การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จนทางการจีนต้องสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น เพื่อควบคุม ส่งผลให้คำว่า อู่ฮั่น และ ไวรัสโคโรนา กลายเป็นคำค้นหาที่มีปริมาณสูงสุด ในแอพพลิเคชั่นวิดีโอสั้นยอดนิยม TikTok และ Kuaishou ซึ่งถูกใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสู่โลกภายนอก
แม้ TikTok (หรือ Douyin ในจีน) ซึ่งมีผู้ใช้งานต่อวันกว่า 400 ล้านราย จะเป็นที่นิยมใช้สำหรับการโพสต์วิดีโอสนุกๆมากกว่า แต่การระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ก็ทำให้คำหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับเมืองอู่ฮั่น กลายเป็นคีย์เวิร์ดที่ติดลำดับต้นๆในการค้นหาตลอดหลายวันที่ผ่านมา
อาทิ “scientist Zhong Nanshan” จง หนานซาน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเคยมีประสบการณ์รับมือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ ซาร์ส เมื่อปี 2003 หรือ “Wuhan’s lockdown” ซึ่งหมายถึงการปิดเมืองอู่ฮั่นเพื่อควบคุมการระบาดของโรค
ทาง Bytedance ผู้พัฒนา TikTok ก็เพิ่มเซกชั่นที่รวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อตามข้อมูลที่ได้รับจากทางการจีน รวมถึงการระบุแผนที่ตั้งของตำแหน่งที่มีผู้ติดเชื้อไว้ด้วย
TikTok’s Chinese sister app #Douyin has launched a #FightPneumonia page, which provides updates on the spread of the coronavirus, expert reports and analysis, as well as relevant information on prevention. pic.twitter.com/4AJZgLy4MS
— TMTPOST (@tmtpostenglish) January 23, 2020
ขณะที่ประเด็นในเซ็กชั่น Hot list ของ Kuaishou ซึ่งสนับสนุนโดย Tencent และมียอดผู้ใช้งานต่อวัน 300 ล้านคน ก็ไม่ต่างกัน โดยมีข้อความว่า “ไวรัสโคโรนาระบาดช่วงเทศกาลตรุษจีน” (Chunyun under the coronavirus outbreak)
บนแพลตฟอร์มดังกล่าว ก็ปรากฎทั้งคลิปข่าว ประกาศล่าสุดจากทางการจีน รวมถึงวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์ขณะประชากรในเมืองซื้อของอุปโภคบริโภค หน้ากาก หรือหน่วยงานทางการแพทย์ขณะให้ความช่วยเหลือที่โรงพยาบาล อู่ฮั่น หมายเลข 7 ไปจนถึงภาพสถานีรถไฟอู่ฮั่นที่ถูกปิด และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนเฝ้าด้านหน้าประตู ฯลฯ
ด้านผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซอย่าง Taobao, Suning และ JD.com ก็ทำการประกาศร้องขอผู้ค้าต่างๆบนแพลตฟอร์ม ไม่ให้ขึ้นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น หน้ากากอนามัย และยาฆ่าเชื้อ พร้อมเสนอบริการส่งสินค้าโดยไม่หยุดช่วงเทศกาลตรุษจีนเหมือนทุกปี
ขณะที่ Alibaba ก็เสริมว่าหลังเทศกาลตรุษจีน ผู้ผลิตในเครือจะสามารถกลับมาผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อป้อนกลับสู่ท้องตลาดได้ราว 16 ล้านชิ้นต่อวัน
ขณะที่ผู้ให้บริการเดลิเวอรีรายใหญ่อย่าง Meituan และ Ele.me ก็ประกาศหยุดให้บริการส่งอาหารไปยังโรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองอู่ฮั่น เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้ขับขี่และผู้บริโภค
AHEAD TAKEAWAY
การระบาดของเชื้อ ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ คือประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกต้องจับตามองในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการต่างๆของทางการจีนในการรับมือ เนื่องจากเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเดินทางครั้งใหญ่ที่สุดในโลก
และแม้จะมีคำสั่งปิดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นแหล่งต้นตอของเชื้อไวรัสดังกล่าวแล้ว แต่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารทันกันทั่วโลก “สื่อใหม่” อย่างโซเชียลมีเดียรูปแบบต่างๆ จึงถูกนำมาใช้ ทั้งการเผยแพร่ และค้นหาข่าวคราวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ทั้ง TikTok และ Kuaishou
อย่างไรก็ตาม South China Morning Post ระบุว่าคลิปส่วนใหญ่บนทั้งสองแพลตฟอร์ม ก็ยังมีที่มาจากสำนักข่าวที่เป็นของรัฐ หรือได้รับการรับรองจากรัฐ ทั้ง People’s Daily, Hubei Daily และ CCTV
เท่ากับว่าข้อมูลเหล่านี้ผ่านการคัดกรองจากทางการจีนแล้ว ซึ่งอาจตีความได้เช่นกันว่าอาจมีบางแง่มุมที่ไม่ได้ถูกนำเสนอ ตามแนวทางของรัฐบาลจีน
ขณะที่อีกแง่มุม ก็ต้องยอมรับว่าทางการจีน รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ สามารถร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปลุกเร้าให้คนในชาติร่วมแรงร่วมใจกันในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ แทนที่จะเป็นการโพสต์ข้อความหรือแถลงข่าวที่กระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง เหมือน “ไม่อ่านไลน์กลุ่ม” ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการเหมือนในบางประเทศ
โดยหนึ่งในฟีเจอร์ที่ถูกเพิ่มขึ้นมาบน TikTok ก็คือ Jiayou video effect ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่เปิดให้ยูสเซอร์สามารถเข้าไปฝากข้อความเชิงบวกถึงทีมแพทย์และผู้ป่วย ผ่านการยกนิ้วหัวแม่มือและยิ้ม หรือพูดให้กำลังใจ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากเซเล็บและอินฟลูเอนเซอร์ดังๆของประเทศ หนึ่งในนั้นคือ หยาง มี่ ดาราสาวที่เคยติดอันดับ 100 คนดังที่ทรงอิทธิพลของจีน จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes
Yang Mi’s Douyin update to encourage the doctors who are fighting the coronavirus in the frontline.
” White angels, fighting! ” pic.twitter.com/wZOyxgbPlu
— Yearning For Yang Mi – 杨幂 (@ForeverWithFOX_) January 22, 2020
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ TikTok ถูกนำมาใช้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านสาธารณสุขถึงคนในประเทศ เพราะเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทางบริษัทก็เคยร่วมงานกับครีเอเตอร์ และหลายหน่วยงานในอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ เพื่อผลิตวิดีโอสั้นกระตุ้นเตือนให้คนในประเทศใส่ใจกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น
เรียบเรียงจาก
Short-video apps like Douyin, Kuaishou become news sources for Wuhan coronavirus outbreak in China
China’s version of TikTok launches feature to spread awareness and fight Wuhan coronavirus
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า