MIT Technology Review คือนิตยสารที่เจาะลึกด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ
ความน่าเชื่อถือของ MIT Technology Review นั้น นอกจากจะตีพิมพ์ต่อเนื่องมานานกว่าร้อยปีแล้ว ยังเป็นแม็กกาซีนอย่างเป็นทางการของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกจากการจัดอันดับโดย QS World University Rankings ด้วย
ในทุกปี ทางนิตยสารจะทำการคัดเลือก 10 อันดับ Breakthrough Technologies หรือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในชีวิตของเราในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเสมอ
มาดูกันว่า 10 เทคโนโลยีพลิกโลก ที่คุณต้องรู้จักไว้ มีอะไรบ้าง
#1
mRNA ถอดรหัสพันธุกรรม สู้โรคร้าย
แม้การระบาดของโควิด จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนทั้งโลกในปีที่ผ่านมา แต่ข่าวดี คือเราเริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริง ในการรับมือกับปัญหานี้ได้
เพราะขณะที่ในอดีต กระบวนการผลิตวัคซีนที่นำไวรัสมาดัดแปลงให้อ่อนแอลงและไม่เป็นอันตราย จะใช้เวลานานถึง 10-15 ปี
แต่ปัจจุบัน วัคซีนโควิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งสองตัว ถูกพัฒนาขึ้นในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า mRNA (messenger RNA)
หลักการเบื้องต้นของ mRNA คือการถอดรหัสพันธุกรรม (ในกรณีของโควิด คือโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่)
แล้วนำส่วนที่ผลิตโปรตีนปลายแหลม มาเป็นต้นแบบในการสร้าง RNA ซึ่งเป็นชุดข้อมูลสำหรับสอนระบบภูมิคุ้มกัน ให้ผลิต anti-body ที่สามารถกำจัดไวรัสที่มีโปรตีนปลายแหลมชนิดเดียวกัน เมื่อแทรกซึมเข้ามาในร่างกาย
ที่สำคัญ การถอดรหัสพันธุกรรมนี้ ถูกคาดหมายว่า จะมีบทบาทสำคัญทางการแพทย์ในอนาคต ไม่ใช่แค่ในเรื่องการพัฒนาวัคซีนเท่านั้น
แต่ยังมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่การรักษาโรคต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้รับการรักษา เช่นเราอาจพัฒนาชุดข้อมูล RNA ที่จะสั่งให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง หรือสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์มะเร็งได้ ฯลฯ
#2
GPT-3 อีกระดับของปัญญาประดิษฐ์
ปัญญาประดิษฐ์กลุ่ม GPT ซึ่งพัฒนาโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร OpenAI ด้วยเทคนิค deep learning นั้น ถือเป็น AI ที่มีศักยภาพในการคาดเดาถ้อยคำถัดไปบนรูปประโยคได้ใกล้เคียงมนุษย์ที่สุด
ย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้ว เคยมีข่าวว่า ทีมพัฒนาตัดสินใจไม่เผยแพร่โมเดลแสดงผลของ GPT-2 เพราะเกรงว่าอาจถูกนำไปใช้ในการสร้างข่าวปลอมที่มีความสมจริงในโลกออนไลน์
จนเมื่อกลางปี 2020 ก็มีการเปิดตัว GPT-3 ซึ่งสามารถทำงานได้หลากหลายกว่า เช่น บวกเลข แปลภาษา อ่านและตอบคำถามจากบทความ เขียนบทความ หรือแม้แต่เขียนโค้ดสำหรับสร้าง AI ด้วยกัน
AI INCEPTION!
I just used GPT-3 to generate code for a machine learning model, just by describing the dataset and required output.
