สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดผู้โดยสารบนเที่ยวบินเส้นทางเอเชีย-แปซิฟิก อาจต้องจ่าย ค่าตั๋วเครื่องบิน เพิ่มขึ้นราว 54% หากสายการบินต่างๆต้องถอดเก้าอี้ตัวกลางออก เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ลดโอกาสแพร่กระจายของโควิด-19
การบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 จากปริมาณการเดินทางที่ลดลง และมาตรการปิดประเทศ โดยยังไม่มีกำหนดว่าจะกลับมาให้บริการได้เมื่อไหร่ ขณะที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนอันดับหนึ่งของโลก ก็ตัดสินใจเทขายหุ้นสายการบินทั้งหมดทิ้ง เพราะเชื่อว่าหลังผ่านวิกฤตนี้ไป ธุรกิจการบินจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
(อ่านเพิ่มเติม นักวิเคราะห์ชี้ บัฟเฟตต์ สรุปอนาคตให้แล้ว หลังเทขายหุ้น 4 สายการบินใหญ่)
และในสัปดาห์นี้ IATA ก็ได้จัดประชุมแบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ เพื่อร่วมกันหามาตรการใหม่ที่จะเป็น New Normal ในการเดินทาง ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ถูกยกมาพูดถึง ก็คือการเสนอให้ถอดที่นั่งตรงกลางเครื่องออก เพื่อเพิ่มระยะห่างและลดโอกาสแพร่กระจายของโรค
แต่คำตอบจาก ไบรอัน เพียร์ซ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ คือผู้โดยสารจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น เนื่องจากสายการบินจะรองรับผู้โดยสารได้น้อยลงเกือบ 40%
“การถอดเก้าอี้ตัวกลางออกทั้งหมด จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริการสูงขึ้น และสายการบินก็จะต้องขึ้นค่าโดยสารแทน เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้”
เพียร์ซ ยังเสนอถึงแนวทางอื่นๆ เพื่อให้สายการบินต่างๆสามารถกลับมาให้บริการได้ เช่น เพิ่มความถี่และความละเอียดในการทำความสะอาดที่นั่งโดยสารให้มากขึ้น ขอให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่บนเครื่อง ไปจนถึงการเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยที่สนามบินให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคแทน
ด้านอเล็กซองดร์ เดอ ญูนิยัค ซีอีโอของ IATA ก็ยอมรับว่าหากต้องนำมาตรการเพิ่มระยะห่างมาใช้บนเครื่องจริง นั่นแปลว่ายุคของการเดินทางแบบประหยัดจะถึงคราวสิ้นสุดโดยปริยาย เนื่องจากผลสำรวจพบว่ามีเพียง 4 สายการบิน จากทั้งหมด 122 รายที่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับคุ้มทุนได้
ขณะที่ตัวแทนของ Ryair ผู้ให้บริการสายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ที่สุดของยุโรป ก็แสดงท่าทีคัดค้านการถอดที่นั่งตรงกลางเครื่องออก พร้อมระบุจะไม่เปิดให้บริการ หากมาตรการนี้ถูกนำมาบังคับใช้จริงๆ
ส่วนในจีน ซึ่งเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และเปิดให้มีการเดินทางได้แล้ว ก็พบว่าค่าโดยสารสำหรับเที่ยวบินในประเทศนั้นขยับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในช่วงเทศกาลหยุดยาววันแรงงานที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเทศกาลเช็งเม้งในเดือนเมษายน
Trip.com ก็ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีมากกว่า เพราะเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งไม่มีความกังวลเรื่องโควิด พบว่าตั๋วเดินทางในช่วงวันแรงงานปีนี้ ยังถูกกว่าถึง 32%
อย่างไรก็ตาม ฉี ฉี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของวิทยาลัยการบินพลเรือนกว่างโจว ก็เตือนว่าภาครัฐอาจต้องเข้ามาควบคุมในเรื่องนี้ เพราะมีแนวโน้มที่ ค่าตั๋วเครื่องบิน ในประเทศจะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น ตามดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น
