Facebook เปิดตัวแผนที่และชุดเครื่องมือวิเคราะห์ตำแหน่งและการเดินทางของผู้ใช้งาน เพื่อหาแนวโน้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 และตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามแนวทาง Social Distancing หรือไม่
ชุดเครื่องมือดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Data for Good ซึ่งเป็นการนำฐานข้อมูลที่ Facebook มี มาใช้ ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยจำกัดขอบเขตการใช้งานสำหรับนักวิจัยและองค์กรไม่แสวงผลกำไรเท่านั้น
สำหรับเครื่องมือชุดล่าสุดนี้ แบ่งเป็น แผนที่ป้องกันการระบาดของโรค 3 รูปแบบ และแบบสำรวจผู้ใช้งานของศูนย์วิจัยเดลฟี แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน
แผนที่ป้องกันการระบาด 3 รูปแบบที่จะนำมาใช้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย

Co-location maps ระบุความเป็นไปได้ที่ผู้ใช้งานในพื้นที่หนึ่ง จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานในพื้นที่อื่นๆ เพื่อคาดการณ์ว่าจะพบผู้ป่วยโควิด-19 รายต่อไปที่ไหน

Movement range trends แสดงระดับการเคลื่อนไหวในพื้นที่ของผู้ใช้ ว่าอยู่ในละแวกบ้าน หรือมีการเดินทางไปยังจุดอื่นๆในตัวเมือง ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกว่ามาตรการป้องกันปัจจุบัน ดำเนินไปอย่างถูกต้องหรือไม่

The social connectedness index แสดงสถานะความเป็นเพื่อนของผู้คนระหว่างรัฐและประเทศต่างๆ เพื่อทำนายสถานการณ์ในภาพกว้างๆ ถึงความเป็นไปได้ที่เชื้อจะเผยแพร่ออกไป รวมถึงบริเวณไหนซึ่งมีการระบาดหนัก และต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน
ส่วนแบบสำรวจโดยม.คาร์เนกี จะปรากฎเป็นลิงค์ในหน้านิวส์ฟีด สำหรับผู้ใช้งานในสหรัฐฯเท่านั้น เพื่อให้หน่วยงานสาธารณสุขตรวจสอบได้ว่าในย่านไหนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งหากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็อาจมีการเปิดให้ทำแบบสำรวจในพื้นที่อื่นๆบนโลกในลำดับต่อไป
AHEAD TAKEAWAY
แม้ Facebook จะถูกเพ่งเล็งเรื่องการใช้ข้อมูลของยูสเซอร์ ในการหาประโยชน์เชิงพาณิชย์บ่อยครั้ง แต่ในอีกด้าน โซเชียลเบอร์หนึ่งของโลก ก็มีโครงการที่ทำเพื่อสังคมเช่นกัน โดยที่ Data for Good ก็เป็นหนึ่งในนั้น
แผนที่ป้องกันการระบาด หรือ Disease Prevention Maps จากโครงการนี้ ก็เป็นเครื่องมือที่ Facebook เริ่มให้บริการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2019 โดยเคยถูกนำไปใช้ในการวางนโยบายรับมือวิกฤตอหิวาตกโรค ที่โมซัมบิก รวมถึงนำมาใช้ทำนายอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิต ในบางย่านของรัฐวอชิงตันมาแล้ว
Facebook ก็ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายเดียว ที่มีบทบาทช่วยเหลือสังคมในวงกว้าง ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19
Apple is dedicated to supporting the worldwide response to COVID-19. We’ve now sourced over 20M masks through our supply chain. Our design, engineering, operations and packaging teams are also working with suppliers to design, produce and ship face shields for medical workers. pic.twitter.com/3xRqNgMThX
— Tim Cook (@tim_cook) April 5, 2020
เร็วๆนี้ Apple ซึ่งมีจุดเด่นในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็เพิ่งเปิดตัว Face Shield อุปกรณ์ป้องกันตนเองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ประกอบได้ง่ายภายในเวลาไม่ถึง 2 นาที และสามารถพับเก็บให้เรียบแบน จนสามารถบรรจุได้มากถึง 100 ชิ้นต่อกล่อง ทำให้สะดวกต่อการขนส่ง
ทิม คุก เผยว่า Apple กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อส่ง Face Shield ไปยังสถานพยาบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด โดยอุปกรณ์ชุดแรกถูกส่งไปยังโรงพยาบาล Kaiser hospital แล้ว และยังมีแผนส่งมอบ Face Shield กว่า 1 ล้านชิ้นภายในสิ้นสัปดาห์ และจะจัดส่งต่อเนื่องอีกไม่ต่ำว่า 1 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์
ขณะที่ แจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Twitter ก็ประกาศโอนหุ้นของบริษัทโมบายล์เพย์เมนท์ Square ที่เขาถือไว้ มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ (33,000 ล้านบาท) มาใช้ในการก่อตั้งกองทุน Start Small เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้
I’m moving $1B of my Square equity (~28% of my wealth) to #startsmall LLC to fund global COVID-19 relief. After we disarm this pandemic, the focus will shift to girl’s health and education, and UBI. It will operate transparently, all flows tracked here: https://t.co/hVkUczDQmz
— jack (@jack) April 7, 2020
แสดงให้เห็นว่าในหลายๆโอกาส การขับเคลื่อนทางสังคมนั้น ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยหน้าไปกว่าภาครัฐเช่นกัน และอาจจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีโดยองค์กรเอกชนเหล่านี้ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น
เรียบเรียงจาก
Data for Good: New Tools to Help Health Researchers Track and Combat COVID-19
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า