ถ้าเอ่ยชื่อ “ คมสันต์ แซ่ลี ” หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก อาจจะต้องยักคิ้วถามว่ากลับว่า “ไอ้ตี๋นี่เป็นใคร?”
แต่ถ้าบอกว่าเขาคือ ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Flash บริษัทสตาร์ทอัพ โลจิสติกส์ สัญชาติไทย ที่ช่วยให้คุณส่งของแบบ Door-to-Door ได้รวดเร็วในราคาไม่แรง โดยไม่ต้องออกจากบ้าน
จนวันนี้ ก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศในแง่จำนวนชิ้นของพัสดุที่จัดส่งต่อวัน ที่ 1.3 ล้านชิ้น ทั้งที่เพิ่งก่อตั้งได้เพียงแค่ 3 ปี และจ่อคิวเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายแรกของไทย
จากการล้อมวงคุยสบายๆแบบใกล้ชิด กับนักธุรกิจหนุ่มวัย 29 ปี ที่ออกตัวว่าพูดไทยไม่แข็งแรง เพราะเป็นชาวจีนอพยพรุ่นที่ 4 คนนี้ มีเรื่องให้เรียนรู้ จดจำ และนำไปใช้ต่อได้บ้าง
ผมขออนุญาตหยิบมาฝาก เท่าที่จะทำได้โดยไม่เสียมารยาทครับ
จุดเริ่มต้นแบบคนชายขอบ
คมสันต์ เล่าว่าเขาเกิดในชนบทที่เข้าขั้นห่างไกลมาก ที่ ต.วาวี อ.แม่สรวย จังหวัดเชียงราย กว่าจะได้รับการศึกษาจริงจัง ก็อายุ 10 กว่าขวบ เมื่อคุณแม่พาย้ายเข้าเมือง หลังเลิกกับพ่อ
ถึงเริ่มต้นสาย ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาไล่ทันเพื่อนจนได้ เหมือนที่ไล่กวดไปรษณีย์ไทย กับค่ายสีส้มได้สำเร็จ จนเข้าเรียน ม. ราชภัฏ ลำปาง สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศได้
จากไล่ทัน เขาเริ่มเป็นฝ่ายนำหน้าเพื่อนวัยเดียวกันบ้าง ผ่านการเรียนรู้นอกห้อง และลองลงมือทำธุรกิจด้วยตัวเอง ทั้งสอนพิเศษภาษาจีน และเปิดร้านขายของชำ จนทำให้เขาพบโอกาสจากดีมานด์ของลูกค้า ซึ่งก็คือนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวจีนกว่า 400 คน ที่ยังคิดถึงรสชาติ และของใช้ที่บ้านเกิด
แน่นอนว่า คมสันต์ ไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดมือ
เมื่อเริ่มกำไร เขาทำให้เงินงอกเงยต่อ จากความสามารถในการมองเห็น และเข้าใจปัญหา ของบรรดาเจ้าของร้านอาหารในละแวกนั้นที่ไม่ต้องการตื่นแต่เช้า เพื่อไปซื้อของที่ตลาดเอง
เพราะการเดินทางทำให้เหนื่อย และเวลาทำงานในแต่ละวันที่ยาวขึ้น
เขาจึงซื้อวัตถุดิบจากตลาดมาส่งให้คนเหล่านั้นใช้ในตอนเช้า เป็นการแก้ pain point เรื่องการไปตลาด แล้วค่อยมาเก็บเงินตอนเย็นเมื่อร้านปิด
ทำไมถึงต้องเป็นตอนร้านปิด?
