ในความทรงจำของหลายคน ปี 2020 อาจเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทาย และไม่มีความทรงจำดี ๆ มากนัก
แต่อย่างที่เรามักพูดเสมอว่าในทุกวิกฤตมีโอกาสแฝงอยู่ ต่อให้เป็นปีที่รุมเร้าด้วยปัญหา ก็ยังมีบทเรียนให้เราต้องพัฒนาตัวเอง เช่นเดียวกับด้านบวกให้พูดถึงเช่นกัน และนี่คือ 10 แง่มุมบวกที่เราเรียนรู้ได้จากปีที่ผ่านมา
#10
การพัฒนาตนเอง
เมื่อมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น หลายคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
สถิติจาก LinkedIn Learning พบว่าในสิงคโปร์ มีการใช้เวลาบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นถึง 300% ส่วนในเว็บไซต์ Skillshare ก็มีสถิติผู้ลงทะเบียนใหม่ และเวลาที่ใช้ในการเรียนบนแพลตฟอร์ม เพิ่มจากเดิมถึงสี่เท่า
แม็ตต์ คูเปอร์ ซีอีโอของ Skillshare เสริมว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการที่คนมีเวลามากขึ้น และพยายามใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีกว่าที่ผ่านมา
#9
ความก้าวหน้าด้านโทรคมนาคม
การรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้สมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน มีโอกาสเจอกันน้อยลง
แต่ช่องว่างเหล่านั้นก็ถูกเติมเต็มด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาโดยเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม เช่น แพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ ที่กลายเป็นมาตรฐานใหม่ในชีวิตประจำวัน จนทำให้ผู้ให้บริการอย่าง Zoom เติบโตแบบก้าวกระโดดในเวลาไม่กี่เดือน
เคที ฟอสส์ ศาสตราจารย์ด้านสื่อของมหาวิทยาลัย มิดเดิล เทนเนสซี สเตท เสริมว่าการที่คนทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงกันได้แบบเรียลไทม์ ผ่านทางวิดีโอ เพื่อแชร์ประสบการณ์ต่าง ๆ ยังถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เทียบกับการระบาดของโรคอื่น ๆ ในอดีต
#8
การหันมาใส่ใจสุขภาพ
การต้องอยู่บ้านมากขึ้น นอกจากการพัฒนาตัวเองในเรื่องทักษะแล้ว หลายคนยังใช้โอกาสนี้หันมาดูแลสุขภาพของตัวเองควบคู่กันไป ในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่ การออกกำลังกายแบบเวอร์ชวล ทำสมาธิ ไปจนถึงทำอาหารทานที่บ้าน ฯลฯ
การใส่ใจตัวเองมากขึ้น ยังเชื่อมโยงไปถึง ที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร ซึ่งเป็นที่มาของเทรนด์โปรตีนทางเลือก ทั้งแบบ plant-based และเนื้อสัตว์ที่เพาะในห้องแล็บ
ไปจนถึงประเด็นด้านความยั่งยืน เช่น เทคโนโลยีเพื่อลดเศษอาหารเหลือทิ้งในระหว่างกระบวนการ
#7
แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ใกล้ตัวกว่าเดิม
สายการบินโลว์คอสต์ และระบบการจองที่พักที่สะดวกรวดเร็ว ทำให้หลายปีมานี้เป็นยุคทองของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในต่างประเทศ
แต่เมื่อการเดินทางไกลถูกจำกัดในรอบปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงต้องปรับตัวเองใหม่ และนำไปสู่เทรนด์การท่องเที่ยวในสถานที่ใกล้ตัว หรือเคยถูกมองข้ามไป
ข้อมูลจากรายงานด้านเทรนด์ท่องเที่ยวของ Airbnb ระบุว่า แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติ ชายหาด และการแคมปิ้ง กลายเป็นทางเลือกใหม่ แทนการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ ที่เน้นแลนด์มาร์คตามเมืองใหญ่ และเทรนด์นี้จะยังต่อเนื่องมาถึงปี 2021 ที่เป็นช่วงเวลาของความไม่แน่นอนด้วย
#6
การปรับตัวของธุรกิจดั้งเดิม ด้วยเทคโนโลยีใหม่
ไม่มีธุรกิจไหนไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะองค์กรใหญ่ หรือร้านค้าขนาดเล็ก
ทางออกของธุรกิจเหล่านี้ มีแต่ต้องปรับตัวให้เร็ว เพื่อความอยู่รอด ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังสุด
ทุกวันนี้ เราถึงได้เห็นร้านค้าปลีกหรือร้านอาหารแบบดั้งเดิม หันมาเปิดรับออเดอร์จากลูกค้าแบบออนไลน์ ระบบชำระเงินแบบวอลเลทเพื่อลดการสัมผัส รวมถึงบริการเดลิเวอรี เพื่อไม่ให้ธุรกิจของตัวเองหยุดชะงัก
#5
ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น
เทรนด์เรื่องการเปิดกว้างรับความหลากหลาย ทั้งในเรื่องเพศ เชื้อชาติ อายุ ฯลฯ ภายในองค์กร เกิดขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
