รถยนต์ไฟฟ้า

ทิศทางรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน ความเป็นไปได้สู่เป้าหมาย 250 ล้านคัน ในอนาคต

รถยนต์ไฟฟ้า (EV) คือหนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยี ที่จะมีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นในอนาคต

ข้อมูลจาก Bloomberg Energy Finance ระบุว่าอัตราส่วนของ EV จะมีมากถึง 54% สำหรับรถยนต์ใหม่ในท้องตลาด ภายในปี 2040 นับเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณรถยนต์ทั่วโลก ในช่วงเวลาดังกล่าว

นิสสัน คือหนึ่งในค่ายรถยนต์ชั้นนำ ที่พยายามผลักดันให้เทคโนโลยีนี้ขยายออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูงอย่าง อาเซียน

จนเป็นที่มาของงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ ‘เป้าหมายรถยนต์ไฟฟ้า 250 ล้านคัน เป็นไปได้หรือแค่ฝัน ?’ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองกัน 4 ท่าน คือ

  • คุณอิซาโอะ เซคิกุจิ รองประธานระดับภูมิภาค นิสสัน อาเซียน
  • คุณวิเวก ไวเดีย รองประธานอาวุโสฝ่ายนวัตกรรมการขับเคลื่อนอัจฉริยะ บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เอเชียแปซิฟิก
  • คุณดุสิต อนันตรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
  • คุณเอ็ดมันด์ อรากา ประธานสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งฟิลิปปินส์

โดยมี เจมส์ ดีคกิน ผู้สื่อข่าวสายยานยนต์จาก CNN Philippines รับหน้าที่ moderator ส่วนทีมงาน AHEAD ASIA ก็มีโอกาสได้เข้าร่วมฟังด้วย และนี่คือประเด็นสำคัญ ที่ถอดความจากการพูดคุยครั้งนี้

ทำไมต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า?

คุณอิซาโอะ มองว่าจากนี้ไป คนเจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน มลภาวะและเสียงจากเครื่องยนต์สันดาปในเมืองใหญ่ จะเป็นตัวแปรให้คนเหล่านี้ หันมาสนใจ EV มากขึ้น

นอกจากการใช้งานเพื่อเดินทาง ในอนาคต EV ยังอาจมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น ในเชิงธุรกิจ ผู้ใช้อาจขายกระแสไฟฟ้าจากตัวรถกลับสู่ระบบ หรือเป็นตัวจ่ายไฟสำรองเมื่อไฟในบ้านดับ หรือเกิดภัยพิบัติได้ โดย Nissan LEAF ที่ชาร์จเต็ม 100% สามารถจ่ายไฟสำรองในครัวเรือนได้ถึง 3 วัน

ใครบ้างที่สนใจ?

คุณวิเวก สรุปจากผลสำรวจของ ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ว่า เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อปี 2018 แล้ว ประชากรในอาเซียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ EV มากขึ้น ซึ่ง ไทย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม คือชาติที่แสดงความสนใจมากที่สุด (ส่วนกรณีของ สิงคโปร์ น่าจะเน้นเรื่องบริการขนส่งสาธารณะเป็นหลัก มากกว่า อ่านเพิ่มเติม สิงคโปร์ vs Tesla : เพราะ EV ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย)

ส่วนกลุ่มลูกค้าที่สนใจ EV แบ่งได้ 3 ประเภทกว้าง ๆ คือ

1) ผู้ที่ต้องการประหยัดต้นทุน/ลดค่าใช้จ่าย

2) คนที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม

3) มองว่า EV เสริมภาพลักษณ์ ดูเท่และล้ำสมัย

โดยกลุ่มที่มองว่า EV เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ถือเป็นกลุ่มที่เหนียวแน่นที่สุด ขณะที่กลุ่มที่ 1 นั้นมีค่าเฉลี่ย ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปี 2018 ขณะที่กลุ่มซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมีจำนวนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับที่คุณอิซาโอะชี้ว่ามีกลุ่มคนที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น

ปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อ

คุณวิเวก อธิบายว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค แต่หลัก ๆ ก็คือ

  • ราคา
  • แบตเตอรี่ การชาร์จ และแหล่งชาร์จไฟ

เพราะปัจจุบัน ราคาของ EV ยังถือว่าสูงกว่ารถยนต์เครื่องสันดาป (ICE) คุณวิเวก มองว่าถ้าผู้ผลิตสามารถกดราคาของ EV ลงจากปัจจุบันได้อีก 20-25% จะมีส่วนกระตุ้นให้คนซื้อมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม คาดผู้ผลิตหั่นราคารถ EV เหลือเท่ารถ ICE ได้ภายใน 4 ปี