เพราะเป็นตอนที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ยุ่งแล้ว มีเงินในมือ แถมยังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการเช็คสต็อก ว่าพรุ่งนี้ต้องการอะไรเพิ่ม
เป็นการเปลี่ยน Business Model ร้านขายของชำธรรมดา ที่เป็นความสัมพันธ์แบบซื้อครั้งเดียวจบ ให้เป็นคู่ค้าต่อเนื่อง (Recuring Business) จึงสามารถชาร์จราคาเพิ่ม 20-30% ได้ โดยอีกฝ่ายไม่รู้สึกขัดข้อง เพราะเป็นการ “ซื้อความสะดวก”
ที่สำคัญ คมสันต์ ยังมีบริการผ่อนจ่าย หากลูกค้าคนไหนต้องการ
นี่จึงเป็นอีกธุรกิจที่สร้างกำไรให้กับเขาไม่น้อย
ในความเห็นผม ถ้ามองให้ดี ๆ จะเห็นว่า แก่นของธุรกิจที่นักศึกษาชื่อคมสันต์ทำในวันนั้น คล้ายกับสิ่งที่ คมสันต์ ซีอีโอ Flash ทำอยู่ในวันนี้
เหมือนหยิบธุรกิจหน้า ม. ราชภัฏ ลำปาง มาฉีดสารกระตุ้นที่กลั่นจากประสบการณ์การทำธุรกิจของคมสันต์ จนเติบโตอย่างรวดเร็ว และรุนแรง กลายร่างเป็น Flash ในวันนี้
สารกระตุ้นทางธุรกิจ
สเตอรอยด์ทางธุรกิจ “สูตรคมสันต์” ที่กลั่นจากทุกประสบการณ์ธุรกิจ ก่อนทำ Flash นั้น เริ่มจาก “ร้านชำหน้ามหาลัย” ที่ไม่ได้เป็นแค่สารตั้งต้น แต่ยังเร่งปฏิกิริยา พาเขาไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต
นั่นคือการได้เป็น MD หรือผู้บริหารสูงสุด ของบริษัทผลิตทรายสัญชาติจีนที่กำลังจะเจ๊ง ทั้งที่ยังเพิ่งเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 และอายุแค่ 21 ปี
จุดเปลี่ยนนี้ มอบบทเรียนมากมายแก่คมสันต์ ทั้งการบริหารคน และองค์กรให้มีประสิทธิภาพ แข่งขันได้
ไล่ตั้งแต่
ความเด็ดขาด กล้าจัดการสิ่งที่ต้องทำ คือการไล่พนักงานที่มีส่วนคอร์รัปชันออกทันที กว่า 30 คน ในเดือนแรกที่รับตำแหน่ง
ถัดมาคือ การไม่ยึดติดกับกระบวนท่า ขอเพียงผลที่ต้องการ ด้วยการทำเนียนเป็นพนักงานใหม่อยู่ร่วมเดือน เพื่อสืบทุกความเป็นไปในบริษัท ก่อนเปิดตัวทีหลังว่าเป็น MD และไล่พนักงานทุจริตพวกนั้นออก
ทักษะในการเจรจาต่อรอง ว่า ควรเสนออะไร เพื่อขออะไร ต้องสร้างแต้มต่อ หรือ เล่นบทบาทใดในการเจรจาแต่ละครั้ง
ทั้งในตอนเจรจากับเจ้าของบริษัททรายถึงข้อตกลง หากต้องการให้เขาเป็น MD เพราะรู้ว่าถึงเขาจะยังเป็นเด็ก แต่ “ม้าที่ใกล้ตาย จะขอรักษายังไงก็ได้”
จนนำมาสู่สัญญา 3 ข้อคือ
- อำนาจเด็ดขาด – ใช้ปลดคนเก่า ใส่เลือดใหม่อุดเงินที่รั่วไหล ลดรายจ่ายสามารถปฏิรูปองค์กรให้มีประสิทธิภาพ
- ขอเงินลงทุนเพิ่ม – ใช้ลงทุนเครื่องจักรใหม่ สร้างศูนย์ซ่อม จนเครื่องจักรเสียน้อย ซ่อมเร็ว รู้จักใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคน เพื่อลดต้นทุนด้านคน และเวลาลง
- ห้ามปันผลสามปี – เพื่อนำกำไรที่สะสมไปซื้อแหล่งทราย เพิ่มกำลังผลิต และอำนาจต่อรอง ในการเจรจากับลูกค้าหลักอย่างโรงปูน จนขอขึ้นราคาขายได้ถึง 3 ครั้ง
บทเรียนจากความล้มเหลว เพราะแม้แต่ธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาที่ทำได้แค่ครึ่งปีก็เจ๊ง เพราะครูไปรับสอนนอกเวลา จนไม่มีเด็กมาเรียนที่โรงเรียน ทั้งที่ลงทุนสร้างสถานที่อย่างดิบดี
