SpaceX ของ อีลอน มัสก์ และ Blue Origin ของ เจฟฟ์ เบโซส เป็น 2 จาก 3 บริษัทเอกชน ที่ได้รับสัญญาจาก NASA ให้ออกแบบและพัฒนาโครงการส่งมนุษย์เดินทางสู่ดวงจันทร์ ในปี 2024 ขณะที่ยักษ์ใหญ่ในวงการอย่าง Boeing ไม่ได้รับเลือก
เมื่อ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ ประกาศรายชื่อบริษัท 3 ราย ที่ได้รับเลือกให้ออกแบบและพัฒนาระบบนำส่งมนุษย์ลงไปยังพื้นผิวดวงจันทร์ (Human Landing Systems หรือ HLS) ตามโครงการ Artemis ของ NASA ภายในปี 2024
ทั้ง 3 บริษัทประกอบด้วย
National Team ซึ่งมี Blue Origin รับหน้าที่เป็นผู้รับเหมาหลัก ในการก่อสร้างยานลงจอดบนดวงจันทร์ Blue Moon ควบกับบทบาทอื่นๆ เช่นการบริหารจัดการโครงการ การดูแลวิศวกรรมระบบ และระบบความปลอดภัยต่างๆ ร่วมกับพันธมิตรอย่าง Lockheed Martin, Northrop Grumman และ Draper ซึ่งจะยิงสู่ชั้นบรรยากาศด้วยจรวด New Glenn ของ Blue Origin รวมมูลค่าของโครงการอยู่ที่ 579 ล้านดอลลาร์ (ราว 18,800 ล้านบาท)
Dynestics ร่วมกับ Sierra Nevada Corporation ที่มาพร้อมกับ ALPACA ยานลงจอดบนดวงจันทร์ที่ออกแบบให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยจะยิงสู่ชั้นบรรยากาศด้วยรวด Vulcan ของ United Launch Alliance มูลค่าของโครงการอยู่ที่ 253 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,200 ล้านบาท)
SpaceX ที่ใช้ยาน Starship ร่วมกับจรวด Super Heavy ที่พัฒนาขึ้นเอง จุดเด่นคือมีมูลค่าโครงการต่ำสุด 135 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,300 ล้านบาท) และจะเป็นตัวเลือกแรกสำหรับโครงการราคาประหยัดในอนาคต หากประสบความสำเร็จ
ส่วน Boeing ร่วมกับ Intuitive Machines ซึ่งเสนอโครงการเช่นกัน ไม่ได้รัเลือกในครั้งนี้
NASA มอบสัญญาครั้งนี้ให้กับสามบริษัท เพราะต้องการเห็นผลการทดลองที่หลากหลาย โดยเฉพาะกับ SpaceX ที่มีแนวคิดนอกกรอบ เพื่อนำไปต่อยอดโครงการเยือนดวงจันทร์อย่างยั่งยืน ภายในปี 2028 ขณะที่ จิม ไบรเดนสไตน์ ผู้บริหารยืนยันว่าการคัดเลือกครั้งนี้ ประเมินจากแนวทางที่นำเสนอเป็นหลัก โดยไม่เกี่ยวกับงบประมาณแต่อย่างใด
ดั๊ก เลิฟเวอร์โร หัวหน้าฝ่ายการบินอวกาศโดยมนุษย์ ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยทั้งสามบริษัทจะมีเวลาสร้างระบบสาธิต 10 เดือน เพื่อให้ NASA พิจารณาอีกครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 และจะไม่มีการประกาศคำตัดสินล่วงหน้าว่าโครงการใดจะได้รับเลือก
AHEAD TAKEAWAY
โครงการ Artemis ซึ่งมีเป้าหมายในการพานักบินอวกาศหนึ่งคู่ไปเหยียบดวงจันทร์ ภายในปี 2024 โดยเน้นที่ว่าหนึ่งรายจะเป็นนักหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ โดยได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ปี 2017
และมีแนวคิดมอบให้ภาคเอกชนเป็นผู้พัฒนายานสำหรับลงจอดในโครงการนี้ จนเป็นที่มาของการเสนอราคาดังกล่าว
ที่ผ่านมา โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ว่าทำขึ้นอย่างเร่งรัด เพื่อหวังผลทางการเมือง ในการเรียกคะแนนเสียงให้แก่ประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ยืนยันว่าขอบเขตเวลาในการทำงานที่ไม่ยืดเยื้อเกินไป จะทำให้ไม่ผลาญงบประมาณมหาศาลเหมือนโครงการ Apollo ในอดีต
ไบรเดนสไตน์ ชี้แจงว่า แนวคิดในการพัฒนาโครงการให้ “รวดเร็ว” และ “ยั่งยืน” นี่เอง คือเหตุผลหลักที่ NASA มอบโอกาสนี้ให้ SpaceX ซึ่งต้องการใช้โอกาสนี้เตรียมความพร้อม สำหรับแผนมุ่งสู่ดาวอังคารควบคู่กันไป
(อ่านเพิ่มเติม มัสก์ เผยตั๋วไปดาวอังคาร SpaceX ไม่แพง แค่ 6.6 ล้าน พร้อมรับมีความเสี่ยง)
“ทำไมเราถึงให้สัญญากับ SpaceX ทั้งที่เราเพิ่งเห็น Starship ระเบิดไปเมื่อเร็วๆนี้ เหตุผลคือพวกเขาถนัดในการทดสอบและปรับปรุงให้ดีขึ้น ถ้าการออกแบบของพวกเขาใช้งานได้จริง นี่จะเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญ ทั้งเรื่องงบประมาณ และโอกาสที่เปิดกว้าง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ในเชิงธุรกิจจริงๆ อย่างที่เราเคยตั้งใจไว้”
ท่าทีที่เปลี่ยนไปของ NASA เมื่อเทียบกับช่วงที่ อีลอน มัสก์ ตกเป็นข่าวเรื่องการสูบกัญชา แสดงให้เห็นว่าผลงานของ SpaceX นั้น น่าเชื่อถือมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติม NASA สั่งทบทวนความปลอดภัย หลัง อีลอน มัสก์ ปุ๊นออกอากาศ)
เช่นเดียวกับมาตรฐานใหม่ในด้านอวกาศของ SpaceX ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้น และสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมานั่นเอง (อ่านเพิ่มเติม 5 วิธีทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดย อีลอน มัสก์ และกูรูชั้นนำ และ หนังสือโปรด 8 เล่มของโคตรอัจฉริยะ อีลอน มัสก์)
อ่านเพิ่มเติม
จากไดโนเสาร์ถึงอวกาศกับ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักคิดนอกกรอบจาก MIT Media Lab
10 เทคโนโลยีพลิกโลก 2020 คัดเลือกโดย MIT Technology Review
เรียบเรียงจาก
NASA awards lunar lander contracts to Blue Origin, Dynetics—and Starship
SpaceX Wins Large NASA Contract for Starship Moon Missions
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า