เก็บตก 5 ประเด็นในงานเสวนาหายูนิคอร์นไทย Building Thailand’s first Unicorn

รอบปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นช่วงเวลาท้าทายครั้งใหญ่สำหรับวงการสตาร์ทอัพในบ้านเรา เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว ด้วยผลกระทบจาก โควิด-19

คำถามที่ตามมาคือทิศทางข้างหน้าของสตาร์ทอัพไทย จะเดินหน้าต่อไปทางไหน และมีโอกาสไหม ที่เราจะมียูนิคอร์นเป็นของตัวเอง เหมือนชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน และเอเชียแปซิฟิก ?

นั่นคือที่มาของงานเสวนาออนไลน์ Building Thailand’s first Unicorn: the technology powering the nation’s startup innovation ที่จัดขึ้นโดยบริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AWS

งานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกันของคนในวงการสตาร์ทอัพ ทั้งจากมุมของผู้ก่อตั้ง (คุณกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ซีอีโอ Amity ผู้ให้บริการดิจิทัล โซลูชันส์สำหรับองค์กร และคุณยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Wongnai) และมุมของ VC (คุณปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 Tuk-Tuks ในเครือ 500 Start-ups)

โดยมี ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ AWS รับหน้าที่โมเดอเรเตอร์

แต่ละท่านมีมุมมองอย่างไรบ้างนั้น ทีมงาน AHEAD ASIA ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมฟังการเสวนาครั้งนี้ด้วย สรุปเนื้อหาการพูดคุยไว้ 5 ข้อตามนี้ครับ

#1
2563 ปีแห่งการจำศีลของสตาร์ทอัพไทย

งานเสวนาเริ่มขึ้นด้วยคำถาม ดร.ชวพล ถึงความเห็นของแต่ละท่านต่ออีโคซิสเต็มวงการสตาร์ทอัพไทยในช่วงที่ผ่านมา

คุณยอดจาก LINEMAN Wongnai มองว่าในปี 2563 เป็นปีที่ “เหนื่อย” สำหรับหลายคนที่ทำสตาร์ทอัพ แม้บางรายจะพลิกวิกฤตจากโควิดให้เป็นโอกาสได้ แต่จำนวนไม่น้อย ต้องเข้าสู่ภาวะจำศีล (hibernate) ทั้งลดค่าใช้จ่าย เปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจ หรือหนักสุดก็คือปิดตัวไป

ด้านคุณมะเหมี่ยวจาก 500 Tuktuks ก็ยอมรับว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้แม้แต่ VC เองก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องการลงทุน ถึงขนาดที่ไม่มีดีลเกิดขึ้นเลยภายในหกเดือนก็มี เมื่อเทียบกับ 1 ดีลต่อเดือนในช่วงปกติ

คำแนะนำจากทั้งคู่สำหร้บคนทำสตาร์ทอัพ คือต้องบริหารกิจการให้ lean ขึ้น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะมาร์เก็ตติ้งลง และหารายได้ด้วยตัวเองให้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐหรือองค์กรเอกชนใหญ่ ๆ ก็ควรลงมาให้ความช่วยเหลือด้วย

#2
ไม่มีสูตรสำเร็จสู่ยูนิคอร์น

ในคำถามที่เป็นหัวข้อหลักของการเสวนานี้ คือแต่ละคนมองว่าสูตรในการสร้างยูนิคอร์นควรจะเป็นอย่างไร

คุณยอดมองว่าไม่มีสูตรตายตัว แต่พื้นฐานสำคัญคือ ตลาด (market size) ของธุรกิจ/บริการนั้นต้องใหญ่พอ จากนั้นคนทำธุรกิจก็ต้องเลือกว่าจะเป็น national champion คือครองตลาดในประเทศ หรือไปแข่งขันในสนามใหญ่ ในฐานะ regional/global player ซึ่งแนวทางของ LINEMAN Wongnai คือการเป็นเจ้าตลาดในไทยให้ได้ เพราะถึงตลาดในบ้านเราจะไม่ใหญ่เท่าอินโดนีเซีย แต่การใช้จ่ายต่อหัวของเราสูงกว่า

ขณะที่ คุณกรวัฒน์ จาก Amity มองว่าคนทำสตาร์ทอัพในบ้านเรา เริ่มต้นโดย mindset ที่ต่างจากเพื่อนบ้าน สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์หรืออินโดนีเซีย มักเริ่มต้นด้วยการพุ่งเป้าที่ global market เป็นหลัก เพราะรู้ตั้งแต่ต้นว่าตลาดในประเทศเล็กเกินไป