ก็ยังให้ประสบการณ์ที่เปลี่ยนมุมมองใหม่ ทั้งเรื่องความจำเป็นของสถานที่ และวิธีมอนิเตอร์พนักงาน แก่คมสันต์
ส่วนธุรกิจที่ผลประกอบการไม่ดีนัก อย่างโรงแรม ก็สอนให้เขารู้ซึ้งว่า ได้แต่หน้า ไม่ได้เงิน เป็นอย่างไร เพราะเงินจำนวนมากไปกองอยู่ OTA – Online Travel Agent อย่าง Agoda หรือ Booking แทน
และยังย้ำให้เห็นพลังของแพลตฟอร์ม และข้อมูลที่ต่อยอดธุรกิจได้
คอนเนคชั่นคือพลัง ธุรกิจนายหน้าพาคนจีนมาซื้ออสังหาในไทย ที่นอกจากสร้างรายได้ให้เขาหลัก 100 ล้านบาท ที่เหนือกว่านั้น คือช่วยสร้างคอนเนคชั่นในจีน ช่วยลับคมการขาย
และให้บทเรียนว่า เมื่อข้ามพรมแดนไทยไปได้ หมายถึงโอกาสเข้าถึงเงินอีกมากมายมหาศาล
ที่นำไปสู่ 4T Express บริษัทโลจิสติกส์ รับจัดส่งสินค้าจากทั่วโลก กระจายไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศจีน ซึ่งคมสันต์ร่วมสร้างกับคนอื่น ๆ ทำให้เขาเข้าใจ ได้เรียนรู้โลจิสติกส์ในประเทศจีนว่านำหน้าไทยขนาดไหน จนเห็นโอกาส
มันยังสอนให้เขารู้จักทำงาน ใช้ประโยชน์จากพาร์ทเนอร์ และผู้ถือหุ้นให้เป็น เพราะแม้จะมีงานต้องทำมากขึ้น แต่ก็หมายถึงโอกาส การเติบโต มูลค่าบริษัท และผลตอบแทนที่มากขึ้นเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ รวมตัวกันเป็นสารกระตุ้นทางธุรกิจที่พร้อมพอดีในเวลาที่เหมาะสม เมื่อบริษัท Big Tech ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนอย่าง Alibaba เข้าซื้อหุ้นใน Lazada และ Tencent อัดเงินใส่ SEA บริษัทแม่ของ Shopee
เป็นสัญญานชัดว่าเงินมหาศาลจะถูกโยนใส่ตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียน และประเทศไทย ในรูปแบบการลดแลกแจกแถม และโปรโมชั่นแบบรัวๆ ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคให้เปลี่ยนมาชอปออนไลน์มาก และเร็วขึ้นกว่าปกติ
และเมื่ออีคอมเมิร์ซเติบโต หมายความว่า โลจิสติกส์ต้องโตตามไปด้วย
คราวนี้ ก็เหมือนกับทุกครั้ง คมสันต์ พร้อมเสี่ยงคว้าโอกาสนั้นไว้
ก็อปให้เหมาะ… ทำให้ต่าง… สร้างให้ทัน
คมสันต์ เล่าว่าการทำสตาร์ทอัพบริษัทโลจิสติกส์ ที่มีผู้เล่นในตลาดอยู่ก่อนแล้วหลายราย โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่สีแดงที่ครองตลาดมานาน และยักษ์ใหม่สีส้มที่เหนือกว่า ทั้งเงินทุน และสาขา ที่ขณะนั้น ก็มีมากเกือบ 10,000 สาขาแล้ว ทำให้เขาต้องทำให้ต่าง และ สร้างให้ทัน
จนนำมาสู่กลยุทธ์ 3 ข้อ
#1
365 วัน 24 ชั่วโมง
ที่เกิดจากคำถามง่ายๆ ว่า ถ้าเราซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ทำไมยังส่งของได้แค่ตอนกลางวันจันทร์ถึงศุกร์เท่านั้น ทำให้ Flash เปิดตัวด้วยการให้บริการทุกวัน แม้ในตอนแรก ยังให้บริการไม่ครบ 24 ชั่วโมงก็ตาม
นั่นตรงกับความเชื่อของเขาที่ว่า ถ้าเก่งไม่เท่า แถมยังมาทีหลัง ก็มีเพียงทางเดียวคือ ต้องทำงานให้หนักกว่าเท่านั้น
#2
เข้าหาลูกค้าก่อน อย่ารอให้ลูกค้าเดินมาหา
คมสันต์ มองว่าการเปิดสาขาตามโลเคชั่นดี ๆ เพื่อรอให้ลูกค้าเข้ามาหา ไม่ต่างอะไรจากสาขาธนาคาร
เพราะถ้าปัจจุบันลูกค้าทำธุรกรรมการเงินผ่านแอป โดยไม่ต้องไปสาขาได้ ทำไมเขายังต้องไปส่งของที่สาขาอยู่อีก?