หนึ่งในเคสที่ค่าโดยสารถีบตัวแบบก้าวกระโดดคือค่าโดยสารจากปักกิ่งไปยังหางโจว เมื่อ 29 เมษายน ขยับขึ้นถึง 700% ภายในเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงหลังรัฐบาลปักกิ่งประกาศลดระดับการควบคุมด้านสาธารณสุขลง ขณะที่อัตราการจองตั๋วเครื่องบินทั่วประเทศก็พุ่งขึ้นเป็น 1500% ทันที
ด้าน IATA ยอมรับว่าในช่วงแรก สายการบินต่างๆอาจต้องยอมลดค่าโดยสารลง เพื่อเรียกความมั่นใจของผู้คนให้กลับคืนมา
Quantas ที่ระบุว่าไฟล์ระหว่างเมลเบิร์นกับซิดนีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเที่ยวบินในประเทศที่หนาแน่นที่สุดในโลก อาจถูกลดราคาลงเหลือแค่ 1 ใน 3 ในช่วงแรกที่กลับมาเปิดทำการ
แต่ IATA ก็ยอมรับว่าในอนาคต ราคาก็อาจปรับสูงขึ้นเช่นกัน เพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายไปด้วย ซึ่งในแง่หนึ่งก็จะกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีความเชื่อมโยงกัน
AHEAD TAKEAWAY
นักวิเคราะห์จำนวนมาก มองว่าจากนี้ ชีวิตประจำวันของเราจะเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆด้าน ด้วยผลจากโควิด-19
ขณะเดียวกัน มันก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เทคโนโลยีหลายๆประเภทถูกนำมาใช้เร็วยิ่งขึ้นไปด้วย
มาร์คัส เอนอค และ เจมส์ วอร์เรน จาก Singularity University มองว่าการเดินทางเพื่อท่องเที่ยว หรือไปมาหาสู่ระหว่างเครือญาติ เช่นเทศกาลอีสเตอร์ ตรุษจีน ฯลฯ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากนัก เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย
แต่การเดินทางเพื่อธุรกิจนั้น มีสิทธิ์ที่จะได้รับผลกระทบ เพราะช่วงหลายเดือนมานี้ การประชุมในลักษณะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทดแทนได้ในระดับหนึ่ง และยังมีข้อดีคือช่วยให้องค์กรประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงลดเวลาในการเดินทางได้อีกด้วย
(อ่านเพิ่มเติม การเดินทางและคมนาคมในโลกยุคหลังโควิด-19)
ทีมงาน AHEAD ASIA ยังนึกถึงงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่มองว่าในอนาคตอันใกล้ เที่ยวบินในประเทศยังอาจต้องเจอกับคู่แข่งจากธุรกิจอื่น อย่าง รถไร้คนขับ เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นจนสามารถใช้งานได้จริง
ในงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่าแม้การเดินทางด้วยเครื่องบินจะดูเหมือนรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการนั่งรถ แต่จริงๆแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ไม่ได้ถูกนำมาประกอบ เช่นการต้องเดินทางจากบ้านไปสนามบิน ต่อแถวเช็กอิน ตรวจกระเป๋า รอขึ้นและลงเครื่อง รอกระเป๋าเมื่อเดินทางถึง และต่อรถไปถึงที่หมาย ฯลฯ
เทียบกับกับนั่งรถ แม้จะใช้เวลามากกว่า แต่ก็ทดแทนด้วยความสะดวกสะบายอื่นๆ เช่นออกเดินทางจากบ้านได้ทันที ไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักสัมภาระ และที่สำคัญคือเมื่อเดินทางด้วยรถไร้คนขับ ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทานอาหาร ทำงาน หรือนอนหลับโดยไม่ต้องเบียดเสียดกับผู้โดยสารคนอื่น
รวมถึงตัวแปรเรื่องโควิด-19 ซึ่งเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากงานวิจัยด้วย (อ่านเพิ่มเติม เที่ยวบินในประเทศอาจถูก disrupt ด้วยรถไร้คนขับ)
นั่นอาจแปลว่า ไม่ว่าอย่างไร สายการบินก็จำเป็นต้องปรับตัวใหม่กับ New Normal ที่กำลังจะมาถึงอยู่ดี ไม่ว่าเก้าอี้ตัวกลางบนเครื่อง จะถูกถอดออกไปหรือไม่ก็ตาม
เรียบเรียงจาก
Airfares could rise by 50 per cent if social distancing leads to empty middle seats
อ่านเพิ่มเติม
ผลสำรวจพบบริการเรียกรถทำสนามบินสูญรายได้
4 อุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวในยุคโควิด-19
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า