คาดผู้ผลิตหั่นราคารถ EV เหลือเท่ารถ ICE ได้ภายใน 4 ปี

ส่วนเรื่องการชาร์จไฟ ก็ยังเป็นประเด็นของ range anxiety เช่นเดิม (ความกังวลว่าแบตเตอรี่รถจะไม่พอใจใช้งาน หรือไม่สามารถหาสถานีชาร์จได้)

ตรงนี้ คุณอิซาโอะ เสริมว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอย่างในปัจจุบัน ผู้ที่สนใจ EV แต่ยังกังวลเรื่องนี้ เทคโนโลยี e-POWER ที่ใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อนแบบ EV แต่ไม่ต้องพึ่งการชาร์จไฟจากภายนอก ก็สามารถเป็นอีกตัวเลือกในการพิจารณาได้

250 ล้านคัน เป็นไปได้หรือไม่?

การระบุตัวเลข 250 ล้านคัน หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือการถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะสามารถเปลี่ยนให้รถยนต์ในอาเซียน ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด

คุณดุสิต ยอมรับว่านี่เป็นความท้าทายครั้งใหญ่มาก เพราะถ้าคำนวณจากตัวเลขปัจจุบัน ที่มี EV เพิ่มปีละ 3.5 ล้านคัน การจะผลักดันไปถึงระดับนั้น อาจต้องรอถึง 70 ปีเลยทีเดียว

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะการจะผลักดันให้ EV เป็นเทคโนโลยีหลักนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องมาจากความร่วมมือกันของทุกฝ่าย

เช่น รัฐบาลที่ต้องกำหนดนโยบายสนับสนุน โดยแนวทางแรก ๆ ที่รัฐสามารถทำได้ คือการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีสรรพสามิตต่าง ๆ เพื่อให้รถ EV มีราคาถูกลง

ตามด้วยการให้ความรู้กับประชาชนถึงข้อดีของเทคโนโลยีนี้ โดยเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาในปัจจุบัน เช่น PM2.5 ก่อนจะขยับไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น ที่ชาร์จสาธารณะแบบในยุโรป ฯลฯ

แต่การจะลดปริมาณรถ ICE ก็ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่ง เพราะปัจจุบัน ไทยเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนด้านการผลิตนั่นเอง ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ก็ต้องให้เวลากับผู้เกี่ยวข้องในการเตรียมตัวด้วย

คุณอิซาโอะ เสริมถึงเรื่องนี้ว่าที่ผ่านมา นิสสัน ลงทุนเรื่อง E-Car system ในไทยเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท เพื่อวางเป้าให้ไทยเป็นผู้ผลิตหลักสำหรับตลาดทั่วโลก

ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จ หรือการนำ e-POWER มาใช้ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ก่อนเข้าสู่ยุค EV 100% ต่อไป

อีกประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาโดยคุณเอ็ดมันด์ คือกลยุทธ์ระยะสั้นที่หน่วยงานเชิงพาณิชย์สามารถทำได้ คือการพัฒนา EV สำหรับระบบขนส่งมวลชน ให้เป็น mobility as a service เพื่อนำร่องสู่การใช้รถยนต์พลังไฟฟ้าทั้งระบบ พร้อมเสริมว่า E-Bus น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยด้วย

AHEAD TAKEAWAY

ผลสำรวจของทาง ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เอเชียแปซิฟิก ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง สำหรับเทรนด์ของรถ EV ในประเทศไทย

  • 33% คือจำนวนที่เพิ่มขึ้น ของผู้ใช้รถชาวไทยซึ่งสนใจจะเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ ICE เป็น EV เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว
  • 43% ของผู้ใช้งานรถ EV ในปัจจุบัน ที่จะยังคงยึดมั่นกับ EV ต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า
  • 53% คือจำนวนที่เพิ่มขึ้น ของคนกลุ่มที่เข้าใจหลักการทำงานของรถ EV เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อปี 2018
  • 90% ของผู้ใช้รถ ที่เห็นด้วยว่า EV คือทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าเกณฑ์รวมของคนทั้งภูมิภาคอาเซียน (88%)
  • ความวิตกเรื่อง range anxiety ลดลงจาก 58% เมื่อปี 2018 เหลือ 53% ในการสำรวจครั้งล่าสุด

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Apple

ทำไม Apple ถึงเป็นแบรนด์อันดับหนึ่ง ในลิสต์ของ Fortune 14 ปีซ้อน ?

Next Article
Funding Societies

Funding Societies แพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อ SME เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ

Related Posts