การที่ Amity ซึ่งเน้นบริการ SDK (Software Development Kit) แบบคลาวด์เซอร์วิส เลือกตั้งสำนักงานใหญ่ในลอนดอน เพราะมองว่าโมเดลธุรกิจของตัวเอง เหมาะกับตลาด global มากกว่า region ที่องค์กรต่าง ๆ ยังใช้จ่ายในเรื่องนี้น้อย

คุณกรวัฒน์ ยังมองว่าตลาดในระดับ Global ที่ใหญ่มาก ๆ นั้น ยังเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพสาย B2B ที่โฟกัสเฉพาะทางด้วย เพราะขอเพียงเด่นมาก ๆ ในด้านเดียว (เช่น Zoom หรือ DocuSign) ก็สามารถสร้างมูลค่าจนใหญ่กว่าบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุดในไทยแล้ว

อีกมุมมองที่น่าสนใจจากคุณมะเหมี่ยว ที่เป็น VC คือบางครั้งการเป็นยูนิคอร์น นอกจาก market size แล้ว ยังขึ้นกับความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย ซึ่งในภูมิภาคนี้ การจะระดมทุนไปถึงซีรีส์ C ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

และเอาเข้าจริงแล้ว การเป็นยูนิคอร์น ก็ไม่ได้การันตีว่าธุรกิจนั้นจะยืนระยะได้ไปตลอด สิ่งสำคัญจริง ๆ สำหรับการทำสตาร์ทอัพ อาจจะเป็นการสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนมากกว่า

#3
อะไรบ้างที่สำคัญ ในการทำสตาร์ทอัพ

ในมุมของคุณยอดและคุณมะเหมี่ยว เครื่องมือคือสิ่งสำคัญในการทำสตาร์ทอัพ

คุณยอดยกตัวอย่างเมื่อเริ่มทำ Wongnai ใหม่ ๆ ช่วงแรกยังใช้บริการรับฝากเซิร์ฟเวอร์ (Co-location) อยู่ ซึ่งมักจะมีปัญหาเซิร์ฟเวอร์ดาวน์บ้าง ถ้าโชคร้ายก็อาจใช้งานไม่ได้นานเป็นครึ่งวันก็มี

เทียบกับในปัจจุบัน การใช้คลาวด์คอมพิวติ้งถือว่าสะดวกกว่ากันมาก ปัญหาจุกจิกทั้งหลายก็หมดไป ทำให้สามารถโฟกัสที่การสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภคได้จริง ๆ (ซึ่งปัจจุบัน AWS ก็มีโปรแกรมเพื่อช่วยเหลือสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ อย่าง AWS Activate สำหรับผู้ที่สนใจด้วย https://amzn.to/38pGFCY)

ขณะที่คุณมะเหมี่ยว ก็เสริมว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญมาก ในหลายด้าน ทั้งการช่วยให้สร้างโปรดักท์สู่ตลาดได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และสเกลอัพได้ง่ายกว่าเดิม แต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง

นอกจากนี้ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ ก็สามารถนำมาปรับแต่งให้ตรงความต้องการของลูกค้าได้ง่าย ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับทุกธุรกิจในอนาคต เสริมด้วยทรรศนะของคุณยอดในเรื่องนี้ว่า การที่ธุรกิจเริ่มต้นได้ง่ายกว่า โปรดักท์ของคุณก็ต้องดีที่สุด เพราะจะมีคู่แข่งมากตามไปด้วย

ส่วนในมุมของคุณกรวัฒน์ คำแนะนำโดยเฉพาะจากคนที่มีประสบการณ์มาก่อน อาจจะมีน้ำหนักกว่าเรื่องเงินทุนก็ได้ ซึ่งถ้าเป็น insight ในอุตสาหกรรมนั้นก็ยิ่งดี หรือถ้าไม่ เรื่องเบสิคในการทำธุรกิจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องรับฟังไว้เช่นกัน

#4
คำขอถึงภาครัฐ

คุณกรวัฒน์ มองว่าเทียบในเรื่องอีโคซิสเต็มกับเพื่อนบ้านหลาย ๆ ชาติแล้ว เรายังเป็นรองอยู่มาก

ในเรื่องนี้ คุณยอดเสริมว่าสิ่งที่หน่วยงานรัฐควรทำ คือสร้างบรรยากาศที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

