ในมุมมองคนทั่วไป สเปน อาจไม่ใช่ชาติผู้นำด้านเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพ แต่หลายปีมานี้ ที่นี่กลายเป็นแห่งกำเนิดของสตาร์ทอัพสาย ฟู้ดเทค ที่มาพร้อมแนวคิดและนวัตกรรมน่าสนใจหลายราย
และนี่คือ 5 สตาร์ทอัพน่าสนใจที่มาพร้อมแนวคิดซึ่งจะวางรากฐานสำหรับอาหารแห่งอนาคตให้กับโลกใบนี้
#1
รีไซเคิลเศษอาหารเป็นภาชนะ : Feltwood
ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาจากเศษอาหารเหลือทิ้งเป็นอีกเรื่องที่จำเป็นต้องได้ัรับการแก้ไข
หนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจคือนำอาหารเหลือทิ้งเหล่านั้น โดยเฉพาะผักผลไม้มาแปรรูปใหม่เป็นวัสดุสำหรับภาชนะรีไซเคิล จนเป็นที่มาของ Feltwood สตาร์ทอัพจากเมืองซาราโกซ่า ประเทศสเปน
“วัสดุของภาชนะเราเป็นเส้นใยจากผักผลไม้ 100% ไม่มีการผสมพลาสติกหรือส่วนประกอบอื่นๆเลย นี่จะเป็นทางเลือกใหม่นอกเหนือจากการใช้ไม้หรือพลาสติกในการผลิตภาชนะ”
อรันชา ยาเนซ ซีอีโอของ Feltwood เสริมว่านอกจากถาดภาชนะสำหรับวางผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ความแข็งแรงของตัววัสดุยังอาจนำไปผลิตเป็นสินค้าอื่นๆ เช่น ของเล่น หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังช่วยลดการใช้พลาสติก ซึ่งใช้เวลาในการย่อยสลายนานกว่าด้วย
#2
ไขมันคุณภาพสูงจากพืช : Cubiq Foods
ความตั้งใจของ อันเดรส มอนเตเฟลโตร และ ราเควล ราวิญา คือนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน ไบโอเทค และเภสัชกรรม มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเจาะจงไปที่เรื่องของไขมันเป็นหลัก
เทคโนโลยีของ Cubiq Foods คือการปรับโครงสร้างไขมัน เพื่อลดปริมาณกรดไขมันอิ่มตัว และแคลอรีลง แต่ไม่กระทบกับเนื้อสัมผัสของตัวอาหาร
จนเป็นที่มาของน้ำมัน และส่วนประกอบไขมัน ที่เกิดจากส่วนผสมของพืช 100% ซึ่งจะนำไปผสมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น โปรตีนสกัดในห้องแล็บ เพื่อเพิ่มรสชาติและเนื้อสัมผัสให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงๆมากขึ้น แต่ดีต่อสุขภาพมากกว่าตัวเลือกเดิมอย่างน้ำมันมะพร้าว ที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง
ปัจจุบัน มอนเตเฟลโตร และทีมงานกำลังพัฒนาไขมันที่ปริมาณโอเมก้า 3 สูง ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเสนอสู่ท้องตลาดได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า
#3
ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อจากถั่วเหลือง : Heura
เบอร์นาต อนาโนส ก่อตั้ง Heura ขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่าปริมาณอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์จะไม่เพียงพอต่อการบริโภค
“ในปี 2050 โลกเราจะมีประชากรประมาณ 10,000 ล้านคน แปลว่าอาหารจะมีไม่พอสำหรับทุกคน พูดจริงๆคือเราไม่มีทรัพยากรมากพอสำหรับทำปศุสัตว์เพื่อเลี้ยงคนทั้งโลก”
ทั่วไป เราต้องใช้ธัญพืช 20 กิโลกรัม สำหรับเลี้ยงวัว เพื่อให้ได้เนื้อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม (โคขุนที่ผ่านการชำแหละแล้ว จะได้เนื้อประมาณ 280 กิโลกรัมต่อตัว เท่ากับว่าต้องใช้ธัญพืช ประมาณ 5.6 ตัน)
ขณะที่ Heura ใช้ถั่วเหลือง 500 กรัม ก็สามารถผลิตโปรตีนทางเลือกได้ 1 กิโลกรัมแล้ว และยังใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าการทำปศุสัตว์จริงๆ ถึง 94% ซึ่ง อนาโนส ยืนยันว่ามีรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ชนิดแยกไม่ออกด้วย
#4
ตัวกลางกู้ยืม P2P เพื่อเกษตรกร : EthicHub
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของเกษตรกรทั่วโลก คือเรื่องของเงินทุน
EthicHub ไม่ใช่ ฟู้ดเทค ที่เน้นเทคโนโลยีการผลิตอาหารโดยตรง แต่นำแนวคิดเรื่อง P2P lending (กู้ยืมระหว่างบุคคล) มาใช้ โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน สร้างแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในแมทชิ่งกัน ระหว่างเกษตรกรที่ต้องการเงินทุน กับนักลงทุนทั่วโลก
นับจนถึงปัจจุบัน EthicHub สามารถดึงนักลงทุนและผู้ให้กู้เข้าสู่แพลตฟอร์มได้มากกว่า 500 ราย เพื่อปล่อยกู้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยเน้นหนักที่ไร่กาแฟ ทั้งในอเมริกากลางและยุโรป เพื่อนำไปซื้อปุ๋ย สร้างโรงตากเมล็ดกาแฟ หรือจ่ายค่าแรงคนงาน ฯลฯ
#5
เครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ : Natural Machines/Foodini
นอกจากเตาไมโครเวฟ หรือเครื่องชงกาแฟแคปซูล ในอนาคตอันใกล้ เราอาจต้องนับรวมเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ ไว้เป็นหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าประจำครัวเรือนยุคใหม่ด้วย
หนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ ก็คือ Natural Machines จากสเปน ที่พัฒนาและผลิตเครื่องพิมพ์ Foodini ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012
Foodini รุ่นปัจจุบัน มีราคาประมาณ 4,000 ยูโร (ราว 150,000 บาท) สามารถเตรียมอาหารอย่าง เค้ก พิซซ่า พาสต้า ฯลฯ ได้ โดยสั่งการผ่านแอปจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ท เลือกรูปแบบ รูปร่าง และผสมส่วนประกอบต่างๆได้ถึงห้าแบบ
เรียบเรียงจาก
5 startups that are changing the food tech landscape in Spain
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า