ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่บนโลกยังคงต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19
จีน ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติแรกๆ ซึ่งเผชิญกับวิกฤตนี้มาก่อน กำลังเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูเพื่อกลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานในหลายๆด้าน เช่นเดียวกับกระตุ้นให้เทรนด์ต่างๆที่ถูกคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต มาถึงเร็วขึ้นกว่าที่ตั้งใจไว้
การศึกษาที่ไม่ถูกจำกัดไว้แค่ออฟไลน์
การเรียนการศึกษา คืออุตสาหกรรมกลุ่มแรกๆที่ถูกสถานการณ์บีบให้ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองในเวลาอันสั้น จากผลกระทบของ โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
ครูในโรงเรียนแบบดั้งเดิมต้องปรับตัวให้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อย่างการพูดต่อหน้ากล้องให้เป็นธรรมชาติ การใช้โปรแกรม PowerPoint เพื่อเตรียมสไลด์สำหรับการสอน ไปจนถึงการกระตุ้นหรือพูดคุยกับนักเรียนด้วยการพิมพ์คอมเมนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์
หลายสถาบันการศึกษาก็สนับสนุนเรื่องนี้ด้วยการเปิดคอร์สสอนครูในสังกัด ให้รู้จักวิธีใช้แอปพลิเคชั่น DingTalk เพื่อสอนแบบไลฟ์สด
จริงๆแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ เปิดให้ใช้งานกันมาอย่างน้อย 2-3 ปีแล้ว แต่ด้วยความเคยชินกับวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ทำให้สถาบันรวมถึงตัวครูอาจารย์เองยังเลือกที่จะใช้วิธีเดิมๆมากกว่า กระทั่งถูกสถานการณ์บีบให้ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นโอกาสให้บริษัทและสตาร์ทอัพที่ให้บริการคอร์สออนไลน์ต่างๆ เช่น TAL Education หรือ VIPKID ได้มีโอกาสนำเสนอตัวเองสู่วงกว้าง ผ่านการเปิดให้ทดลองเรียนฟรีในระหว่างนี้
หนึ่งในข้อดีของการเรียนออนไลน์ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว คือสามารถขยายขอบเขตไปได้ในวงกว้างในราคาที่ย่อมเยากว่า
เหมือนที่ มหาวิทยาลัยซินหัว สถาบันชั้นนำของประเทศเปิดคอร์สออนไลน์ ผ่านแอปวิดีโอขนาดสั้น Douyin ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส จนผู้เรียนรายหนึ่งถึงกับโพสต์แสดงความดีใจที่มีโอกาสได้เรียนกับทางซินหัว ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติ
อ่านเพิ่มเติม
คุณครูจักรกล Squirrel AI สตาร์ทอัพจีนปฏิรูปการศึกษาด้วยปัญญาประดิษฐ์
การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
จาง ซินหง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจแบ่งปัน ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติของจีน เสริมว่าการได้มีโอกาส “ทดลองใช้” วิถีชีวิตดิจิทัล อย่างการเรียนออนไลน์ หรือระบบการทำงานจากระยะไกล จะมีส่วนช่วยให้เรื่องเหล่านี้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในวงกว้าง
และธุรกิจต่างๆที่เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นดิจิทัลนี่เอง ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของแนวทางสู่การเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี ตามเป้าหมายของรัฐบาลจีน
“ที่ผ่านมา หลายๆองค์กรไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับรูปแบบสู่ออนไลน์ ตราบใดที่การทำงานแบบเดิมๆยังให้ผลดีอยู่ แต่หลังเหตุการณ์นี้ การทำงานจากระยะไกล อีคอมเมิร์ซ การเรียนออนไลน์ รวมถึงบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จะเป็นตัวเลือกให้กับบริษัทต่างๆในอนาคต” จาง กล่าว
นอกจากทัศนคติของผู้คนแล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่นเครือข่าย 5G ศูนย์ข้อมูล ระบบจัดการอัจฉริยะ หรือแม้แต่รถไฟความเร็วสูง ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เกิดได้เร็วขึ้น
อ่านเพิ่มเติม
10 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมธุรกิจยุคหน้า
อุปสรรค ณ ปัจจุบัน
อุปสรรคสำคัญของจีน ในการมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีวิกฤตโควิดเป็นตัวจุดชนวน ยังมีความท้าทายอีกหลายเรื่องที่ต้องเผชิญ
เพราะแม้ปัจจุบัน จีนจะเป็นชาติที่มีประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากที่สุดในโลก คือ 854 ล้านคน แต่ถ้าคิดจากอัตราส่วนแล้ว ยังไม่ถึง 2 ใน 3 ด้วยซ้ำ ซึ่งเท่ากับว่ามีประชากรอีกถึง 541 ล้านคนที่ยังขาดโอกาส
รายงานจากศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศ ระบุว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท และ 15.3% ของกลุ่มนี้ หรือเกือบๆ 60 ล้านคน ก็ไม่มีคอมพิวเตอร์หรือดีไวซ์อื่นๆที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ด้วยซ้ำ
ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานในหลายๆจุด ก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีเท่าที่ควร เห็นได้จากการที่นักเรียนจำนวนมากในหูเป่ย ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของการระบาด ต้องปีนขึ้นไปบนยอดเขา เพียงเพื่อให้เจอสัญญาณอินเทอร์เน็ต สำหรับเข้าถึงการเรียน
ยังไม่นับทัศนคติเจ้าของกิจการจำนวนหนึ่ง ที่ยังเชื่อว่าการทำงานที่ออฟฟิศนั้นให้ประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทมากกว่าการทำงานจากระยะไกล เพราะสามารถตรวจสอบและควบคุมได้ง่ายกว่า
ยังไม่นับเรื่องที่ว่าอีกหลายๆวิชาชีพนั้น มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถอาศัยการทำงานจากระยะไกลได้ เช่น แพทย์ ช่างไฟฟ้า หรือคนงานก่อสร้างนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม AI ยุทธศาสตร์ชาติยยุคใหม่ของจีน
เรียบเรียงจาก
Life and work will never be the same in China as the country attempts a post-virus tech restart
China’s traditional schools embrace online learning as coronavirus forces students to stay at home
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า