This is the start of no-code AI. pic.twitter.com/AWX5mZB6SK
— Matt Shumer (@mattshumer_) July 25, 2020
อย่างไรก็ตาม การที่ GPT-3 เรียนรู้จากข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีทั้งข้อเท็จจริง และ fake news ปะปนกัน รวมถึงอคติ และ hate speech ต่าง ๆ จึงยังมีโอกาสที่การแสดงผล จะไม่สมเหตุสมผล และสร้างปัญหาได้
ทาง OpenAI จึงไม่ได้ปล่อยให้ใช้งานเป็นโอเพ่นซอร์ส แต่มอบสิทธิ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟให้ Microsoft เพื่อนำไปสร้างบริการใหม่ ๆ บน Azure
#3
Data trusts อำนาจที่ควรมีในฐานะเจ้าของข้อมูล
นี่คือยุคสมัยที่ข้อมูลมีบทบาทสำคัญอย่างมากในทุกธุรกิจ จนถูกขนานนามให้เป็น ‘new oil’
ปัญหาคือขอบเขตการนำข้อมูลขของเราไปใช้โดยองค์กรต่าง ๆ นั้น นับวันจะล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวมากขึ้นทุกขณะ ส่งผลให้หน่วยงานรัฐทั่วโลก ต้องเข้ามาแทรกแซง และออกกฎหมายเพื่อควบคุม
ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็พยายามหาทางออกอื่น ๆ ที่เหมาะสมควบคู่กันไป หนึ่งในนั้นคือแนวทางที่เรียกว่า Data trusts
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ Data trusts เหมือนสหภาพแรงงานของระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยเราในฐานะเจ้าของข้อมูลตกลงร่วมกันให้มีตัวแทนคอยดูแลผลประโยชน์ เพื่อให้มีอำนาจมากขึ้น ในการต่อรองกับธุรกิจต่าง ๆ ทั้งวิธีการรวบรวมข้อมูล การเข้าถึงความเป็นส่วนตัว และการนำไปใช้ ฯลฯ
ปัจจุบัน โครงสร้างและฟังก์ชั่นของ Data trusts ยังอยู่ระหว่างขัดเกลา แต่ในทางทฤษฎี นี่คืออีกหนึ่งตัวเลือกในการแก้ปัญหาเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน
#4
Green hydrogen พลังงานสะอาดที่แท้จริง
ไฮโดรเจน ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุด สำหรับการทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้ง การเผาไหม้ที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถเก็บกักในรูปของเหลวได้
ปัญหาเดียวคือ เชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฮโดรเจนในปัจจุบันมาจาก ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งยังคงก่อให้เกิดมลภาวะอยู่ดี
แต่การพัฒนาแบบก้าวกระโดดของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในช่วงที่ผ่านมา ช่วยให้การผลิตไฮโดรเจนที่ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมกลายเป็นจริง โดยมีหลายประเทศในยุโรป กำลังผลักดันให้เกิดขึ้น และเริ่มต้นการวางโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว
กรีนไฮโดรเจน ยังได้รับเลือกให้เป็นเทคโนโลยีสำคัญของปีนี้ จากทาง Lux Research เช่นกัน อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่
#5
TikTok พลังของอัลกอริทึมเพื่อ Personalization
ความโดดเด่นของ TikTok ที่ทำให้มันกลายเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คสำหรับคนยุคปัจจุบัน คือการทำงานของอัลกอริทึม ซึ่งแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ
เพราะขณะที่แพลตฟอร์มทั่วไป พยายามนำเสนอคอนเทนต์สำหรับคนหมู่มาก
TikTok กลับทำในสิ่งที่สวนทาง คือเป็นในลักษณะ personalization และเน้นคอมมูนิตี้ของคนที่มีความสนใจคล้ายกันเป็นหลัก โดยอาศัยข้อมูลที่รวบรวมจากการใช้งาน และให้ AI กับ machine learning คอยคัดกรองวิดีโอเพื่อนำเสนอ
วิธีนี้มีส่วนช่วยสร้างครีเอเตอร์หน้าใหม่นับไม่ถ้วนให้เป็นที่นิยมในเวลาอันสั้น ซึ่งส่งผลย้อนกลับมาให้ TikTok เติบโตควบคู่กันไป และกลายเป็นแนวทางให้แพลตฟอร์มอื่น ๆ เดินตามรอยบ้าง
การเติบโตของ TikTok และรักษาตลาดที่ตัวเองสร้างขึ้นมาไว้ได้ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับคนทำธุรกิจ อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่
#6
Multi-skilled AI ปัญญาประดิษฐ์สารพัดประโยชน์
แม้ AI จะก้าวหน้าขึ้นมากในช่วงหลายปีมานี้ แต่ก็ทำได้ดีเฉพาะในทักษะหรือสิ่งที่ถูกฝึกฝนมา และมักเกิดปัญหาเมื่ออยู่ในสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่อยู่นอกเหนือแบบแผน
แนวคิดเพื่อพัฒนาทักษะของ AI ให้กว้างขึ้น คือการขยายประสาทสัมผัสให้ปัญญาประดิษฐ์
ผ่าน Computer Vision (การวิเคราะห์ภาพและวิดีโอเพื่อจำแนกและเก็บข้อมูล) และ Audio Recognition (การรู้จำเสียง) เพื่อให้ AI มีคุณสมบัติใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น ทั้ง มองเห็น ได้ยิน รู้สึก และสื่อสาร และพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ช่วยที่ productive มากกว่าที่ผ่านมา
#7
แบตเตอรีลิเธียม เมทัล จุดเปลี่ยนยานยนต์ไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ถูกยกให้เป็นอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ความท้าทายของผู้ผลิต คือราคาที่ยังสูงเมื่อเทียบกับรถเครื่องยนต์สันดาป
และข้อจำกัดของแบตเตอรีลิเธียมไอออน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ EV ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการจุไฟได้น้อย และใช้เวลาในการชาร์จนานกว่าเติมน้ำมันมาก