ซึ่งก็เหมือนประสบการณ์ตรงของเขาที่นักเรียนไม่สนใจจะไปเรียนที่โรงเรียนสอนพิเศษแล้ว
คมสันต์ จึงไม่สนการเปิดสาขา แต่เลือกพัฒนาระบบรับส่งสินค้าถึงประตูบ้านลูกค้า ซึ่งเป็นบริการปกติของโลจิสติกส์ ในประเทศที่อีคอมเมิร์ซโตเต็มที่แล้ว
เขายังมองว่าวิธีนี้น่าจะช่วยให้ชีวิตพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ง่ายขึ้น เหมือนกับที่เคยทำให้ชีวิตพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหาร แถบ ม. ราชภัฏ ลำปาง ง่ายขึ้นมาแล้ว
#3
สาขาเคลื่อนที่ได้ ขยายไว ต้นทุนต่ำ
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะวิ่งแซงคนที่วิ่งนำไปก่อนแล้วเป็นหมื่นก้าว บนลู่วิ่งเดียวกัน ด้วยวิธีการวิ่งแบบเดียวกัน
นั่นทำให้ คมสันต์ ต้องหาแนวทางขยายสาขาแบบใหม่ โดยเลือกเปลี่ยนพนักงานของเขา เป็นสาขาแทน เพราะนอกจากเคลื่อนที่ได้ ช่วยให้เข้าถึงทุกพื้นที่ ยังทำให้ขยายตัวได้เร็วกว่า ในต้นทุนที่ต่ำกว่าด้วย
เมื่อตัดสินใจเลือกใช้พนักงานเป็นสาขา ซึ่งเหมือนเป็นตัวแทน และทัชพอยท์เดียวของบริษัทแล้ว คมสันต์ จึงเลือกจ้างพนักงาน แทนการใช้ระบบพาร์ทเนอร์ หรือขายแฟรนไชส์ เพราะควบคุมคุณภาพ และประสบการณ์ได้ดีกว่า
การทำแบบนี้ แม้จะทำให้ช่วงแรก บริษัทมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่สูงกว่า แต่เมื่อเริ่มทำ Economy of Scale ได้ ด้วย “สาขาเคลื่อนที่” กว่า 27,000 แห่งในปัจจุบัน มันช่วยพลิกเกมให้ต้นทุนของ Flash ถูกกว่าด้วยซ้ำ
เพราะ คมสันต์ ย้ำเสมอว่า โลจิสติกส์ เป็นธุรกิจที่ว่าด้วยขนาดและปริมาณล้วน ๆ “เพราะคุณไม่มีทางสร้างกำไรได้จากการขนอากาศ”
ลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อประสิทธิภาพและประสบการณ์
การจะทำให้กลยุทธ์ทั้งสามข้อเป็นจริงได้ คมสันต์ รู้ดีว่าเทคโนโลยี เป็นหัวใจสำคัญ เพราะการเปลี่ยนพนักงานทุกคนให้เป็นสาขา โดยปราศจากระบบช่วยเหลือ อาจเป็นการเรียกร้องจากมนุษย์ซึ่งมีขีดจำกัด มากเกินไป
โดยเฉพาะพนักงานที่อาจมาจากชนบท และไม่ได้รับการศึกษาที่ดีนักเหมือนเขาสมัยเด็ก
เทคโนโลยีที่ดีเท่านั้น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้พนักงานของเขาคิดค่าส่งพัสดุ ได้ที่หน้าประตูบ้านลูกค้า โดยไม่ต้องท่องจำ ตอบข้อสงสัยของลูกค้าเมื่อมีคำถามได้ อ่านลายมือ ไปจนถึงวางแผนเส้นทางที่ดีที่สุดภายในเสี้ยววินาที
นั่นคือเหตุผลว่าทำไม เมื่อเริ่มต้นทำ Flash เทคโนโลยี เป็นสิ่งแรกๆ ที่ คมสันต์ ตามหา
เขาเล่าให้ฟังว่าเคยหอบเงิน 10 ล้านไปหา IBM เพื่อช่วยสร้างเทคโนโลยีให้
