แอนดรอยด์แห่ง EV

Foxconn ตั้งเป้าเป็น “แอนดรอยด์แห่ง EV” หลังเปิดตัวแพลตฟอร์มรถไฟฟ้า

InsideEVs เว็บไซต์เจาะลึกอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า มอง Foxconn อาจเป็นม้ามืดในฐานะคู่แข่งตัวจริงของ Tesla ก็ได้ หลังเปิดตัวแพลตฟอร์มรถ EV แบบแยกส่วน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้หาก Tesla ที่ใช้ระบบปิด คือ iPhone ของวงการ Foxconn ก็กำลังเลือกใช้แนวทางที่มุ่งหน้าสู่การเป็น ” แอนดรอยด์แห่ง EV “

จากสมาร์ทโฟนสู่รถพลังไฟฟ้า

ที่ผ่านมา Foxconn หรือ Hon Hai Precision Industry เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตและรับผลิตอุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน โดยนอกจากจะเป็นพาร์ทเนอร์หลักในการผลิตดีไวซ์ยอดนิยม อย่าง iPhone และ iPad ให้กับ ง Apple แล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ของบริษัทอื่นๆ อย่าง Amazon Kindle, PlayStation, XBox ฯลฯ ด้วย
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Foxconn ก็เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรม EV ผ่านความร่วมมือกับ Fiat Chrysler เพื่อพัฒนารถ EV สำหรับตลาดจีน โดยรับผิดชอบด้านอิเลคทรอนิคส์และซอฟต์แวร์ต่างๆ
และในงาน Hon Hai Tech Day 2020 เมื่อ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา บริษัทฯ ก็เพิ่งเปิดตัว MIH Open Platform แพลตฟอร์มแยกส่วน ซึ่งสามารถปรับใช้กับแชสซีส์ของรถ EV ได้หลากหลาย ทั้งซีดาน, SUV หรือยานยนต์เพื่อการพาณิชย์รูปแบบอื่นๆ โดยมีสเปคคร่าวๆ ดังนี้
  • ฐานล้อที่ปรับความยาวได้ระหว่าง 2.75 เมตร จนถึง 3.10 เมตร แทร็คที่ปรับความกว้างจาก 1.59 เมตร ถึง 1.70 เมตร ส่วนความสูงถึงใต้้ท้องรถ อยู่ที่ 12.6 เซนติเมตร ถึง 21.1 เซนติเมตร
  • เลือกระบบขับเคลื่อนได้ทั้ง ล้อหน้า/ล้อหลัง/สี่ล้อ
  • ความจุแบตเตอรี่สามขนาด (เป็นแบตเตอรี่แบบ Solid State)
  • มอเตอร์ขนาด 95 kW, 150 kW และ 200 kW สำหรับเพลาหน้า และ 150 kW, 200 kW, 240 kW และ 340 kW สำหรับเพลาหลัง
  • ตัวถังใช้ระบบ mega cast แบบเดียวกับ Modely Y ของ Tesla เพื่อให้มีชิ้นส่วนน้อยที่สุด
  • พร้อมรองรับ 5G and 6G ที่จะมาในอนาคต
  • ระบบซอฟต์แวร์อัพเดทแบบ OTA และระบบเชื่อมต่อแบบ V2X (vehicle-to-anything)
ในวันเดียวกัน หลิว หยางเหว่ย ประธาน Foxconn ก็เผยว่าปัจจุบัน อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์หลายราย และคาดว่าจะสามารถผลิตชิ้นส่วนและให้บริการอื่นๆ อาทิ แบตเตอรี่ขนาดต่างๆ ระบบกันสะเทือนและช่วงล่าง สำหรับทั้งอุตสาหกรรม EV ได้ราว 10% ภายในปี 2025 จนถึง 2027

แอนดรอยด์แห่ง EV

ในการเปิดตัวแพลตฟอร์มดังกล่าว มร.หลิว ยังยกความเห็นของ พอล เกรแฮม แห่ง Y Combinator ใน Twitter เมื่อสามปีก่อน ที่เปรียบเทียบ Tesla ว่าเปรียบเสมือน Apple ของวงการ EV เพราะมี know-how ในหลายๆเรื่องที่เหนือกว่าคู่แข่ง
InsideEVs ยังเสริมว่าความเหมือนระหว่าง Tesla กับ Apple อีกเรื่องคือการใช้ OS ที่เป็นระบบปิด เพื่อป้องกันการดัดแปลงซอฟต์แวร์ที่เป็นหัวใจหลักของรถ EV
ขณะที่แนวทางของ Foxconn นั้น จะมุ่งหน้าสู่การเป็นแพลตฟอร์มเปิด คล้ายกับอีโคซิสเต็มของแอนดรอยด์ ที่แบรนด์รถยนต์ต่างๆ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ โดยใช้พื้นฐานเดียวกัน ทั้งแบตเตอรี่ ระบบเชื่อมต่อ ซอฟต์แวร์จัดการ และอุปกรณ์อื่นๆ