แต่เริ่มชัดเจนขึ้นในปีที่ผ่านมา จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทั่วทุกมุมโลก หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ #blacklivsmatter ในสหรัฐ ฯ เมื่อปีที่ผ่านมา
Microsoft คือหนึ่งในองค์กรที่ขานรับความเคลื่อนไหวนี้ ขณะที่ Nasdaq ก็ประกาศให้ ทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องมีผู้บริหารที่มาจากชนกลุ่มน้อยหนึ่งราย
#4
ประสบการณ์ในการทำงานที่เปลี่ยนไป
การล็อคดาวน์ ทำให้องค์กรทั่วโลกต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในเรื่องของการทำงานแบบ work from home
นอกจากความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่เกิดจากการ WFH คือ อิสระในการตัดสินใจ ความยืดหยุ่น ไปจนถึงการค้นพบศักยภาพใหม่ ๆ ในตัว และเวลาที่มากกว่าเดิม
ปีเตอร์ แจ็คสัน ซีอีโอของ Bluescape ผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์สำนักงาน มองว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ หรือ 9 to 5 อีกต่อไป
ตรงกับรายงานของ Gallup ที่ว่า 3 ใน 5 ของชาวอเมริกันซึ่งตอบแบบสำรวจ รับว่าต้องการทำงานจากบ้านต่อไป แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม
#3
จุดเริ่มต้นความเท่าเทียมทางการศึกษาด้วยการเรียนออนไลน์
ปี 2020 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการศึกษา เมื่อทั้งผู้สอน นักเรียน หรือแม้แต่ผู้ปกครอง ต้องปรับตัวสู่ยุคของการเรียนออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งผู้เกี่ยวข้องพยายามผลักดันมาตลอด 2-3 ปีหลังสุด ก่อนจะถูกเร่งปฏิกิริยาให้เร็วขึ้น เพราะการระบาดของโควิด
ความเปลี่ยนแปลงนี้ ยังถูกมองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลความเจริญทั่วโลก
#2
การฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อม
การชะลอตัวของภาคการผลิต รวมถึงการคมนาคมทั่วโลก ทำให้การปล่อยมลพิษต่าง ๆ ลดลง และส่งผลดีต่อคุณภาพอากาศในมหานครต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือผลสำรวจโดยมหาวิทยาลัยเบิร์คลีย์ แห่งแคลิฟอร์เนีย พบว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในซาน ฟรานซิสโก ลดลงถึง 25% ในเวลาเพียงหกสัปดาห์ สอดคล้องกับความพยายามของภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศ ที่ต้องการผลักดันให้ภาคธุรกิจหันมาเน้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืนมากขึ้น
#1
ความก้าวหน้าทางการแพทย์
วงการแพทย์น่าจะเป็นกลุ่มที่มีอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดดมากที่สุดในทุกด้าน เพราะในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี มีการเร่งพัฒนาวัคซีนรูปแบบต่าง ๆ จากหลายแหล่ง เพื่อรับมือโควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของอุตสาหกรรมนี้ ในกรณีที่เกิดโรคใหม่ ๆ ขึ้นในอนาคต
การแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน คืออีกเทรนด์ซี่งกลายเป็น new normal สำหรับสังคมไปแล้ว ด้วยตัวเลขที่น่าสนใจจากสมาคมการแพทย์อเมริกัน ที่พบว่า 90% ของแพทย์ในสังกัดเคยให้บริการในลักษณะนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบปีที่ผ่านมา และ 2 ใน 3 เห็นด้วยว่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต
AHEAD TAKEAWAY
บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft ซึ่งมีบทบาทอย่างมาก ทั้งในการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าเรื่องโควิด-19 และการสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน กล่าวว่าถึงการระบาด จะทำให้ปี 2020 เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่กลับกัน มันก็เป็นแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย
“ฉะนั้น ก็ยังมีแง่มุมบวกอยู่ และเราก็จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากมันให้มากที่สุด รวมถึงไม่ลืมว่ามีอะไรบ้าง ที่เราไม่ได้เตรียมรับมือล่วงหน้า”
เรียบเรียงจาก
10 positive takeaways from 2020
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า