วอร์เรน บัฟเฟต์ เคยกล่าวว่านอกจากความรู้แล้ว ศิลปะในการเล่าเรื่องก็เป็นสิ่งจำเป็น นั่นคือเหตุผลที่เขาตัดสินใจเข้าเรียนทักษะการพูดต่อหน้าสาธารณชน
เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน เล่าว่าต้องซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าจะก้าวข้ามอาการประหม่า จนกลายเป็นนักพูดที่งานเสวนาทั่วโลกอยากเชิญไปขึ้นเวทีด้วย
(เพราะอะไร บัฟเฟตต์ ถึงเชื่อว่าพลังของการเล่าเรื่อง สำคัญไม่แพ้ศาสตร์อื่น ๆ หาคำตอบได้ใน เล่าเรื่องให้เป็น เคล็ดเพิ่มมูลค่าให้ตัวคุณจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์)
เล่าเรื่องให้เป็น เคล็ดเพิ่มมูลค่าให้ตัวคุณจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์
ขณะที่ในมุมของ อริสโตเติล นักปราชญ์คนสำคัญจากยุคกรีกโบราณ ศาสตร์และศิลป์ในการพูดเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเอาชนะความประหม่า หรือสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองเลย
เพราะสิ่งสำคัญสุด คือทำอย่างไรก็ได้เพื่อ โน้มน้าวใจผู้ฟัง ให้เชื่อในสิ่งที่เราพูด
ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกฝึกฝน เพื่อให้คิดอย่างเป็นกลยุทธ์ในการสื่อสาร ลองมาดูกันว่าศาสตร์แห่งการจูงใจผู้ฟังที่ตกทอดกันมากว่าสองพันปีจากยุคกรีกโบราณนั้นเป็นอย่างไร
#1
คิดถึงผู้ฟังเป็นหลัก อย่าคิดถึงตัวเอง
เวลาเตรียมตัวพูดในที่สาธารณะ คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาไปกับความคิดที่ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตัวเอง เช่น กลัวว่าจะพูดผิด หรือกลัวว่าคนจะไม่เชื่อถือ ฯลฯ
ในมุมของ อริสโตเติล คำถามเหล่านี้คือการคิดถึงตัวเองเป็นหลัก ทางแก้คือให้ไปโฟกัสที่กลุ่มคน ซี่งเราจะพูดด้วย
โฟกัสในที่นี้หมายถึง คุณควรรู้ว่า ใครคือคนที่จะมาฟังคุณพูด? มีกี่คน อายุ เพศ เชื้อชาติอะไรบ้าง? คนพวกนี้รู้จักคุณแค่ไหน และรู้ว่าจะพูดเรื่องอะไรรึเปล่า? ทำไมถึงต้องมาฟังคุณ?
และสำคัญที่สุด สิ่งที่คุณจะพูด มีประโยชน์ต่อพวกเขาแค่ไหน?
เมื่อเริ่มเตรียมสคริปท์ คิดให้ชัดเจนว่าเป้าหมายของการพูดคืออะไร? ให้ข้อมูล ให้แรงบันดาลใจ หรือเพื่อความสนุกสนาน แล้วระบุให้ชัดเจนในประโยคเดียว ว่า เมื่อคุณพูดจบ คุณอยากให้คนเหล่านั้นรู้เรื่องอะไร และทำอะไรต่อหลังจากนั้น
เพราะการโฟกัสที่สิ่งเหล่านี้ จะช่วยลดความฟุ้งซ่านในสมองของคุณ ไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อยจนรู้สึกกังวลได้มาก
#2
ไม่ว่าพูดเรื่องอะไร บทสรุปคือผู้ฟังต้องพอใจ
ไม่ว่าคุณเตรียมจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม แต่ความคาดหวังของผู้ฟังมีแค่อย่างเดียว คือสิ่งที่ฟังแล้วรู้สึกพอใจ ซี่งอาจเป็นได้ทั้ง เรื่องสุขภาพ ครอบครัว ความมั่งคั่ง สถานะ ฯลฯ
ความสำเร็จของคุณในฐานะผู้พูด ขึ้นกับว่าคุณทำได้ดีแค่ไหน ในการทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคุณกำลังพูด เพื่อประโยชน์ของพวกเขา ไม่ใช่แค่การพล่ามอะไรไปเรื่อยเปื่อยจนหมดเวลา
สมมติว่าคุณกำลังจะพิทช์ เพื่อขายผลิตภัณฑ์ด้านการเงินซักตัว คุณรู้อยู่แล้วว่ามันยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่อะไรจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกพอใจได้มากกว่ากัน ระหว่าง การสาธยายกระบวนการแบบยาวเหยียด หรือแค่บอกคนเหล่านั้นว่า สิ่งนี้จะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้ยังไง?
สิ่งที่ อริสโตเติล อยากสื่อ คือขัดเกลาเรื่องที่คุณกำลังจะพูด ให้ตรงกับสิ่งที่อีกฝ่ายสนใจ
#3
พูดภาษาเดียวกับผู้ฟัง
ต่อให้สิ่งที่คุณพูดเป็นความจริง แต่ถ้ามันฟังดูไม่น่าเชื่อถือ หรืออีกฝ่ายฟังไม่เข้าใจ ก็เปล่าประโยชน์
เป็นเรื่องปกติที่ท่าทีเคอะเขินบนเวที หรือแต่งกายไม่ถูกกาลเทศะ จะเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ฟังจากสิ่งที่คุณพูด
แต่แทนที่จะไปมัวกังวลว่าเรื่องไหนที่ไม่ควรทำ คุณควรใส่ใจว่าทำยังไง พวกเขาถึงจะเข้าใจในสิ่งที่คุณพูดดีกว่า
อริสโตเติล ชี้ว่าแม้แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง คำพูดที่เลือกมาใช้ การเปรียบเปรย มุกตลก หรือการตัวอย่าง ที่ใกล้เคียงประสบการณ์ตรงของอีกฝ่าย จะช่วย โน้มน้าวใจผู้ฟัง ให้รู้สึกว่าคุณเป็นพวกเดียวกัน และคล้อยตามได้ดีกว่า
เรียบเรียงจาก
Aristotle was a key figure in public speaking—he said the most persuasive people do these 3 things
อ่านจบแล้ว ถ้าคุณยังมีปัญหาเรื่องความมั่นใจ ลองศึกษาวิธีก้าวข้ามความกลัวนั้น จาก เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ได้ใน
พูดยังไงไม่ให้ติดอ่างกลางเวที กับ 3 วิธีฝึก Public Speaking แบบ ริชาร์ด แบรนสัน
พูดยังไงไม่ให้ติดอ่างกลางเวที กับ 3 วิธีฝึก Public Speaking แบบ ริชาร์ด แบรนสัน
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า