ญี่ปุ่น เจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว เตรียมเปิดให้บริการ แท็กซี่ไร้คนขับ และรถขับเคลื่อนอัตโนมัติรูปแบบอื่นๆ ที่พัฒนาโดย โตโยต้า และ นิสสัน กว่า 100 คัน บริเวณรอบสนามต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องก่อนผลักดันให้มีการใช้งานจริงทั่วประเทศ ภายในปี 2025
ปัจจุบัน อัตราการเกิดอุบัติเหตุในญี่ปุ่นกำลังเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบเต็มตัว ทางออกของปัญหานี้ คือการนำเทคโนโลยีรถไร้คนขับมาประยุกต์เป็น แท็กซี่ไร้คนขับ เพื่อลดความเสี่ยงบนท้องถนน
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ตามหลังสหรัฐฯอยู่มาก โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีรถไร้คนขับ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย และความรวดเร็วของภาครัฐในการปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับ ขณะที่ผู้ผลิตฝั่งสหรัฐฯ นำโดย Tesla นั้นมีการพัฒนาเรื่องนี้อยู่ตลอด
กระทั่งการปรับท่าทีของภาครัฐในระยะหลัง ก็ช่วยดึงดูดให้ผู้พัฒนาทั่วโลกพร้อมมาร่วมทดสอบเทคโนโลยีรถไร้คนขับในญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มโอกาสแข่งขันในยุคใหม่่ของอุตสาหกรรมยานยนต์
ด้าน โตโยต้า ก็มองว่า โตเกียว 2020 เป็นโอกาสดีในการแสดงเทคโนโลยียานยนต์ของบริษัท ทั้งยานพาหนะปลอดมลพิษ, หุ่นยนต์, APM (ยานพาหนะขนาดเล็กสำหรับเคลื่อนย้ายผู้โดยสารระยะสั้น) รวมถึงรถไร้คนขับ ซึ่งจะขยายระยะเวลาการทดสอบในโตเกียว ไปจนถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อย
ในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 กรกฎาคมปีหน้า APM ซึ่งเป็นรถไร้คนขับระดับ 4 (ขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ เช่นจำกัดความเร็ว และสถานที่) จะถูกนำมาให้บริการในย่านที่ตั้งสนามแข่งขัน
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ e-Pallette รถไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ เทคโนโลยีแผนที่ 3 มิติ และระบบจัดการจราจร ซึ่งพัฒนาโดยสมาคมวิศวกรยานยนต์ (SAE) จำนวน 20 คัน สำหรับนักกีฬาโดยเฉพาะ
การขนส่งต่างๆภายในสถานที่แข่งขัน จะเป็นหน้าที่ของ Field Support Robot หุ่นยนต์รูปร่างคล้ายรถยนต์ที่จะทำหน้าที่เก็บอุปกรณ์ต่างๆในกีฬาที่ใช้การขว้างเป็นหลัก
AHEAD TAKEAWAY
รถไร้คนขับ เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็น “อนาคต” ของวงการยานยนต์ ร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้า (Eletric Vehicle) แต่ท่าทีของคนในวงการ ก็ยังแบ่งออกเป็นสองฝ่าย
คือกลุ่มแรกที่เชื่อว่า ณ ตอนนี้ ยังเร็วเกินไปที่รถไร้คนขับ จะถูกนำมาใช้งานจริงบนท้องถนน หนึ่งในนั้นคือ มิคลอส คิสส์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีรถไร้คนขับของ Audi ซึ่งมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในภายในหนึ่งทศวรรษ
“การนำรถไร้คนขับระดับ 4 มาวิ่งในเมืองยังห่างไกลจากความจริงมาก”
อย่างไรก็ตาม อีลอน มัสก์ กลับเชื่อว่ารถขับเคลื่อนอัตโนมัตินั้น พร้อมแล้วสำหรับใช้งานจริงภายในปีหน้านี้เลย
พร้อมย้ำว่า ณ ปัจจุบัน Tesla กำลังพัฒนาตัวซอฟต์แวร์ให้ระบบ autopilot ในรถรุ่นต่างๆของบริษัท สามารถวิ่งบนท้องถนนได้โดยไม่ต้องมีคนควบคุมอีก (ปัจจุบัน รถของ Tesla นั้นถูกจัดอยู่ในระดับ 2 คือสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติในระยะสั้นๆ ควบคุมพวงมาลัยเพื่อรักษาเลนได้ เบรคเองได้ แต่ยังต้องมีคนควบคุมเป็นระยะ)
มัสก์ ยังกล่าวเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ว่าด้วยระบบนี้จะทำให้ Tesla เป็นบริษัทแรกที่เปิดให้บริการแท็กซี่หุ่นยนต์ได้ในบางส่วนของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีบทบาทในการ disrupt ธุรกิจเรียกรถโดยปริยาย เช่นเดียวกับที่ Didi Chuxing ผู้ให้บริการเรียกรถชั้นนำของจีน มีแผนจะให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับในมหานครเซี่ยงไฮ้เร็วๆนี้ด้วย
(อ่านเพิ่มเติม Tesla เล็งเปิดให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับ ภายในปี 2020)
ขณะที่ญี่ปุ่น ปัจจุบันอยู่ในอันดับ 10 ของการสำรวจประเทศที่พร้อมสำหรับการใช้รถไร้คนขับมากที่สุด และตัวเลขดังกล่าวอาจขยับขึ้นสูงอีกครั้ง หากพิสูจน์ให้เห็นในโอลิมปิกเกมส์ปีหน้าได้ว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับที่น่าพอใจ
(อ่านเพิ่มเติม เนเธอร์แลนด์ รั้งอันดับหนึ่งชาติพร้อมใช้รถไร้คนขับสองปีซ้อน)
เพราะ ริชาร์ด เธรลฟอลล์ ประธานฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ทำการสำรวจครั้งนี้ ระบุว่ารถไร้คนขับ (รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ) จะถูกนำมาใช้งานจริงหรือไม่ ขึ้นกับผู้บริโภคเป็นหลัก
และญี่ปุ่นซึ่งปัจจุบันเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว มีการขาดแคลนแรงงานในหลายๆเรื่อง จนต้องนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ต่างๆมาช่วยแบ่งเบาภาระในหลายอุตสาหกรรมแล้ว ก็น่าจะเป็นชาติแรกๆที่ต้องนำรถไร้คนขับมาใช้อย่างจริงจังเช่นกัน
(อ่านเพิ่มเติม i-construction จักรกลก่อสร้าง)
เรียบเรียงจาก
Japan 2020 Olympics Set to Showcase a New Era of Mobility
The Future With Level 5 Autonomous Cars
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า