ภาพจำของผู้คนส่วนใหญ่ Amazon คือ Everything Store ที่เป็นผู้นำในด้านอีคอมเมิร์ซของโลก แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้กับพวกเขาอย่างมหาศาล กลับเป็นคลาวด์เซอร์วิส ที่ดำเนินงานโดย Amazon Web Services
ทีมงาน AHEAD ASIA มีโอกาสได้ส่งคำถามถึงคุณซานดรา เตห์ (Sandra Teh) ซึ่งรับผิดชอบด้าน Global Employer Brand ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน (APJC) ของ AWS โดยเน้นหนักที่ประเด็นด้านบุคลากร ทั้งเรื่องการสร้างนวัตกรรม ทักษะที่จำเป็นในอนาคต และการปรับตัวในยุค digital transformation
คุณคิดว่าทักษะและคุณสมบัติอะไรที่สำคัญ และจำเป็นมากที่สุดในการทำงานในศตวรรษที่ 21
ปัจจุบันการประมวลผลแบบคลาวด์มีความสำคัญมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จำนวนลูกค้าที่นำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในองค์กรขนาดใหญ่ สตาร์ทอัพ จนถึงภาครัฐ ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้และชุมชน
ข้อมูลของ LinkedIn ช่วงปี 2562-2563 ระบุว่า Hard Skills ซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกคือ คลาวด์คอมพิวติ้ง, บล็อกเชน และ AI
ส่วน Soft Skills ซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) โดยเน้นที่ทักษะต่าง ๆ ด้านการสื่อสาร (Communication Skills)
แล้ว AWS ให้การสนับสนุนพนักงาน นักเรียน นักศึกษาในการพัฒนาทักษะสำคัญเหล่านั้นยังไงบ้าง
การทำงานที่อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) คุณจะได้รับการพัฒนาทักษะทั้งสองประเภท เพราะเราให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ และการเติบโตในหน้าที่การงาน โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะตำแหน่งงานที่อาศัยทักษะเฉพาะด้านเทคโนโลยีเท่านั้น
บางคนอาจแปลกใจที่เจอแต่คำถามทดสอบด้านพฤติกรรม ระหว่างการสอบสัมภาษณ์ เพราะเราอยากเห็นทัศนคติของผู้สอบสัมภาษณ์ว่า จะรับมือกับโปรเจคที่ได้รับมอบหมายยังไง แทนที่จะคาดหวังถึงทักษะการทำงานที่สมบูรณ์แบบ
ที่อะเมซอน เรามีแนวทางชัดเจน เรื่องทักษะความเป็นผู้นำ 14 ประการ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เรายึดมั่นในทุกสิ่งที่ลงมือทำ
ความโดดเด่นในด้านวัฒนธรรมนี้ เป็นหลักเกณฑ์สำหรับเรา ในการมองหาคุณลักษณะและทัศนคติ จากนักสร้างเทคโนโลยี ในการสัมภาษณ์และว่าจ้างคนเข้ามาทำงานในองค์กร
คลาวด์คอมพิวติ้ง ยังถือเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ถ้ามองว่า AWS เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2549 นั่นทำให้องค์กรของเรามีความกระตือรือร้นสูง ในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ให้กับทั้งลูกค้าและพาร์ทเนอร์
นี่คือเหตุผล ที่เรามีหลักสูตรการสอนออนไลน์มากกว่า 500 หลักสูตรในพอร์ทัล AWS Training and Certification ที่เปิดกว้างสำหรับใครก็ตามที่สนใจ ในการ upskill และ reskill เพื่อให้พร้อมมีส่วนร่วมในโปรเจคด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ
ที่นี่ยังเปิดรับนักศึกษาฝึกงาน และผู้เข้าฝึกอบรมทุก ๆ ปี และเปิดโอกาสให้กลับมาฝึกงานได้อีก เพื่อที่จะได้เรียนรู้ในหลักสูตรที่เหมาะสม รับฟังคำแนะนำเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การทำงาน เป็นการเสริมสร้างทักษะซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทั้งส่วนบุคคลและด้านอาชีพการงาน
คุณมีคำแนะนำอะไรสำหรับบัณฑิตจบใหม่ ที่สนใจจะทำงานกับ AWS บ้าง
ในการพิจารณารับคนเข้าทำงาน เราสนใจมากกว่าแค่เรซูเม่ ที่เราอยากรู้คือวิธีคิดของคุณ Think Big และ Dive Deep แค่ไหน
ผลการเรียนจึงไม่ใช่สิ่งที่เราโฟกัส แต่เราสนใจเรื่องอื่นมากกว่า เช่น
คุณเป็นนักสร้างเทคโนโลยี ที่ตะขิดตะขวงใจกับการต้องรับรู้ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience: UX) อยู่ตลอดเวลาไหม?