ดันไอเดีย software-defined สู่วงกว้าง

วิลเลียม เหว่่ย หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี (ซีทีโอ) ของ Foxconn อธิบายว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน ซึ่งเน้นที่เครื่องยนต์สันดาปเป็นหลัก ยังขับเคลื่อนด้วยแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับตัวฮาร์ดแวร์ (hardware-defined)
แต่ความสำเร็จของ Tesla ในตลาด EV มาจากแนวคิดของ อีลอน มัสก์ ที่เน้นซอฟต์แวร์ (software-defined) เป็นหลัก เพื่อยกระดับการใช้งาน และเป็นรากฐานสำหรับการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่นระบบจราจรอัจฉริยะ IoT ฯลฯ
และแนวทางที่ Foxconn ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น ก็คือนำแนวคิดนี้ของ อีลอน มัสก์ มาขยายไปสู่วงกว้างให้ได้ ผ่าน MIH Open Platform ซึ่งผู้ผลิตยานยนต์สามารถนำไปต่อยอดได้ ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เหมือนที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทำ กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยมี Foxconn เป็นผู้สนับสนุนชิ้นส่วนและบริการต่างๆ ซึ่งแนวคิดในการร่วมมือกันลักษณะนี้ จะช่วยลดต้นทุนด้าน R&D ลงได้อย่างมหาศาล

จุดอ่อน?

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกใช้ระบบเปิด ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะในอนาคตที่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจะเป็นมาตรฐานใหม่ในการเดินทาง เพราะนั่นแปลว่ามีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น หากระบบถูกเจาะโดยแฮ็คเกอร์ (ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไม Tesla ถึงเลือกใช้ระบบปิด และห้ามผู้ซื้อรูทเครื่องเพื่ออัพเดทซอฟต์แวร์เอง โดยไม่ได้รับอนุญาต)
นั่นแปลว่าหากจะผลักดันให้ระบบเปิดนี้ใช้งานได้จริง ทาง Foxconn ก็จะต้องพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับสูงมากเพื่อป้องกันการถูกเจาะ
อีกประเด็นคือระบบการจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ซึ่งควบคุมโดย AI จะต้องฉลาดพอ เพื่อให้การใช้พลังงานเป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด และเป็นจุดเด่นของ Tesla ที่ยังไม่มีคู่แข่งในท้องตลาดเทียบได้
การพัฒนา BMS ของ Foxconn ที่จะอาศัยพึ่งข้อมูลจากแบตเตอรี่แพ็คในรถแต่ละคัน เพื่อนำมาเรียนรู้และอัพเกรดซอฟต์แวร์ จึงอาจจะด้อยกว่าในช่วงแรก และคงจะพัฒนาขึ้นตามลำดับเมื่อมีข้อมูลมากขึ้น

AHEAD TAKEAWAY

ในมุมของทีมงาน AHEAD ASIA มีสองประเด็นน่าสนใจจากการตัดสินใจก้าวข้ามอุตสาหกรรมของ Foxconn ในครั้งนี้
หนึ่งคือ อุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนจะค่อยๆลดบทบาทลงจากเดิมแน่นอน หลังจากที่เราไม่ได้เห็นนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมจากดีไวซ์ประเภทนี้มาหลายปีแล้ว (ไม่นับกิมมิคทั้งหลายอย่าง กล้องที่ทรงพลังขึ้นเรื่อยๆ หรือการพับปิดเปิด)
เพราะแม้แต่ Foxconn ที่ถือเป็นพาร์ทเนอร์อันดับหนึ่งของ Apple ในการผลิต iPhone ยังประกาศว่า 3 เสาหลักของบริษัทในอนาคต คือ โรโบติกส์, ดิจิทัล เฮลธ์แคร์ และ รถพลังไฟฟ้า
สองคือนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของวงการ EV จริงๆก็ได้ แม้ว่ารถพลังไฟฟ้าจะถูกมองว่าเป็นอนาคตที่เลี่ยงไม่ได้ของอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ตาม
เพราะหลายปีมานี้ แม้จะมีความพยายามจากค่ายรถยนต์หลายๆรายที่จะเข้าสู่ตลาด แต่ก็ยังไม่มากพอจะทำให้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจเทคโนโลยีนี้ในเวลาสั้นๆ
การมาของ “คนนอกวงการ” อย่าง Foxconn อาจจะดูแปลก แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีต ก็มีตัวอย่าง “คนนอก” ที่เข้ามาพลิกโฉมวงการมากมาย ทั้ง Nokia ที่ไม่ได้เริ่มต้นจากธุรกิจเทเลคอม แต่ใช้เวลาแค่ทศวรรษเศษๆ ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก่อนจะถูก disrupt อีกที โดยบริษัทคอมพิวเตอร์อย่าง Apple
แนวคิดการผลักดันให้ EV กลายเป็นแพลตฟอร์มเปิด น่าจะเป็นตัวเร่งให้รถพลังงานไฟฟ้าเป็นแมสได้เร็วขึ้น เหมือนที่แอนดรอยด์ ทำให้สมาร์ทโฟนในท้องตลาดมีราคาที่จับต้องได้ง่าย ไม่จำกัดเฉพาะคนมีฐานะหรือกลุ่มสาวกอีกต่อไป
และนั่นก็ยิ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างทั้งสองแพลตฟอร์ม (เหมือนกรณีของ iOS กับแอนดรอยด์) ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคตามไปด้วย
อ่านเพิ่มเติม
เรียบเรียงจาก
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Krungsri-LDB Global Transfer

เปิดตัวโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ Krungsri-LDB Global Transfer

Next Article
Twitch

Twitch ก้าวข้ามกำแพงเกมเมอร์ สู่วงกว้าง (และการเมือง)

Related Posts