คำตอบจาก IBM คือได้ แต่ขอเวลา 1 ปี คมสันต์รู้ดีว่าถ้าต้องรอนานขนาดนั้น เลิกทำดีกว่า
โชคดีที่เขามีโอกาสคุยกับฝ่ายบุคคลของ Alibaba เขาถามว่าถ้าเป็นเรื่องเทคโนโลยี ใครที่ลาออกไปแล้ว บริษัทเสียดายที่สุด
คำตอบคือ “เหว่ย เจีย” ที่ทำงานกับ Alibaba มา 9 ปี ได้เป็นพนักงานดีเด่น 5 ปีติดต่อกัน และยังเป็นคนสำคัญ ในการทำ Ant และ Ali Pay ด้วย
สิ่งที่ คมสันต์ ทำ คือการไปจีบ เหว่ย เจีย มาเป็น CTO ของ Flash
ในการพูดคุยครั้งแรก อดีตพนักงานดีเด่นของ Alibaba ไม่สนใจเขา ไม่รู้ว่าตี๋ขี้โม้นี่เป็นใคร
แต่คมสันต์ก็ไม่เลิกล้มความตั้งใจ พยายามติดต่อไปเป็นระยะ
จนวันหนึ่ง เขามีโอกาสพา เหว่ย เจีย และเพื่อนมาเที่ยวเมืองไทย เลยถือโอกาสพา เหว่ย เจีย ไปดูคนจำนวนมาก ยืนเข้าคิวรอส่งพัสดุ ที่สาขาของคู่แข่งสีแดง และสีส้ม แล้วบอกว่า
“ดูสิ เหว่ย เจีย เห็นคนพวกนั้นไหม เราจะไปเอาเงินที่หน้าบ้านพวกเขากัน”
จากนั้น เหว่ย เจีย ก็กลายมาเป็น CTO ของ Flash พร้อมด้วยกองทัพอีกจำนวนหนึ่งที่ติดสอยห้อยตามมา เพื่อช่วยกันสร้าง Flash ที่เป็นความท้าทายครั้งใหม่
ทำให้วันนี้บริษัทของ คมสันต์ มีทีมนักพัฒนาที่ปักกิ่งกว่า 300 คน ต้องจ่ายเงินเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท
แม้จะแพงกว่า 10 ล้านบาท ที่เกือบต้องจ่ายให้ IBM ในวันนั้นมาก แต่มันก็คุ้มค่า เพราะสามารถสร้างเทคโนโลยี ที่เขาต้องการ ให้ออกมาเหมาะสมที่สุด
เหมือนที่คมสันต์ย้ำเสมอว่า อย่าไปเอาสิ่งที่ดีที่สุดของคนอื่นมา แต่ให้หาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง อย่าง แอปของ Flash ในวันนี้ ที่ออกแบบให้เข้าใจง่าย ไม่ต้องใช้เวลาสอนกันมาก
พนักงานใหม่ ต้องเข้าใจ และใช้ทำงานจริงได้ ไม่เกิน 3 วัน มีระบบนำทางที่เหมาะกับบ้านเลขที่เมืองไทย ที่โดดไปโดดมา และไม่ต่อกัน มากกว่าแผนที่ Google
ช่วยให้พนักงานอ่าน ข้อความสำคัญและรับรู้ก่อน ถึงจะเช็คชื่อเข้างานได้ เพื่อให้ทั้งองค์กรเข้าใจ เรื่องสำคัญตรงกัน และสามารถส่งข้อความตรงถึง คมสันต์ ได้
เมื่อมีฐานข้อมูลพร้อม สำหรับธุรกิจใหม่ของบริษัท
ทั้งการปล่อยกู้ให้พ่อค้าแม่ค้า ที่ขายดีและต้องการขยายกิจการ ไปจนถึงเครื่องมือทำการตลาดอย่าง Flash Radar เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าเข้าใจและได้เจอลูกค้าที่ต้องการได้
ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ Flash ไม่ใช่แค่ธุรกิจโลจิสติกส์ แต่เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร ที่สามารถช่วยสร้างโอกาสให้ทุกชีวิต
ไม่ว่าจะอยู่ที่กรุงเทพ เชียงใหม่ หรือ อำเภอ ที่ห่างไกล อย่าง แม่สรวย ก็ตาม