คุณเป็นนักคิดที่มองการณ์ไกลและมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนวัตกรรม ที่จะสร้างอิมแพ็คในระยะยาวรึเปล่า?
เมื่อตอนเรียน คุณได้ร่วมโปรเจคต่าง ๆ ทั้งในและนอกห้องเรียนที่อาศัยความสร้างสรรค์และมีความหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวบ้างรึเปล่า?
ไทยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วย Creativity ฉันอยากเห็นความคิดสร้างสรรค์ในตัวพนักงาน บุคลากรคนไทยที่มีความสามารถมาพร้อมกับไอเดียที่ยิ่งใหญ่ ถึงแต่ละคนจะมีภูมิหลังที่ไม่เหมือนกันก็ตาม หรือต่อให้คุณได้เริ่มต้นโปรเจคดี ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
เราอยากฟังคุณเล่าถึงเบื้องหลังของสิ่งเหล่านี้ มากกว่าความสำเร็จที่ผ่านมา
คุณอาจจะแปลกใจก็ได้ ถ้ารู้ว่านักสร้างเทคโนโลยีหลายคนที่สำนักงานของประเทศไทยไม่ได้จบปริญญาด้านวิศวกรรมหรือวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่นี่ เราให้คุณค่ากับไอเดีย ความคิด และความเห็นที่แตกต่างจากเด็กจบใหม่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในหลากหลายมุมมอง
อะไรเป็นปัจจัยทำให้คุณคิดว่า AWS โดดเด่นและเป็นบริษัทที่บุคลากรในสายงานเทคโนโลยีให้ความสนใจ
AWS เป็นบริษัทที่เปิดกว้างให้พนักงานได้รู้จักการเรียนรู้ เติบโต และสร้างสรรค์ ไม่ว่าคุณจะมีภูมิหลังแบบไหน
พันธกิจของ Amazon คือ ขับเคลื่อนโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง AWS ซึ่งเป็นบริษัทลูกก็เช่นกัน เราทุ่มเทเวลาในการคิดค้นและพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับลูกค้า หรือเพื่อลูกค้า เน้นการคิดในระยะยาว และยืนหยัดในมาตรฐานสูงสุดในการดำเนินงาน
ฉันรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานร่วมกับพนักงานทั้งในไทย เอเชีย และทั่วทุกมุมโลก ทีมงานของฉันมีหน้าที่ควบคุมการสนทนากลุ่ม และตั้งกล้องสัมภาษณ์นักสร้างเทคโนโลยี เพื่อให้พวกเขาได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ เผยแพร่สู่โลกออนไลน์ รวมถึงการเข้าถึงบุคลากรผู้มีความสามารถอื่น ๆ ได้อีกบนโซเชียลมีเดีย
จากประสบการณ์ตรง ฉันรู้ว่าพนักงานที่นี่ มีโอกาสเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ด้านไอที ไม่ว่าจะเป็นน้องใหม่หรือไม่ก็ตาม พวกเขาเชื่อว่า AWS เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดเพื่อการเรียนรู้ การเติบโต รวมถึงการสร้างสรรค์โซลูชันต่าง ๆ ที่มีความหมาย
เราเป็นองค์กรที่มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องเจเนอเรชั่น วัฒนธรรม และเพศสภาพ มีสภาพแวดล้อมที่ยอมรับความแตกต่างที่ทำให้พนักงานรักและสนุกกับการทำงานในองค์กร
หนึ่งในรูปแบบการทำงานของเราที่ถูกพูดถึง คือการตั้งทีมแบบ “พิซซ่าสองถาด (Two-Pizza Team)”
ในสำนักงานของเราที่ไทย คุณจะเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทำงานร่วมกับทีมอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด ด้วยจำนวนสมาชิกกลุ่มที่เหมาะสม ทำให้แต่ละทีมคิดและดำเนินงานได้รวดเร็ว โดยไม่เสียเวลาในการตัดสินใจและลงมือปฏิบัติ
เราคุยกันแบบเปิดเผยว่าไอเดียไหนดีหรือไม่ดี และทดลองซ้ำไปด้วยกัน มันช่วยให้ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถเป็นนักสร้างเทคโนโลยีได้ พนักงานของเราบอกว่ารู้สึกสดชื่นและกระฉับกระเฉง เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว และใช้ทักษะการตัดสินใจแบบ Two-Way-Door เพื่อความรวดเร็ว
ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้ถึงคุณค่าที่ได้แลกเปลี่ยนพลังงานบวกที่ไม่เหมือนใคร และเปิดกว้างพร้อมรับการทดลองใหม่ ๆ ตลอด
องค์กรต่าง ๆ ควรปรับวิธีการทำงานให้พร้อมรับ Digital Transformation ยังไง และการปรับเปลี่ยนในองค์กรทั่วไป จะแตกต่างจากองค์กรเทคโนโลยีหรือไม่?
