสของตนมากนัก โดยโปรดักท์ที่ใกล้เคียงที่สุด ก็คือ Echo Frames แต่ก็ยังเป็นแว่นทั่วไปที่ติดตั้งลำโพงและระบบสั่งการด้วยเสียง Alexa เท่านั้น โดยไม่มีฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องกับ AR

อย่างไรก็ตาม หลายๆบริการของ Amazon อย่างเช่น Prime Video นั้น เหมาะแก่การนำ AR มาประยุกต์ใช้ หรือแม้แต่การซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ ก็อาจถูกปรับเปลี่ยนมาอยู่บนเลนส์ของแว่น AR โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเปิดแล็ปท็อป หรือหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาด้วยซ้ำ

Magic Leap

โปรดักท์ปัจจุบันของ Magic Leap คือเฮดเซตแบบเดียวกับ HoloLens และ Oculus ซึ่งมีขนาดใหญ่ สำหรับเล่นเกม ดูวิดีโอ และแอนิเมชั่น 2 มิติ ซึ่งเน้นหนักไปที่การเข้าสู่โลกดิจิทัล ในแบบ VR มากกว่า AR

นอกจากนี้ ปัญหาของ Magic Leap ก็ยังคล้ายๆกัน นั่นคือเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง (2,295 ดอลลาร์ หรือราว 7 หมื่นบาท) ทำให้ยากที่คนจะตัดสินใจซื้อเพื่อใช้งานในแง่ความบันเทิงเท่านั้น

การย่อขนาดให้เล็กลง ทำราคาให้เข้าถึงได้ง่าย และเพิ่มฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับ AR ให้สามารถทำงานทั่วไปได้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าในฐานะผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ เพราะระบบปฏิบัติการอย่าง IOS หรือแอนดรอยด์นั้น รองรับเทคโนโลยีนี้แล้ว

เรียบเรียงจาก
There’s a race to replace our iPhones with smart glasses we wear everywhere

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

10 เทรนด์เทคโนโลยี ที่จะพลิกโฉมธุรกิจยุคหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

5 ทักษะสำคัญในการแก้ปัญหา ที่ผู้ประกอบการต้องมีเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ

Next Article
Experiential shopping

Experiential shopping : การปรับตัวของค้าปลีกแบบดั้งเดิม

Related Posts