ระบบตรวจจับใบหน้า

จีนพัฒนาระบบตรวจจับใบหน้า ระบุตัวบุคคลได้แม้สวมหน้ากากอนามัย

Sensetime ผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จากจีน เผยสามารถพัฒนา ระบบตรวจจับใบหน้า ซึ่งสามารถระบุตัวตนของบุคคลได้ แม้จะสวมแว่น หน้ากากอนามัย พันผ้าพันคอ หรือแม้แต่ติดหนวดปลอมก็ตาม

ระบบตรวจจับใบหน้า (face recognition) เป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยทางการจีน ทั้งการควบคุมพฤติกรรมผู้สัญจรบนท้องถนน หรือติดตามตัวอาชญากรที่กำลังหลบหนี

แต่การระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ในรอบเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนจำนวนมากหันมาสวมใส่หน้ากากอนามัยกันมากขึ้น และมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจทำให้ระบบยืนยันตัวตนนี้ไม่สามารถระบุตัวตนได้

ล่าสุด Sensetime ผู้นำด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ก็ประกาศแล้วว่าปัจจุบัน สามารถพัฒนา AI ที่สามารถช่วยวิเคราะห์และยืนยันตัวตนบุคคลต่างๆได้ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าอย่างชัดเจนเหมือนที่ผ่านมา

จริงๆแล้ว เทคโนโลยีตัวนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะ อมารยท ซิงห์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยเปิดเผยงานวิจัยระบบระบุตัวตนที่ถูกปิดบัง (Disguised Face Identification : DFI) ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2017

ในงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า AI ซึ่งถูกพัฒนาขึ้น สามารถจดจำบุคคลได้ ต่อให้สวมแว่น ติดหนวดปลอม สวมหมวกหรือพันผ้าพันคอได้ โดยอาศัยการระบุจุดสำคัญบนใบหน้า 14 จุด โดยเน้นที่ตาและจมูก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสำหรับระบุตัวตนที่ถูกต้องของบุคคลนั้นๆ

“แม้ระบบนี้จะยังไม่แม่นยำเท่าตอนตรวจคนที่เปิดหน้าทั้งหมด แต่ก็ยังสามารถระบุตัวบุคคลได้” ซิงห์ อธิบาย

ด้าน Sensetime ซึ่งประกาศถึงการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งาน เมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่า AI ของบริษัทฯ ได้รับการพัฒนาให้สามารถอ่านข้อมูลจุดสำคัญบริเวณรอบดวงตา จมูก และปาก ได้ละเอียดถึง 240 จุด ซึ่งจะช่วยให้ระบุตัวตนได้ง่ายขึ้น ต่อให้ส่วนใดส่วนหนึ่งบนใบหน้าถูกปิดบังไว้ก็ตาม

อู๋เฟย เหวย หัวหน้าฝ่ายการตลาดของบริษัทพัฒนาระบบตรวจจับใบหน้า Qingfei Technologies อธิบายว่า ณ ปัจจุบัน ระบบยืนยันตัวตนไม่ต้องการข้อมูลมากขึ้น แต่จำเป็นต้องมมีข้อมูลที่ถูกต้องกว่าเดิม เพื่อช่วยในการแยกแยะและจับคู่บุคคล

หนึ่งในแนวทางการพัฒนา AI ให้มีความแม่นยำมากขึ้น ที่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด นำมาใช้ คือการป้อนข้อมูลใบหน้าบุคคลเฉพาะบางส่วน เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้

ขณะที่ Minivision บริษัทในจีนก็ใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบเร่งด่วน ภายใน 48 ชั่วโมง โดยขอให้พนักงานบริษัทและผู้เกี่ยวข้องสวมหน้ากาก เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับระบบยืนยันตัวตนเพื่อปลดล็อคประตูโดยไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัย เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดในเวลานี้

แต่ หู เจียงกัวะ ประธานสถาบันวิจัย AI ของ Minivision ก็ยอมรับว่าการจะนำระบบเดียวกันนี้มาใช้คนหมู่มาก อาจเกิดปัญหาได้ เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีคนซึ่งมีลักษณะตาคล้ายกันทำให้ AI เกิดความไขว้เขวได้

AHEAD TAKEAWAY

แม้จะมีประเด็นเรื่องเส้นแบ่งการละเมิด/ไม่ละเมิด ความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า (Face Recognition) กำลังถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่พื้นฐานอย่างการปลดล็อคหน้าจอสมาร์ทโฟน ยืนยันตัวตนที่สนามบิน หรือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรักษาความปลอดภัยในงานที่มีคนจำนวนมากมารวมกัน เช่น คอนเสิร์ต หรือการแข่งขันกีฬา

ขณะที่ในจีนนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เช่นการพยายามผลักดันให้ระบบนี้สามารถยืนยันตัวตนเพื่อชำระเงินได้ โดยไม่ต้องใช้ QR Code จากสมาร์ทโฟน โดย Alibaba และ Tencent

(อ่านเพิ่มเติม ร้านค้าในจีนรับชำระเงินด้วยระบบตรวจจับใบหน้าแทน QR Code)

ขณะที่ทางการจีน ก็นำระบบนี้มาใช้ควบคุมพฤติกรรมผู้สัญจรบนท้องถนน หรือแม้แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบ Social Credit System

(อ่านเพิ่มเติม 10 มาตรการ Social Credit System ของจีน)

การพัฒนาเพื่อให้การยืนยันเกิดความแม่นยำที่สุดจึงมีความจำเป็นมาก เพราะหากคลาดเคลื่อน ก็อาจทำให้ธุรกรรมต่างๆเกิดข้อผิดพลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค

แม้ ณ ปัจจุบัน ขอบเขตการใช้งานอาจจะยังไม่กว้างนัก (เช่น การเก็บข้อมูลเพื่อใช้สำหรับเปิดประตูเข้าออกพื้นที่เฉพาะ) แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นไปแบบก้าวกระโดด ก็มีแนวโน้มสูงที่ปัญญาประดิษฐ์จะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ และแยกแยะแต่ละบุคคลได้ด้วยจุดสำคัญเล็กๆเพียงไม่กี่จุด ในเวลาอีกไม่นาน

เรียบเรียงจาก

Wearing a mask won’t stop facial recognition anymore

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ

สิริ เวนเจอร์ส ผนึก สวทช. และ วศ.อว. ทดสอบ ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ ครั้งแรกในไทย

Next Article
Gojek

Gojek ปัดข่าวลือควบรวมกิจการกับ Grab ชี้ละเมิดกฎหมายผูกขาด

Related Posts