สิ่งสำคัญคือคุณต้องให้ปัญหาของผู้ใช้งานเป็นตัวชี้นำ ทุกองค์กรต้องพัฒนาและปรับปรุงเพื่อสำหรับลูกค้าตลอดเวลาอยู่แล้ว
ถ้าคุณให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ มันจะส่งผลต่อโครงสร้างองค์กรของคุณเอง และช่วยยกระดับให้เป็นองค์กรที่เน้นความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ควบคู่ไปกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี
ทุกวันที่ AWS เราเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “วันนี้คุณแก้ปัญหาอะไรให้ลูกค้าแล้วบ้าง” นี่คือแนวคิดที่หลุดจากกรอบเดิม ๆ เราโฟกัสที่ลูกค้า ไม่ใช่คู่แข่ง นำไปสู่การสร้างทีมทำงานที่เหมาะสม เป็นการลงทุนในโซลูชันที่สมควรในช่วงเวลาที่ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ ถือเป็นการสร้างอิมแพ็คได้ในระยะยาว
ที่ AWS เราเชื่อว่าเทคโนโลยีนั้นเปิดกว้าง เข้าถึงได้และยืดหยุ่นสำหรับทุกคน เราจะเห็นได้ชัดว่าหลายปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิค แต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ด้วยการปรับทัศนคติและการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม
นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงจัดเวิร์กช็อป “วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม (Culture of Innovation)” ให้กับลูกค้าทั่วโลก ไม่ใช่เพื่อการเจรจาทางธุรกิจ แต่เพื่อแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมของ Amazon รวมถึงกลไกวิธีการต่าง ๆ ที่ผ่านการทดลองและทดสอบแล้วว่าใช้ได้ผล
เราไม่เคยบอกว่าวิธีการของ Amazon ดีที่สุด แต่เราอยากแชร์สิ่งที่ใช้ได้ผลที่นี่ และเพราะอะไรคนของเราถึงยังสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ เราส่งเสริมให้ลูกค้าและคู่ค้า Dive Deep หรือเจาะลึกถึงปัญหาของผู้ใช้และรับฟังพนักงานตลอดเวลา เพราะเราต้องการไอเดียที่หลากหลายเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า
การลองผิดลองถูก ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ในการทำงาน และเป็นหัวใจหลักของนวัตกรรมที่ Amazon AWS มีวิธีสนับสนุนบุคลากรในองค์กรยังไง และถ้าองค์กรอื่นๆสนใจจะนำวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้ คุณมีคำแนะนำอะไรบ้างไหม
เจฟฟ์ เบโซส เคยพูดว่า การตัดสินใจส่วนใหญ่เกิดจาก 70% ของข้อมูลที่คุณต้องการ ถ้ารอจนถึง 90% ส่วนใหญ่อาจจะสายเกินไป
คุณต้องจำให้ได้ว่าทำอะไรไปบ้าง และเกิดอะไรขึ้น พยายามแก้ไขการตัดสินใจพลาดให้เร็ว ถ้าคุณแก้ไขสถานการณ์ได้เก่ง ก็อาจเกิดความสูญเสียน้อยกว่าที่คาดไว้ ถ้าตอบสนองช้าไป ก็มีราคาที่ต้องจ่าย
จากการสังเกต ฉันเห็นว่าบางคนต้องการความมั่นใจ 100% ก่อนดำเนินงานตามแผน
ที่ AWS เมื่อต้องถกกันว่าการทดลองไหนที่ควรเดินหน้าต่อ เราจะถามกันเองว่านี่เป็นการตัดสินใจแบบ Two-Way หรือไม่? สมมติว่ามันไม่เป็นไปตามสมมติฐาน เรายังย้อนกลับไปแก้ไขที่จุดเริ่มต้นเพื่อทำการทดลองต่อไปได้รึเปล่า?
การตัดสินใจหลายอย่างที่นี่ เป็นการตัดสินใจแบบ Two-Way ฉันจึงมักจะผลักดันให้คนในองค์กรกล้าได้กล้าเสียที่จะทดลองสิ่งต่าง ๆ และจะพบว่าความสนุกนั้นอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ คุณและทีมของคุณจะเติบโตขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็เพิ่มพูน ขัดเกลาด้านความคิดเพื่อพัฒนาสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น Game Changing พลิกแพลงเป็นโอกาสและสร้างความแตกต่างให้กับผู้ใช้รวมถึงลูกค้าของคุณ
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า