หน้าที่ของผู้นำ
คมสันต์ สะท้อนบทเรียนการสร้างองค์กร จากจุดเริ่มต้นที่มีคนแค่ราว 10 คน จนเติบโตเป็น 27,000 คนในเวลา 3 ปี
ว่า ธรรมชาติขององค์กรส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 3 ยุค
อันธพาล – กฎระเบียบ – วัฒนธรรม
ในช่วงก่อตั้งใหม่นั้น จะเป็นยุคของ “อันธพาล” ที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดก่อน ไม่ต้องสนใจอะไรทั้งนั้น เน้นผลอย่างเดียว ถ้าไม่มีผลลัพธ์ไม่ต้องมาคุยกัน
การรับคนเก่งจึงสำคัญมากเพราะไม่มีระบบระเบียบอะไรช่วยทั้งนั้น แต่ต้องเอาตัวให้รอด
จนเมื่อทีมงานมากกว่า 1,000 คน จะเริ่มเข้าสู่ยุคของกฎระเบียบ เป็นช่วงเวลาที่กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ต้องถูกนำมาใช้ เพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน จากการดูแลไม่ทั่วถึง และทำให้คนจำนวนมาก สามารถอยู่ และทำงานร่วมกันได้
ขณะที่ยุคสุดท้าย เมื่อมีพนักงานเกิน 10,000 คน เป็นยุควัฒนธรรม ที่องค์กรควรเริ่มสร้างคัลเจอร์ เพราะจะทำให้ได้คนที่ต้องการ และมีพลังกว่าการคุมด้วยกฎระเบียบ
เหมือนที่ Flash มีวัฒนธรรมของการแข่งขัน และไม่มีคำว่าไม่พร้อม (ตัวเลขจำนวนพนักงานอ้างอิงตาม Flash อาจเปลี่ยนได้ตามประเภทธุรกิจ และองค์กร)
แต่ไม่ว่าจะช่วงไหนขององค์กร
ภาระหลักของซีอีโอ หรือผู้นำ ก็ยังอยู่ที่ 3 ข้อหลัก
1) หาเงิน
2) หาคน
และ 3) หาโอกาส
เหมือนการที่ คมสันต์ พูดแบบติดตลกแต่เอาจริง ว่าที่น้องมาโม้ให้ฟังตอนนี้ เผื่อว่า พี่ ๆ ที่ฟังอยู่จะสนับสนุนโอกาส หรือนำเสนออะไรใหม่ ๆ มาให้น้องและบริษัทบ้าง
สุดท้ายเมื่อถูกถามว่าที่ผ่านมา บนเส้นทางชีวิตที่แลดูโลดโผน คมสันต์ เคยเสียใจ และอยากกลับไปแก้ไขอะไรไหม
เขายิ้มและตอบว่าจริง ๆ เคยคุยเรื่องนี้กับภรรยา และพบว่าแม้จะเคยรู้สึกไม่ดี กับเรื่องจริงหรือบางเหตุการณ์ในอดีต
ไม่ว่าจะการที่พ่อแม่แยกทางกัน ฯลฯ แต่มันก็นำมาซึ่งโอกาส ในการเรียนหนังสือ
หรือการที่ครอบครัวไม่ค่อยมีเงินเหมือนคนอื่น จนเหมือนเป็นปม ทำให้ตอนครูถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คำตอบของเขาคือ “โตขึ้นอยากมีเงิน” ต่างจากเพื่อนคนอื่น ๆ ที่อยากเป็นหมอ ทหาร หรือ คุณครู จนเพื่อนบางคนกลั้นหัวเราะไว้ไม่อยู่จริง ๆ
แต่สุดท้าย นั่นก็เป็นส่วนที่ทำให้เขาเป็น “คมสันต์ แซ่ลี” ในวันนี้
เด็กชายขอบ ที่คุณกำลังอ่านเรื่องราวของเขาอยู่ และอาจกำลังจะอยากกดแชร์ หรือลองใช้บริการ Flash Express ของเขาดูซักครั้ง
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า