หนึ่งในเรื่องที่ VC อย่างคุณมะเหมี่ยวอยากเห็น คือการแก้ไขกฎหมายบางตัว ที่ปัจจุบันเป็นอุปสรรคให้การระดมทุนของสตาร์ทอัพไม่สะดวก ซึ่งถ้าเปิดกว้างมากขึ้น โอกาสที่เราจะได้เห็นวงการสตาร์ทอัพบ้านเราเติบโต ก็น่าจะมีมากกว่าเดิม

#5
ไหวไหม ถ้าปลาใหญ่อย่างองค์กรว่ายเร็วเหมือนสตาร์ทอัพ

ในช่วง Q&A ทีมงาน AHEAD ASIA ขอมุมมองของผู้ร่วมงานทั้งสามท่าน ถึงเทรนด์ในช่วงหลังที่องค์กรใหญ่ ๆ ผันตัวเองจากการทำอินคิวเบเตอร์ หรือแอคเซเลอเรเตอร์ มาสร้างยูนิตย่อยแบบเดียวกับสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างนวัตกรรมองค์กรด้วยตัวเอง ว่าจะกระทบกับคนทำสตาร์ทอัพหรือไม่ ทั้งในแง่การสนับสนุนและการแข่งขัน

คุณมะเหมี่ยว มองว่าเทรนด์ที่เปลี่ยนไปจากช่วง 2-3 ปีก่อน อาจเกิดจาก pain point ของตัวองค์กรเองที่ทำแอคเซเลอเรเตอร์แล้ว ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ แต่ก็ยังเชื่อว่าองค์กรใหญ่ ๆ ยังเปิดกว้าง และพร้อมจับมือกับสตาร์ทอัพในทางใดทางหนึ่งอยู่ ถ้าโปรดักท์ที่สร้างขึ้น มันตอบสนองความต้องการได้

ส่วนคุณกรวัฒน์ ก็เสริมว่าการที่บ้านเรายังไม่มียูนิคอร์น เพราะองค์กรใหญ่นั้นแข็งแรง และปรับตัวเร็วมาก เมื่อเทียบกับองค์กรใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่ได้แปลว่าคนทำสตาร์ทอัพจะหมดโอกาสโตเลย

เพราะแนวทางขององค์กรใหญ่คือการครองตลาดในประเทศเป็นหลัก คำแนะนำจากคุณกรวัฒน์คือการหันไปเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกแทน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นที่หนึ่ง ก็ประสบความสำเร็จได้ เหมือนที่ Grab หรือ Gojek ทำในอุตสาหกรรมของตัวเอง

AHEAD TAKEAWAY

  • ปี 2563 เป็นจุดเปลี่ยนให้สตาร์ทอัพไทยต้องปรับแนวทางให้ lean และพึ่งพาตัวเองมากขึ้น
  • market size คือพื้นฐานสู่การเป็นยูนิคอร์น แต่ในบ้านเรา การเป็นเจ้าตลาดแข่งกับองค์กรใหญ่เป็นไปได้ยาก การเบนเข็มไปจับตลาด B2B ในระดับ global และเลือกโฟกัสเพียงบริการเดียว อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
  • กฎหมายในบ้านเราบางข้อ ยังต้องได้รับการแก้ไข หากต้องการให้อีโคซิสเต็มเอื้อต่อการแข่งขันของสตาร์ทอัพ
  • การสร้างยูนิตย่อยที่ดำเนินงานแบบเดียวกับสตาร์ทอัพขององค์กรใหญ่ ไม่ใช่เรื่องผิด ขณะเดียวกัน ถ้าสตาร์ทอัพมีโซลูชั่นที่ตอบโจทย์จริง ก็ยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากองค์กรใหญ่เหมือนเดิม
  • การเริ่มธุรกิจทุกวันนี้ง่ายขึ้น เพราะมีเครื่องมือสนับสนุนมากมาย เช่น AWS Activate แต่ก็แปลว่าคู่แข่งจะมากขึ้นไปด้วย การจะอยู่รอดได้จึงต้องเป็นเบอร์หนึ่งในสิ่งที่คุณกำลังทำ

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
คุณสมบัติผู้นำ

4 คุณสมบัติผู้นำที่คุณต้องมี เพื่อความสำเร็จในอนาคต

Next Article
คนรวยที่สุดในจีน

ขายเครื่องดื่มยังไง ให้เป็นคนรวยที่สุดในจีน “จง ชานชาน”

Related Posts