ทางออกของปัญหานี้ คือแบตเตอรี่ลิเธียม เมทัล ของ QuantumScape สตาร์ทอัพจากซิลิคอน วัลลีย์ ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพของ EV ได้ถึง 80% และใช้เวลาเพียง 15 นาที เพื่อชาร์จให้ถึงความจุ 80%
ปัจจุบัน QuantumScape ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก Volkswagen ผู้ผลิตยานยนต์อันดับสองของโลก และมีแผนวางตลาด EV ที่ใช้แบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้ได้ภายในปี 2025
#8
Digital contact tracing ระบบติดตามต้านโรคระบาด
เมื่อโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก มีความพยายามจากภาครัฐ และเอกชน ในการนำระบบติดตามผู้มีความเสี่ยงบนสมาร์ทโฟนใช้ เพื่อลดโอกาสแพร่กระจายของเชื้อ
แอปพลิเคชั่นสำหรับติดตามตัวนี้ ทำงานบนเทคโนโลยีพื้นฐาน อย่าง GPS หรือบลูทูธ เพื่อตรวจสอบข้อมูลว่าใครอยู่ในรัศมีทำการในระยะเวลาที่กำหนด และบันทึกรหัสประจำตัวของคนเหล่านั้นไว้บนสมาร์ทโฟน
ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ต่อเมื่อตรวจพบผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจะต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ระบบส่วนกลางสามารถนำข้อมูลในสมาร์ทโฟนมาใช้ เพื่อติดตามหาบุคคลอื่นในรัศมีทำการ ในฐานะกลุ่มเสี่ยงต่อไป
ปัจจุบัน Digital contact tracing ถูกนำมาใช้ควบคุมการระบาดในกลุ่มประเทศยุโรป และในสิงคโปร์เท่านั้น จึงไม่ถือว่าประสบความสำเร็จมากนักในการรับมือการระบาดทั่วโลก
เหตุผลหลักที่หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ Digital contact tracing ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คือการไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน เนื่องจากความกังวลเรื่องข้อมูลส่วนตัวนั่นเอง
ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องนำไปหาทางแก้ไขต่อไป เพื่อเตรียมรับมือการระบาดครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคต
#9
Remote everything วันที่โลกเข้าสู่ยุคไร้พรมแดนเต็มตัว
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองใหม่ นอกจากการทำงานแบบ Work from Home ที่กลายเป็นมาตรฐานใหม่แล้ว
สองอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือเฮลธ์แคร์ และการศึกษา ที่เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการให้บริการทางไกลแบบออนไลน์
ในปีที่ผ่านมา Snapask สตาร์ทอัพติวเตอร์ออนไลน์ มียอดผู้ลงทะเบียนถึง 3.5 ล้านคนใน 9 ประเทศ ขณะที่ Byju’s แอปพลิเคชั่นเพื่อการศึกษาในอินเดีย ก็มีผู้ใช้งานเกือบ 70 ล้านคน ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีของความเท่าเทียมทางการศึกษา
ขณะที่หลายประเทศในแอฟริกา ก็สามารถขยายการให้บริการสาธารณสุขไปสู่คนนับล้านในถิ่นทุรกันดารได้ ในรูปของเทเลเมดิซีน (บริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านวิดีโอคอล)
#10
Hyper-accurate positioning ดาวเทียมนำทางสุดแม่นยำ
เทคโนโลยี Global Positioning System (GPS) ของสหรัฐฯ ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 90 นั้น มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน และการดำเนินธุรกิจ
และในอนาคต ระบบนำทางจะถูกพัฒนาให้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยร่นจากระยะ 5 ถึง 10 เมตร เหลือเพียงไม่กี่เซนติเมตร หรือมิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ตามมา ตั้งแต่หุ่นยนต์เดลิเวอรี รถไร้คนขับ ไปจนถึงการเตือนภัยธรรมชาติ
หนึ่งในนั้นคือ ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว (Beidou Navigation Satellite System) หรือ BDS ที่จีนใช้เวลาในการพัฒนาถึง 30 ปี พร้อมให้้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกแล้ว หลังส่งดาวเทียมดวงที่ 55 สู่วงโคจรโลก เมื่อกลางปีที่ผ่านมา
และ ไทย ก็เป็นประเทศแรกที่ลงนามข้อตกลงการติดตั้งระบบดาวเทียมบอกพิกัดเป๋ยโต่วของจีน ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2556
ปัจจุบัน BDS มีความแม่นยำในระดับไม่เกิน 2 เมตร ซึ่งจะร่นระยะให้เหลือในระดับเซนติเมตรหรือมิลลิเมตรได้ ด้วยการผนวกเข้ากับเทคโนโลยีอื่น อย่าง 5G, AI และคลาวด์
ขณะที่ GPS ซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 90 ก็อยู่ระหว่างอัพเกรดเช่นกัน โดยดาวเทียมรุ่นใหม่ 4 ดวงในโครงการ GPS III เพิ่งถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรโลก ในเดือนพฤศจิกายน และจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกภายในปี 2023 เพื่อให้บริการแข่งขันกับ BDS นั่นเอง
เรียบเรียงจาก
10 Breakthrough Technologies 2021
GPT-3, Bloviator: OpenAI’s language generator has no idea what it’s talking about
The EU is launching a market for personal data. Here’s what that means for privacy.
Thailand is Beidou navigation network’s first overseas client
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า